หุ้นแบงก์รูด4วันติดผวา‘หนี้เสีย’พุ่ง -ไร้ปัจจัยหนุน

หุ้นแบงก์รูด4วันติดผวา‘หนี้เสีย’พุ่ง  -ไร้ปัจจัยหนุน

หุ้นกลุ่มแบงก์ร่วง 4 วันติด รวมกว่า 6% นักวิเคราะห์ประเมินไร้ปัจจัยหนุน ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ส่อแววแย่ลง ด้าน “กสิกร” เตรียมขายหุ้นคืนช่วงเดือน ก.ย. นี้ ส่อแววขาดทุนหลังราคาหุ้นปัจจุบันต่ำกว่าต้นทุน 38%

ความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) ในช่วง 4 วันทำการที่ผ่าน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจาก 280.49 จุด มาต่ำสุดที่ 263.12 จุด หรือลดลง 6.2% ขณะที่ดัชนี SET ปรับตัวลดลงจาก 1,359.65 จุด มาแตะจุดต่ำสุดที่ 1,303.25 จุด ลดลง 4.1%

นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มแบงก์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 ออกมาต่ำกว่าคาด โดยหลักถูกกดดันจากการตั้งสำรองฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมต่อไปข้างหน้ายังขาดปัจจัยที่จะเข้ามาสนับสนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น นอกจากนี้ คุณภาพสินทรัพย์ของแบงก์แต่ละแห่งมีแนวโน้มจะแย่ลงไปอีก

“หลังจากหมดช่วงของมาตรการพักชำระหนี้มีแนวโน้มว่าคุณภาพสินทรัพย์ของแบงก์น่าจะแย่ลง และการงดจ่ายเงินปันผลครึ่งปีก็ทำให้ปัจจัยผลักดันราคาลดลงตามไปด้วย ขณะที่ภาวะตลาดโดยรวมในระยะนี้ก็ไม่ดีนัก”

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของกลุ่มแบงก์ในขณะนี้ปรับตัวลดลงมาซื้อขายในระดับ P/BV ประมาณ 0.4 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต (ประมาณ -3SD) เพราะฉะนั้นความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงแรงอาจจะไม่ได้มีมากนัก หากเริ่มเห็นคุณภาพสินทรัพย์และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ชัดเจน ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์น่าจะเริ่มดีขึ้น แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มแบงก์ต่ำกว่าตลาด เพราะความไม่แน่นอนยังค่อนข้างมาก

ด้าน บล.ทิสโก้ ระบุว่า จากผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 2/2563 มีประเด็นที่จะต้องจับตามองคือ ธนาคารแต่ละแห่งมีนโยบายการตั้งสำรองที่แตกต่างกัน แบ่งได้เป็นกลุ่มที่ตั้งสำรองล่วงหน้า เช่น บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กับกลุ่มที่ทยอยตั้งสำรองฯ เช่น บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และบมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) ทำให้ผลประกอบการมีแนวโน้มแตกต่างกันในครึ่งปีหลัง  

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือที่ผ่านมา มีสัดส่วน 40% ของสินเชื่อ (ส่วนใหญ่เป็น SME และรายย่อย) เข้าร่วม ซึ่งมีบางส่วนที่อาจกลายเป็น NPL โดยธนาคารเชื่อว่าจะมีสินเชื่อที่มีความเสี่ยงราว 30-40% ที่อาจกลายเป็น NPL ทั้งนี้ ตัวเลข NPL ต้องใช้เวลาในการเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดจากมาตรการช่วยเหลือของ ธปท. ทั้งการลดการชำระและการพักชำระ คาดว่าเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ได้แจ้งว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนภายใต้โครงการซื้อหุ้นคืน โดยจะเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระหว่างวันที่ 31 ส.ค. ถึงวันที่ 16 ก.ย.2563 ในจำนวน 23.932 ล้านหุ้น หรือ 1% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด สำหรับราคาเสนอขายหุ้นที่ซื้อคืนจะต้องไม่น้อยกว่าราคาปิดของหุ้นของธนาคารเฉลี่ย 5 วันทำการซื้อขายล่าสุดหักด้วยจำนวน 15% ของราคาปิดเฉลี่ยดังกล่าว

ทั้งนี้ ต้นทุนเฉลี่ยของการซื้อหุ้นคืนในช่วงต้นปีที่ผ่านมาของ KBANK อยู่ที่ราว 134 บาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อคืนรวม 3,207.96 ล้านบาท หากพิจารณาจากราคาปิดของ KBANK ณ 30 ก.ค.2563 อยู่ที่ 82.50 บาท และถ้าราคาหุ้นยังคงซื้อขายอยู่ในระดับนี้ จะทำให้การขายหุ้นคืนของ KBANK ขาดทุนราว 38% จากต้นทุนที่ซื้อเข้ามา

นายจงรัก รัตนเพียร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยผ่านเอกสารเผยแพร่ว่า การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนดังกล่าว ธนาคารจะพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคำนึงถึงการสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งหมายความรวมถึงภาวะตลาดหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ราคา และปริมาณการซื้อขายที่เหมาะสม

หากปัจจัยต่างๆ ไม่เอื้ออำนวย ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ธนาคารไม่สามารถจำหน่ายได้ ระดับเงินกองทุนของธนาคารก็ยังคงมีความแข็งแกร่งและเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันธนาคารมีระดับเงินกองทุน ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2563 อยู่ที่ 18.09% เป็นเงินกองทุนชั้นที่หนึ่งที่ 15.38% และมีสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (LDR) อยู่ที่ 92.15%