เปิดทักษะ 'โค้ช' ยุคโควิด เห็นอนาคต-โอกาสธุรกิจใหม่

เปิดทักษะ 'โค้ช' ยุคโควิด เห็นอนาคต-โอกาสธุรกิจใหม่

เอสเอ็มอีกว่า1.33 ล้านราย คิดเป็น44%ของเอสเอ็มอีทั้งหมดได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดแม้สถานการณ์จะมีแนวโน้มคลี่คลาย แต่ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากดิจิทัลดิสรัปชั่น จึงต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันด้วย“โค้ชมืออาชีพ”ที่จะช่วยหาแนวทางฟื้นฟูกิจการตลอดจนการปรับโมเดล

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดแผนงานโครงการ Train the Coach ปีที่ 3 พัฒนาทักษะโค้ชให้มีขีดความสามารถที่จะแก้ปัญหาและตอบสนองแนวทางการพัฒนาเอสเอ็มอีในยุคหลังโควิด-19 พร้อมทั้งแนะนำบริการใหม่ “เอสเอ็มอีโค้ชชิ่งออนไลน์” ผ่าน thesmecoach.com สอดรับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม

เน้นออนไลน์-วิเคราะห์อนาคต

ธนันธน์ อภิวันทนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจต่างประเทศและการตลาด สสว.กล่าวว่า เอสเอ็มอีโค้ชที่ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนกับ สสว.มีอยู่ 3,502 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากหน่วยงานต่างๆ ทำหน้าที่เป็นโค้ชสายกลยุทธ์ธุรกิจและโค้ชสายเทคโนโลยี ในจำนวนนี้มีศักยภาพความพร้อมให้บริการผ่านระบบออนไลน์ประมาณ 160 คน

ปี 2563 มีเอสเอ็มอีเข้ารับคำปรึกษาแนะนำทั้งระดับเบื้องต้นและเชิงลึกจากโค้ช 425 ราย ซึ่งเกือบครึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนปัญหาที่ต้องการให้ช่วย 5 ลำดับต้นๆ ได้แก่ การพัฒนากลยุทธ์การตลาดออฟไลน์และออนไลน์ การพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ

159620626181

ธนันธน์ กล่าวอีกว่า Train the Coach เป็นโครงการพัฒนาโค้ชให้มีทักษะความสามารถเพื่อเข้าไปช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยปีที่ 3 ของโครงการฯ ซึ่งเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ซับซ้อนขึ้น

เอสเอ็มอีโค้ชยุคหลังโควิด-19 จึงต้องมี 3 ทักษะหลักในธีม S.O.S.ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่จะนำมาบูรณาการร่วมกันเพื่อช่วยพัฒนาเอสเอ็มอี ประกอบด้วย Smart technology, Oppertunity การมองหาโอกาสใหม่ๆ และ Social commerce

ดังนั้น เนื้อหาการอบรมในหลักสูตรปีที่ 3 นี้ จะเน้นทักษะความรู้เรื่อง “ธุรกิจตัวเบา” และการคาดการณ์ปัญหาหรือแนวโน้มที่จะเกิดในอนาคต พร้อมทั้งสามารถวิเคราะห์หาโอกาสสร้างธุรกิจได้จากสถานการณ์นั้น เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำกับเอสเอ็มอี ขณะเดียวกันโค้ชยังต้องมีความรู้ความเข้าใจด้าน “สมาร์ท เทคโนโลยี” ที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน

“เอสเอ็มอีโค้ชต้องเรียนรู้ในเรื่องการมองหาโอกาสใหม่ๆ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือโซเชียลคอมเมิร์ซ เราไม่ได้สอนให้พึ่งพิงแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์รายใหญ่ต่างๆ แต่สอนให้สามารถพึ่งพาพลังโซเชียลมีเดียที่มีในมืออย่างไลน์ อินสตาแกรมและเฟซบุ๊ค”

นอกจากนี้ การทำงานของเอสเอ็มอีโค้ชยังมีกรอบเรื่องของดิจิทัลดิสรัปชั่น ทำให้องค์ความรู้เดิมๆไม่เพียงพอ หลักสูตรปีนี้จึงสกัดและรวบรวมองค์ความรู้ของต่างประเทศทั้งจาก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และ MIT Sloan School of Management เป็นคณะวิชาธุรกิจของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มาถ่ายทอดด้วย

ยกตัวอย่างการมองเห็นโอกาสใหม่ที่แตกต่าง (Oppertunity) ในคอร์สอบรมเอสเอ็มอีทำการซื้อขายออนไลน์ ส่วนใหญ่คิดหาสินค้าที่จะนำเสนอขาย แต่มีคนหนึ่งมองเห็นโอกาสที่แตกต่างด้วยการเสนอขายอุปกรณ์ที่สนับสนุนการค้าออนไลน์ อย่างกล่องกระดาษ กระดาษกาว กรรไกร เป็นต้น สามารถสร้างยอดขายเดือนละหลักล้านบาท

159620631166

3 แนวทางดูแลเอสเอ็มอี

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า สสว.ได้เตรียมแนวทางการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ไว้ 3 แนวทาง คือ การหาแหล่งเงินทุน การหาแนวทางลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เช่น อุดหนุนค่าตรวจทดสอบกรณีการส่งออก และการหาช่องทางการตลาด ซึ่งเดิมช่วงปกติสามารถเดินทางไปแมทชิ่งจับคู่ธุรกิจในงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ในสถานการณ์โรคระบาดนี้เดินทางไม่ได้จึงต้องเน้นการทำตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์

ส่วนมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ว่า ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางซึ่งไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อจากสถาบันการเงิน วงเงินงบประมาณ 50,000 ล้านบาท คาดว่าจะให้ความช่วยเหลือได้ จำนวน 765,000 ราย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

159620629391