'อีคอมเมิร์ซ' ข้ามแดน ทางรอดบริษัทจีน

'อีคอมเมิร์ซ' ข้ามแดน ทางรอดบริษัทจีน

ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าและสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) บริษัทจีนจำนวนหนึ่งกำลังสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจใหม่ผ่านการชอปปิงออนไลน์ 

ขณะที่อีคอมเมิร์ซจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง อเมซอน และ อาลีบาบา ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนสมัยใหม่ทั่วโลกไปแล้ว แต่การช้อปปิ้งออนไลน์ยังเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของยอดค้าปลีกในภาพรวม แม้แต่ในจีนประเทศที่การจัดส่งกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคนเมือง  แต่ยอดขายออนไลน์ของสินค้าที่จับต้องได้ ยังคงเป็นเพียงหนึ่งในสี่ของยอดค้าปลีกโดยรวม

สัดส่วนการค้าในส่วนนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งในจีนและทั่วโลก  จึงมีธุรกิจจำนวนมากต้องการขายสินค้าไปยังผู้ซื้อโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แทนการส่งผ่านระบบกระจายสินค้าไปยังร้านค้าปลีกในรูปแบบดั้งเดิม

“การขนส่งสินค้าจากจีน ส่วนที่เป็นการค้าออนไลน์ข้ามประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  ช่วยบรรเทาแนวโน้มขาลงของการส่งออกจีนที่เป็นผลจากสงครามการค้า และความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ ได้ ประจักษ์พยานสำคัญถึงกระแสข้ามพรมแดนนี้เห็นได้จากจำนวนเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ เช่น อาลีเอ็กเพรส อาลีบาบาดอทคอมโกลบอลซอร์สดอทคอม และเว็บไซต์ขายของออนไลน์ที่ผุดขึ้นใหม่โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” สุเรส ดาไล  ผู้อำนวยการอาวุโสที่ บริษัทที่ปรึกษา “อัลวาเรซ แอนด์ มาร์แซล” เจาะลึกการดำเนินธุรกิจค้าปลีกในเอเชีย ระบุ

รายงาน e-Conomy SEA 2019 จัดทำขึ้นโดยกูเกิล เทมาเส็ก และเบนแอนด์คัมปานี ชี้ว่า เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต แค่เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากร 570 ล้านคน คาดว่ายอดขายสินค้าในตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ในภูมิภาคนี้ จะเพิ่มขึ้น 3 เท่า หรือมีมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2568 

การประเมินดังกล่าว มีขึ้นก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งช่วงหลังจากนั้นได้นิยมสั่งซื้อออนไลน์มากขึ้นในช่วงมีคำสั่งให้อยู่บ้าน

อียาล มอลโดวัน ผู้จัดการทั่วไป “เพย์โอเนียร์”  แพลตฟอร์มการชำระเงินข้ามแดน เผยว่า มูลค่าการจ่ายเงินช้อปปิ้งออนไลน์ในเดือน พ.ค. - มิ.ย. เพิ่มขึ้นสามเท่าจากปีที่แล้ว

“ปรากฏการณ์อีคอมเมิร์ซและการขายโดยตรงกำลังมา ตอนนี้คนจีนเป็นผู้ชนะในทุกเกม ไม่ว่าจะเป็นผู้ขายชาวจีนที่เปลี่ยนมาขายออนไลน์ได้ไว และคนที่ยังส่งสินค้าจำเป็นให้กับลูกค้าแล้วปรับทางเลือกให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อตามที่ตนต้องการ” มอลโดวันกล่าว  

วินเซนต์ หวาง รองประธานฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศของ มินิโซ ธุรกิจร้านค้าปลีกขายสินค้าในครัวเรือน กล่าวว่า ทางบริษัทมีแผนวางจำหน่ายสินค้าใหม่ 100 รายการทุกสัปดาห์ แม้ว่า บริษัทเปลี่ยนแปลงธุรกิจออนไลน์ไปมากหลังโควิดระบาด 

