'องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน' กระตุ้น 'ชาวบ้าน' ร่วมตรวจสอบงบ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ลลบ.

'องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน' กระตุ้น 'ชาวบ้าน' ร่วมตรวจสอบงบ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ลลบ.

“องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน” เตรียมพัฒนาแอพพลิเคชั่น “COVID AI” เชื่อมโยงฐานข้อมูลเว็บไซต์ Thaime ให้ประชาชนรวมตรวจสอบใช้งบ พ.ร.ก.เงินกู้ พร้อมชำแหละทั้งก้อน 1.9 ล้านล้านบาท หวั่นเกิดทุจริตกลายเป็นปัญหาซ้ำเติมประเทศ

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) เปิดเผยในงานสัมมนาสาธารณะ ชำแหละเงินกู้ฟื้นฟูโควิด:ช่วยเศรษฐกิจ หรือ เป็นพิษกับประชาชน จัดโดยหลักสูตรบริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกรจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(บสก.)รุ่นที่ 9

โดยระบุว่า องค์กรฯ มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ซึ่งจากวิกฤตโควิด-19 ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาหลายด้านทั้งธุรกิจเลิกจ้าง คนตกงาน และถูกลดเงินเดือน เป็นต้น ฉะนั้นทุกคนคาดหวังว่า เมื่อมี พ.ร.ก.เงินกู้ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท จะเข้ามาช่วยเยียวยาฟื้นฟูได้ แต่ถ้าปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นจะกลายเป็นปัญหาที่ซ้ำเติมประเทศหนักยิ่งขึ้น เพราะหากดูจากการอัดฉีดเม็ดเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจในอดีต ก็มักจะมีเรื่องของการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้องหมด และการกู้เงินครั้งนี้สำหรับฟื้นเศรษฐกิจถึง 4 แสนล้านบาท มากกว่าตอนโครงการไทยเข้มแข็งที่ใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาท จึงไม่ควรไว้ใจว่าจะไม่มีเรื่องทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้อง

159627509521

โดยมีจากข้อมูลของ ปปช. ล่าสุด เดือน 3 เม.ย.-30 พ.ค.63 พบว่า มีคดีร้องเรียน 1,300 เรื่อง เป็นความเสี่ยงการทุจริต 974 เรื่อง หรือคิดเป็น 75% ของคดี ซึ่งจะเห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ประเทศเผชิญสถานการณ์โควิด และต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

อีกทั้ง ในยุค คสช.ที่ถือว่าเป็นยุคของการรวบอำนาจไว้ได้ ก็ยังไม่สามารถควบคุมเรื่องของการทุจริตการอัดฉีดเงินในช่วงเวลานั้นได้ และในช่วงเวลานี้ ที่ใกล้การเลือกตั้งท้องถิ่น ที่มีการต่อรองเรื่องของผลประโยชน์ การจะดึงงบประมาณไปเป็นประโยชน์ทางการเมืองจะมีกลไกป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดการรั่วไหล

ทั้งนี้ ในส่วนขององค์กรฯ จะเข้าไปตรวจสอบเงินกู้ ทั้ง 1.9 ล้านล้านบาท ไม่ใช่แค่งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เพราะแม้แต่งบในส่วนของธนาคารเองก็มักจะมีเรื่องของการตั้งคถามว่าใครได้รับการจัดสรรก่อนและหลัง โดยคาดหวังว่า ต้องไม่มีการโกง หรือ โกงน้อยที่สุด

รวมถึง ยังเป็นที่ตั้งข้อสังเกตุว่า สมาชิกวุฒิสภา ได้เสนอแนะในสภาฯ ให้มีตัวแทนของภาคประชาชน สื่อมวลชน นักวิชาการ เข้าไปเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองฯด้วย แต่ปัจจุบัน ยังเป็นการตั้งคนนอกเข้าไปแบบหลวมๆ หรือแม้แต่การจัดตั้งคณะกรรมอิสระ ก็ดูเหมือนจะยังเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศไทย

ดังนั้น กลไกการตรวจสอบที่ดี ควรเปิดให้ชาวบ้านในท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วม โดยที่รัฐควรจะรณรงค์ให้ชาวบ้านรับรู้ข้อมูลการใช้งบ เช่น เว็บไซต์ http://thaime.nesdc.go.th/ ที่ เป็นข้อมูลสาธารณะ ประชาชนสามารถเข้าไปรวมตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม องค์กรฯ อยู่ระหว่างพัฒนาแอพพลิเคชั่น “COVID AI” ซึ่งจะดึงข้อมูลจากเว็บ thaime และข้อมูลเชิงพื้นที่อื่นๆ เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลให้ประชาชนเข้าไปสืบค้นข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือได้ คาดว่า จะเปิดตัวในเร็วๆนี้ ขณะเดียวกันระหว่างนี้ คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีได้รวมตัวกันกว่า 100 คน เพื่อจัดทำฐานข้อมูล ซึ่งเมื่อ ครม.อนุมัติโครงการใดแล้ว จะใช้เข้าไปช่วยคัดแยกหรือ กรองโครงการ ว่ามีความเสี่ยงทุจริตระดับไหน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