อย่าเพิกเฉยกับ 'ความอยุติธรรม'

อย่าเพิกเฉยกับ 'ความอยุติธรรม'

คดีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ คือ คดี “บอส อยู่วิทยา” ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ประกอบกับตำรวจยังไม่ทำความเห็นแย้ง สะท้อนถึงระบบยุติธรรมของไทยที่ดูผิดปกติ ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเพิกเฉยต่อความอยุติธรรมที่อยู่ตรงหน้า

คดี “บอส อยู่วิทยา” ยังคงเป็นประเด็นใหญ่สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมของไทย หลังมีข้อถกเถียงในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และตำรวจไม่ทำความเห็นแย้ง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทำให้หลายหน่วยงานต้องตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบคำสั่งของอัยการที่ทำให้นายวรยุทธ อยู่วิทยา รอดพ้นทุกข้อกล่าวหา คดีนี้ "ทำลายความศรัทธา" ของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมไทยแบบพังทลายไม่เหลืออะไรเลย แม้จะมีความพยายามตั้งคณะทำงานเพื่อค้นหาข้อเท็จจริง แต่ก็ดูเหมือนเป็นความพยายามที่ไม่มากพอ 

ขณะที่ความคืบหน้าของคดีนี้ "อรรถพล ใหญ่สว่าง" ประธานคณะกรรมการอัยการ ให้สัมภาษณ์เครือเนชั่น ถึงบทบาทของคณะกรรมการอัยการว่า ได้ทำหนังสือส่งถึงอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563 เพื่อให้คำแนะนำแนวทางแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เชื่อได้ว่าคณะทำงานชุดนี้จะตรวจสอบข้อเท็จจริงจนเป็นที่กระจ่าง ในข้อเสนอที่ 1.ระบุว่าสำนักงานอัยการสูงสุด ควรตรวจสอบการดำเนินคดี สำนวนคดีดังกล่าวทุกขั้นตอน ไม่เฉพาะของอัยการ ทั้งอำนาจหน้าที่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถยืนยันความถูกต้องตามกฎหมายและหลักนิติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ โดยให้แล้วเสร็จ เร็วที่สุด

ข้อเสนอที่ 2.ระหว่างดำเนินการตามข้อ 1 ควรมีกลไกที่เหมาะสม อธิบายทำความเข้าใจสาธารณชนทุกระยะเพื่อป้องกันการสื่อสาร เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง และ3.ควรแถลงผลการตรวจสอบตามข้อ 1 พร้อมข้อมูลหลักฐานทั้งหมดเท่าที่จะเปิดเผยได้ เพื่อให้สังคมคลายความข้องใจ ถึงการปฏิบัติหน้าที่พนักงานอัยการ รวมทั้งการแก้ไขทันทีกรณีหากพบปัญหา หรือข้อคลาดเคลื่อน ในขั้นตอนใดเกี่ยวกับการสั่งคดี สำหรับกระบวนการตรวจสอบการสั่งคดีของรองอัยการสูงสุด ที่ถูกสังคมตั้งคำถาม

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การใช้ดุลพินิจว่า มีความรอบคอบรัดกุมมากพอหรือไม่ หากไม่รอบคอบ ไม่รัดกุม ทำให้การสั่งคดีเกิดความเสียหาย ก็ต้องถือว่ามีความผิด ส่วนจะผิดระดับไหน ก็ค่อยว่ากันเมื่อผลออกมา หากคณะทำงานฯ สรุปว่ามีการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้อง อัยการสูงสุดก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการอัยการ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยยืนยันว่า กระบวนการตรวจสอบภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการอัยการ ถือเป็นระบบที่เชื่อถือได้ และเคยสอบสวนลงโทษข้าราชการอัยการที่กระทำผิดวินัยมาแล้ว

คดีของ บอส อยู่วิทยา กลายเป็นอีกหนึ่งคดี ที่ตอกย้ำซ้ำๆ ว่า ระบบยุติธรรมบ้านเรา "ผิดปกติ" ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง “เพิกเฉย” ต่อความอยุติธรรมที่อยู่ตรงหน้า ไม่ใช่แค่คดีของบอส หลายครั้งที่เราเห็นคนที่กระทำความผิด แล้วไม่ได้รับการลงโทษ เราเห็นนักการเมืองที่โกงกิน แต่ยังคงเดินลอยหน้าทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องปกติ (ที่ไม่ปกติ) เราไม่อยากเห็นระบบยุติธรรม ที่เป็นหนึ่งใน 3 ของอำนาจการบริหารประเทศ กลายเป็นระบบฟอกขาวให้คนที่ควรได้รับโทษจากการกระทำความผิด กลายเป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดที่ยังใช้ชีวิตเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น...เราต้องไม่เพิกเฉยกับความอยุติธรรมเหล่านี้