หลังจากโควิด-19 มินิโซวางแผนที่จะขยายธุรกิจรวมถึงการค้าออฟไลน์ หวาง เผยว่า บริษัทมีแผนหั่นราคาสินค้าลง 20 - 30% ผ่านการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยซัพพลายเออร์ส่วนใหญ่ของมินิโซ อยู่ในประเทศจีน เมื่อปลายปี 2562 มินิโซมีสาขามากกว่า 3,900 สาขา ในกว่า 70 ประเทศและภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

นอกจากนี้โรงงานจีนกำลังหาช่องขายสินค้าจากผู้ประกอบการถึงผู้บริโภคโดยตรง (บีทูซี)  บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ไม่ต้องผ่านตัวแทนค้าส่งที่ขายสินค้าไปยังลูกค้าอีกต่อหนึ่ง ผู้ซื้อสามารถซื้อสินค้ารูปแบบที่ตนต้องการได้ ส่วนโรงงานก็ผลิตสินค้าเท่าที่ลูกค้าสั่ง 

ยิ่งไปกว่านั้น ความไม่แน่นอนจากความตึงเครียดในสงครามการค้าสหรัฐ-จีน เป็นเครื่องผลักดันให้ธุรกิจจีนมองหาตลาดและแพลตฟอร์มที่แตกต่างออกไปด้วย 

เจิ้ง ชุยปิง ผู้จัดการบริษัทเครื่องผลิตกาแฟในกวางตุ้ง กล่าวว่า สภาพแวดล้อมการค้าระหว่างประเทศทำให้การค้าส่งแบบบีทูบี (ผู้ประกอบการสู่ผู้ประกอบการ) อยู่ยากขึ้น ขณะเดียวกัน เครือข่ายด้านโลจิสติกส์ทำให้ผู้ค้าเข้าถึงผู้ซื้อมากขึ้นกว่าเดิม โรงงานส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานการขายส่งแบบดั้งเดิมเพื่อความอยู่รอด “แต่บีทูซี ซึ่งเป็นตัวแบบการบริโภคแบบใหม่จะเติบโตต่อไป ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดสูงสุด” 

159628170674

เมื่อการขายสินค้าโดยตรงเพิ่มขึ้น ย่อมหนุนระบบโลจิสติกส์ด้วย ตัวอย่างเช่น ไฉ่เหนียว บริษัทขนส่งเครืออาลีบาบา กล่าวว่า  เถาเป่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา ได้เปิดตัวโครงการสเปเชียลเอดิชั่น เมื่อเดือน มี.ค. พุ่งเป้าหมายกลุ่มโรงงานผู้ผลิต ที่หลายแห่งคำสั่งซื้อต้องชะลอหรือยกเลิกไปผลจากโควิดระบาดทั่วโลก ช่วงแรกโครงการเน้นธุรกิจส่งออก ได้โรงงานจีน 3 แสนโรง และออร์เดอร์ 110 ล้านรายการ ถึงเดือนนี้มีโรงงานเข้าร่วมแล้วอย่างน้อย 1.2 ล้านแห่ง ยอดขายระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. เพิ่มขึ้น 6 เท่า

ช้อปปิ้งออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นช่วยหนุนความต้องการบริการขนส่งสินค้า ซึ่งงานบริการของไฉ่เหนียว คิดเป็น 4% ของรายได้รวมในช่วง 3 เดือนแรก แต่เป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วสุดธุรกิจหนึ่งถึง 28%เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ขณะที่ดีเอชแอลของเยอรมนี  แถลงเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ว่า กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 16% ในไตรมาสสองเมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ประมาณ 890 ล้านยูโร  รายงานของบริษัทระบุว่า ตั้งแต่สิ้นเดือนมี.ค. อีคอมเมิร์ซดันให้ปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ทั้งธุรกิจส่งสินค้าระหว่างประเทศและในเยอรมนีเอง 

ส่วนเอสเอฟ เอกซ์เพรส  บริษัทจัดส่งสินค้าของจีน เปิดเผยว่า ระหว่างเดือน มิ.ย. 62 - มิ.ย. 63 ปริมาณงานจัดส่งสินค้าสูงขึ้น 84.22% จาก 374 ล้านรายการ เป็น 689 ล้านรายการ