'การบินไทย' เคลียร์หนี้ค่าตั๋ว 6 พันล้าน เจรจามอบ voucher ถึงสิ้นปี 65

'การบินไทย' เคลียร์หนี้ค่าตั๋ว 6 พันล้าน เจรจามอบ voucher ถึงสิ้นปี 65

“ชาญศิลป์” เร่งเคลียร์เจ้าหนี้ตั๋วโดยสาร เล็งขอยืดหนี้ตั๋ว 6 พันล้านบาท ถึงปี 65 คาดใช้เวลา 3-5 ปีฟื้นฟูกิจการ

ศาลล้มละลายกลางมีกำหนดนัดได้สวนคำร้องฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) นัดแรก 17 ส.ค.2563 ซึ่งการบินไทยได้ทยอยเจรจาเจ้าหนี้ และล่าสุดได้ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 และมีการชี้แจงความคืบหน้าให้กับผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2563

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย เปิดเผยว่า หลังจากศาลล้มละลายกลางรับคำร้องฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา การบินไทยได้ให้ข้อมูลที่จำเป็นกับเจ้าหนี้ผ่านหลายช่องทาง เช่น ข้อความทางโทรศัพท์ จดหมายอิเลกทรอนิกส์ การประกาศหน้าเว็บไซต์ เพื่อให้เจ้าหนี้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและทั่วถึงครบถ้วน

ยืดหนี้ตั๋วโดยสารถึงปี65

แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า การบินไทยสรุปการเจรจากับเจ้าหนี้ 5 กลุ่ม ดังนี้

1.เจ้าหนี้เครื่องบิน เจรจาครบทั้งหมด 43 ราย

2.ธนาคารในประเทศและกระทรวงการคลัง เจรจาครบทั้งหมด 18 ราย

3.ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทสถาบัน 212 ราย และประชาชน 2,122 รายยังไม่ได้เจรจา ส่วนประเภทสหกรณ์เจรจาแล้ว 86 ราย จากทั้งหมด 115 ราย คิดเป็น 75%

4.ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วเครื่องบิน อยู่ระหว่างเจรจาเสนอ Travelling Voucher จนถึงสิ้นปี 2565 ครอบคลุมการซื้อตรงกับการบินไทยวงเงิน 2,700 ล้านบาท การซื้อผ่านเอเยนต์ไทย 800 ล้านบาท และการซื้อผ่านเอเย่นต์ของ IATA 2,540 ล้านบาท รวม 6,040 ล้านบาท 5.Royal Orchid Plus หรือผู้โดยสารที่สะสมไมล์ จะต่ออายุถึง ธ.ค.2563

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า เป้าหมายการปรับปรุงองค์กร ส่วนตัวมองว่าเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การปรับตัว ปรับทัศนคติและวิธีคิดของคนในองค์กร ซึ่งขณะนี้เป้าหมายนี้ดำเนินการได้ไม่ยากเพราะพนักงานการบินไทยพร้อมปรับตัว อีกทั้งการบินไทยมีจุดแข็งที่แข่งขันในตลาดได้ เช่น ครัวการบิน

นอกจากนี้ ช่วงที่การบินไทยหยุดทำการบินชั่วคราวยังให้บริการเที่ยวบินขนส่งต่อเนื่องเพื่อการส่งออกและนำเข้า โดยตั้งแต่เดือน มี.ค.–ก.ค.2563 ขนส่งสินค้า 18,165 ตัน ใน 903 เที่ยวบิน และจัดเที่ยวบินพิเศษนำคนไทยกลับประเทศ 5,488 คน จำนวน 46 เที่ยวบิน ในเส้นทางออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐ ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินโดนีเซีย ลาว เกาหลี ฮ่องกง ญี่ปุ่น

ส่วนรายได้จากการขนส่งสินค้าและจัดเที่ยวบินพิเศษในเดือน มี.ค.–ก.ค.2563 รวม 1,826 ล้านบาท และมีรายได้จากฝ่ายครัวการบินตั้งแต่เดือน มี.ค.-มิ.ย.2563 รวม 500 ล้านบาท จากการผลิตอาหารขึ้นเครื่องบินให้สายการบินลูกค้าและเที่ยวบินของการบินไทย 1.1 ล้านชุด และผลิตขนมและเบเกอรี่ของร้าน Puff & Pie กว่า 5.5 ล้านชิ้น