กองทัพเรือ ปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง 2 ลำ ปฎิบัติภารกิจ

กองทัพเรือ จัดพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.114 และ เรือ ต.115 จำนวน 2 ลำ ลงน้ำ ใช้หลากหลายภารกิจ ทั้งถวายความปลอดภัย-ตรวจการณ์-ต่อต้านก่อการร้ายในทะเล-ช่วยประชาชน


พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.114 และเรือ ต.115 จำนวน 2 ลำ ลงน้ำ โดยมี นาวาเอกหญิง อุบลวรรณ รุดดิษฐ์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือ ณ อู่ต่อเรือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ

ทั้งนี้ กองทัพเรือมีความต้องการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน 2 ลำ จากอู่เรือภายในประเทศโดยใช้แบบ เรือ ต.111 เป็นแบบพื้นฐานสำหรับการจัดหา โดยปรับปรุงหรือพัฒนาระบบและส่วนประกอบให้สามารถรองรับความต้องการใช้งานทางด้านยุทธการที่เป็นปัจจุบัน เพื่อให้มีขีดความสามารถในการถวายความปลอดภัยแด่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ การลาดตระเวนตรวจการณ์ การคุ้มครองเรือประมงและเรือสินค้า การป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ การป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในทะเล การรักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ การบรรเทาสาธารณภัยและช่วยเหลือประชาชนในทะเลและชายฝั่ง โดยดำเนินโครงการระหว่างปีงบประมาณ 2561 - 2563 และได้ว่าจ้างให้ บริษัท มาร์ซัน เป็นผู้ดำเนินการ นับได้ว่าเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ โดยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.114 และ เรือ ต.115 จะเข้าประจำการในกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ ต่อไป

สำหรับขีดความสามารถปฏิบัติการรบ (Combat Capabilities) ของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.114 และเรือ ต.115 สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ระบบตรวจการณ์ของเรือสามารถตรวจจับ ติดตาม และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำ หยุดยั้ง ขัดขวาง เรือผิวน้ำ และป้องกันตนเองจากข้าศึกได้ ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ ปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่องในทะเลได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน และปฏิบัติงานได้สภาวะทะเลระดับ 5 (Sea State 5) เรือมีการทรงตัวและความคงทนทะเลที่ดี และยังสามารถสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ได้

คุณลักษณะทั่วไป มีความยาวตลอดลำ 36.00 เมตร ความกว้างของเรือ 7.60 เมตร ความลึกของเรือ 3.60 เมตร กินน้ำลึกตัวเรือ ไม่เกิน 1.75 เมตร ความเร็วสูงสุดที่ระวางขับน้ำเต็มที่ ไม่ต่ำกว่า 27.0 นอต ระยะปฏิบัติการ ไม่น้อยกว่า 1,200 ไมล์ทะเล กำลังพล ประจำเรือตามอัตรา 30+1+13 (ชปพ.นสร.) 44 นาย เครื่องจักร ที่สำคัญประกอบด้วย เครื่องจักรใหญ่ ตราอักษร CUMMINS 1,342KW (1,800bhp) 1,900rpm จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องกำหนดไฟฟ้า ขนาด 112KWe 380VAC, 3PH, 50HZ จำนวน 2 เครื่อง

อาวุธประจำเรือ อาวุธปืนหลัก ปืนกลขนาด 30 มม. ติดตั้งบริเวณหัวเรือ จำนวน 1 แท่น และอาวุธรอง ปืนกลขนาด 50 นิ้ว ติดตั้งบริเวณกราบเรือซ้ายขวา จำนวน 2 แท่น

สำหรับพิธีปล่อยเรือลงน้ำ มีมาตั้งแต่โบราณกาล เมื่อถึงเวลาปล่อยเรือเดินทะเลลงน้ำจะต้องทำพิธี เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือ ปัจจุบันพิธีปล่อยเรือลงน้ำแบบสากลให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธี โดยวิธีปล่อยขวดแชมเปญกระทบหัวเรือ การนี้ สืบเนื่องมาจากการดื่มอวยพรด้วยถ้วยเงิน เมื่อดื่มแล้วก็ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดกับหัวเรือแทน คราวหนึ่งสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือ แต่กลับไปถูกแขกที่มาในงานพิธีได้รับบาดเจ็บ จึงได้ใช้เชือกผูกคอขวดเสียก่อนเสมอ จนถึงปัจจุบันนี้พิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวี เฉพาะที่มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454 ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏ ได้แก่ เรือหลวง


เสือคำรณสินธุ์ ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2453 ณ อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับเรือหลวง ตัวเรือเป็นเหล็ก สร้างโดย กรมอู่ทหารเรือที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเป็นครั้งแรก คือ เรือหลวงสัตหีบ (ลำที่ 1) ซึ่งมี คุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยา จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2500