การบินไทย เผยเจรจาเจ้าหนี้ทิศทางบวก เตรียมนัดไต่สวนฟื้นฟูกิจการ 17 ส.ค.นี้

การบินไทย เผยเจรจาเจ้าหนี้ทิศทางบวก เตรียมนัดไต่สวนฟื้นฟูกิจการ 17 ส.ค.นี้

"ชาญศิลป์" เผยผลเจรจาเจ้าหนี้มีทิศทางดี พร้อมนัดไต่สวนฟื้นฟูกิจการ 17 ส.ค.นี้ ย้ำเดินหน้าธุรกิจเพิ่มรายได้ ดันนำเข้าและส่งออกสินค้า โชว์ผลประกอบการปี 62 รายได้รวม 1.84 แสนล้าน ลดลง 7.7%

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2563 วันนี้ (31 กรกฎาคม 2563) โดยระบุว่า กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น ตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ การบินไทย เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 มีความคืบหน้าของการดำเนินงาน คือ การบินไทยได้ให้ข้อมูล ที่จำเป็นแก่เจ้าหนี้ตามช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้อความทางโทรศัพท์ จดหมายอิเลกทรอนิกส์ การประกาศ บนหน้าเว็บไซต์ และการจัดทำสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เจ้าหนี้ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยอย่างถูกต้องและทั่วถึง

อีกทั้ง บริษัทฯ ได้พยายามดำเนินงานด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ ประการสำคัญ คือ การเจรจาหารือกับเจ้าหนี้หลายภาคส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่เจ้าหนี้เกี่ยวกับความจำเป็นในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และเจ้าหนี้มีความมั่นใจที่จะให้การสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยต่อไป ซึ่งการเจรจาหารือกับเจ้าหนี้นั้น เป็นไปในทิศทางที่ดี และการบินไทยได้รับการตอบรับ ในเชิงบวกจากเจ้าหนี้มาโดยตลอด นอกจากนี้ การบินไทยได้หารือร่วมกับหน่วยงานและองค์กรสำคัญต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจการบินของการบินไทย และได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากองค์กรดังกล่าวเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ กระบวนการยื่นขอรับชำระหนี้ที่จะเกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ การบินไทย ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนซึ่งรวมถึงกรมบังคับคดี เพื่อเตรียมความพร้อมในการ อำนวยความสะดวกแก่เจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ให้ได้มากที่สุด สำหรับการนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 นั้น การบินไทยได้เตรียมความพร้อมและดำเนินการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อนำเสนอต่อศาลล้มละลายกลางอย่างเต็มที่

ซึ่งในวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลาง จะพิจารณามีคำสั่งในประเด็นสำคัญเพียง 2 ประเด็นเท่านั้น กล่าวคือ การบินไทยสมควรได้รับการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และสมควรแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอให้เป็นผู้ทำแผนของการบินไทยหรือไม่ แต่ศาลจะยังไม่พิจารณาว่าเจ้าหนี้รายใดเป็นเจ้าหนี้ในจำนวนเท่าใด และจะได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมากน้อยเพียงใด ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และตั้งผู้ทำแผนเพื่อจัดทำแผนเสนอให้เจ้าหนี้ทั้งหลายพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่บริษัท การบินไทยฯ หยุดทำการบินชั่วคราว บริษัทฯ ยังคงให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการส่งออกและนำเข้าสินค้า และช่วยสนับสนุนการขนส่งผลิตผลทางการเกษตร ตั้งแต่เดือนมีนาคม - กรกฎาคม 2563 โดยขนส่งสินค้าจำนวน 18,165 ตัน ใน 903 เที่ยวบิน และจัดเที่ยวบินพิเศษนำคนไทยที่ตกค้างและอยากกลับบ้าน จำนวน 5,488 คน เพื่อมาพบครอบครัว จำนวน 46 เที่ยวบิน จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินโดนีเซีย ลาว เกาหลี ฮ่องกง ญี่ปุ่น โดยมีรายได้จากการขนส่งสินค้าและจัดเที่ยวบินพิเศษระหว่างเดือนมีนาคม - กรกฏาคม 2563 ประมาณ 1,826 ล้านบาท และบริษัทฯ ยังมีรายได้จากฝ่ายครัวการบินตั้งแต่เดือนมีนาคม - มิถุนายน 2563 ประมาณ 500 ล้านบาท จากการผลิตอาหารขึ้นเครื่องบินให้แก่สายการบินลูกค้า และของบริษัทฯ ประมาณ 1.1 ล้านชุด และผลิตขนมและเบเกอรี่ของร้าน Puff & Pie กว่า 5.5 ล้านชิ้น

สำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2562 ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นฯ รับทราบผลการดำเนินงานประจำปี 2562 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย มีรายได้ รวมทั้งสิ้น 184,046 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 15,454 ล้านบาท หรือ 7.7% รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าที่ลดลงรวม 15,767 ล้านบาท (8.6%) สำหรับค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,088 ล้านบาท (5.8%) สาเหตุหลักเกิดจากค่าน้ำมันที่ลดลง 5,421 ล้านบาท (9.0%) เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง 8.2% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมน้ำมันลดลงจากปีก่อน 6,580 ล้านบาท (4.6%) ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 12,424 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 3,366 ล้านบาท (37.2%)

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการประมาณการเงินตอบแทนความชอบในการทำงาน จำนวน 2,689 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้รับรู้ค่าชดเชยเพิ่มเติมตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 4) ที่กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปี ขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย จำนวน 400 วัน และมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน จำนวน 634 ล้านบาท

ขณะที่มีกำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 273 ล้านบาท และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 4,439 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 448 ล้านบาท (3.9%) โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 12,042 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.52 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.19 บาทต่อหุ้น (3.6%)

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์ รวมจำนวน 256,665 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวน 12,056 ล้านบาท (4.5%) มีหนี้สินรวม เท่ากับ 244,899 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวน 3,366 ล้านบาท (1.4%) และส่วนของ ผู้ถือหุ้นมีจำนวน 11,766 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวน 8,690 ล้านบาท (42.5%)