'พิธา'แนะรบ.เร่งจัดกรอบพ.ร.ก.เงินกู้อีก6แสนล้านบาทเยียวยาแรงงานตกหล่น

'พิธา'แนะรบ.เร่งจัดกรอบพ.ร.ก.เงินกู้อีก6แสนล้านบาทเยียวยาแรงงานตกหล่น

“พิธา” แนะรัฐบาลกำหนดวัตถุประสงค์ใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ ใช้ชัดอุดช่องว่างสังคมและรูรั่วเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ป้องกันใช้งบประมาณซ้ำซ้อน เอื้อทุจริต เร่งจัดกรอบงบที่เหลืออีก 6 แสนล้านบาท รับมือระบาดรอบ2 เยียวยา แรงงานตกหล่น 28 ล้านคน วงเงิน 3 พันบาท

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และที่ปรึกษา กมธ.วิสามัญติดตามตรวจสอบงบประมาณ และมาตรการการแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด เปิดเผยในงานสัมมนาสาธารณะ ชำแหละเงินกู้ฟื้นฟูโควิด:ช่วยเศรษฐกิจ หรือ เป็นพิษกับประชาชน จัดโดยหลักสูตรบริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกรจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(บสก.)รุ่นที่ 9

ระบุว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ที่นำมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หรือ จะเป็นพิษกับประชาชนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถนำเงินที่เป็นหนี้สินมาเปลี่ยนให้เป็นทรัพย์สินได้อย่างไร หรือ ถ้าเป็นหนี้สินแล้วนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เกิดคอร์รัปชั่น ซ้ำซ้อนกับงบประมาณ ประจำปี 63 หรือ ปี64 ก็จะเป็นหนี้สินเพิ่ม จะยิ่งซ้ำเติมประชาชน

โดยสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นถือเป็นมหาวิกฤตที่ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมในประเทศไทยกว้างขึ้น และเกิดรูรั่วทางเศรษฐกิจลึกขึ้น ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการใช้เงินกู้ในครั้งนี้ต้องชัดเจน คือ 1.ถมรอยรั่วทางสังคม และ2. อุดรอยรั่วทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณ หากรวมงบ ปี63 และปี64 และพ.ร.ก.เงินกู้ จะมีงบประมาณคราบเกี่ยวออกมาถึง 8 ล้านล้านบาท หากรัฐบาลขบโจทย์นี้ไม่แตกก็จะเป็นงบประมาณที่ซ้ำซ้อน เอื้อต่อการทุจริตได้ง่าย ไม่ได้แก้ปัญหาของประชาชน

ส่วนการจะฟื้นฟูเยียวยาใครนั้น ก็จะต้องไปจัดลำดับเป็นรายพื้นที่ และรายธุรกิจ รายอุตสาหกรรม ซึ่งชัดเจนว่า ภาคการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบมากที่สุด อันดับต้นๆก็ไม่เขตกรุงเทพฯ เพราะเป็นเมืองหลวง และถัดไปในแถบภาคใต้ เช่น ภูเก็ต แต่จะเห็นว่าหลายโครงการที่เสนอขอใช้งบจำนวนมาก ไม่ได้เป็นจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว จึงไม่ตรงกับจุดประสงค์ในการฟื้นฟู เยียวยา ซึ่งไม่ได้หมายความว่า จังหวัดเหล่านั้น ไม่ควรได้รับงบ แต่ควรจะผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปกติ ที่ต้องมีการตรวจสอบในรัฐสภา เพราะ พอเป็น พ.ร.ก.เงินกู้ที่ไม่มีการตรวจ ไม่มีการชี้วัด จะเอื้อต่อการทุจริตได้พอสมควร

อีกทั้ง การฟื้นฟูเศรษฐกิจ อาจให้ความสำคัญกับกิจการ หรือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในแต่ละระยะด้วย

159627030348

อย่างไรก็ตาม หากดูจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ที่ใช้เงินไปแล้ว 4 แสนล้านบาท ยังเหลืออีก 6 แสนล้านบาท ในส่วนนี้ จะพลิกฟื้นสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากจัดสรรดังนี้ 1.วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เก็บไว้เยียวยาอีก 28 ล้านคน ที่ตกหล่นจากการช่วยเหลือของภาครัฐ หรือเยียวยาโควิด รอบ2 คนละ 3,000 บาท 3 เดือน

2.วงเงิน 2 แสนล้านบาท ช่วยเหลือSME พยุงการจ้างงานไม่เกิน 50% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 9,000 บาท ,การสนับสนุน บสย.ให้ค้ำประกันหนี้ SME ได้มากขึ้น และจัดมหกรรมจ้างงานใหม่

3.วงเงิน 1 แสนล้านบาท อุดหนุนการท่องเที่ยวตามจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง เป็นต้น 4.วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ช่วยให้เด็กกลุ่มเปราะบาง ยากจน 1.64 ล้านคนให้ได้เรียนต่อผ่านกองทุน กสศ.ได้คนละ 3 หมื่นบาท

และ 5. ปลดล็อค กติกาเข้มงวด ในโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่ยังไม่ได้ใช้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท เช่น ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าธนาคาร , NPL ก็กู้ได้ถ้าแผนธุรกิจดี เป็นต้น