ชง ครม.สัปดาห์นี้ อนุมัติ 160 โครงการ วงเงิน 800 ล้านบาท ขอใช้งบพ.ร.ก.เงินกู้

ชง ครม.สัปดาห์นี้ อนุมัติ 160 โครงการ วงเงิน 800 ล้านบาท ขอใช้งบพ.ร.ก.เงินกู้

คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จ่อชง ครม.สัปดาห์นี้ ไฟเขียว 160 โครงการ วงเงิน 800 ล้านบาท ยื่นของบ พ.ร.ก.เงินกู้ ฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น หลังอนุมัติงบแล้ว 3.7 หมื่นล้านบาท

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประธานอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการพิจารณาโครงการใน พ.ร.ก.เงินกู้ เปิดเผยในงานสัมมนาสาธารณะ ชำแหละเงินกู้ฟื้นฟูโควิด:ช่วยเศรษฐกิจ หรือ เป็นพิษกับประชาชน จัดโดยหลักสูตรบริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกรจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(บสก.)รุ่นที่ 9

ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวิกฤตที่หนักที่สุดหากเทียบกับวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะวิกฤตในรอบนี้ทุกประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบทั้ง ไม่ว่าจะเป็น จีน ยุโรป สหรัฐ เป็นต้น และยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด ขณะที่ไทยไม่สามารถพึ่งพาเศรษฐกิจจากนอกประเทศได้ทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ก็จำเป็นต้องหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งในช่วงเวลานั้น พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 บังคับใช้ช่วง มี.ค. ไม่ทันกับสถานการณ์ รัฐบาลก็ต้องใช้กลไกของกฎหมายที่มีอยู่ ทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อออกพ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งได้ออกทั้งหมด 3 ฉบับ แต่เป็นการกู้เงินจริงแค่ 1 ล้านล้านบาท ส่วนอีก 5 แสนล้านบาทเป็นวงเงินสำหรับช่วยเหลือSME และอีก 4 แสนล้านบาท เป็นวงเงินสำหรับรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ ซึ่งใช้สภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

โดยการได้จัดสรรวงเงินกู้ไว้ 3 ส่วน คือ ก้อนแรก วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท สำหรับดูแลด้านสาธารณะสุข แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ก้อนที่สอง วงเงิน 5.5 แสนล้านบาทสำหรับเยียวยาประชาชน จ่ายเงินโดยตรงให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งประเทศต่างๆก็ดำเนินการในลักษณะนี้ โดยการกู้เงินของไทย 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7-8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(GDP)ไทย ที่มีมูลค่า 16 ล้านล้านบาท ขณะที่ประเทศอื่นๆกู้เงินในสัดส่วนถึง 10% ฉะนั้นของไทยถือว่าเป็นระดับที่ไม่มากเกินไปและระมัดระวังเรื่องของดอกเบี้ยด้วย

ส่วนที่สาม วงเงิน 4 แสนล้านบาท สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น แยกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ 1.เพิ่มศักยภาพประเทศรองรับการเติบโตในอนาคต เช่น ทำเกษตรอุตสาหกรรม 2.เศรษฐกิจฐานราก เน้นเรื่องการจ้างงานในประเทศ ซึ่งวงเงินเหล่านี้จะมุ่งเน้นลงไปสู่ชุมชน 3.กระตุ้นการบริโภค เช่น เราเที่ยวด้วยกัน และ4.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน หรือ แหล่งน้ำ ซึ่งต้องตอบโจทย์ข้อ 1และข้อ2 ด้วย

สำหรับวงเงินล่าสุดที่ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติงบไปแล้วอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเกษตรเป็นหลัก การพัฒนาอุทยาน เป็นต้น ซึ่งการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯเมื่อวันที่ 31 ก.ค.63 ได้เห็นชอบโครงการระดับจังหวัดอีก 160 โครงการ วงเงิน 800 ล้านบาท กระจาย 58 จังหวัด คาดว่า จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในสัปดาห์นี้ โดยสาเหตุที่ยังไม่อนุมัติครบ 76 จังหวัด เนื่องจากบางโครงการไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ เช่น ลักษณะการจัดงานอีเว้นท์ 1-2 วันแล้วเลิกไป เป็นต้น