สโลว์แฟชั่น ‘Folkcharm’ งานดีไซน์จากผ้าทอออร์แกนิก

สโลว์แฟชั่น ‘Folkcharm’ งานดีไซน์จากผ้าทอออร์แกนิก

เส้นทางคนสร้างแบรนด์เรียบๆ "FolkCharm" ไม่ได้เรียบ ดูดีเหมือนผลิตภัณฑ์ กว่าจะมีวันนี้ เธอผ่านความยากลำบากมาหลายเรื่อง แต่ไม่ละความพยายาม...

กว่า FolkCharm ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า กระเป๋า และของชำรวย ดีไซน์เรียบๆ ใส่สบาย สีพื้นๆ จากผ้าทอออร์แกนิกชุมชนในหมู่บ้าน จ.เลย จะกลายเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ลูกแก้ว–ภัสสร์วี ตปสนันทน์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ก็ต้องลงทั้งแรงกาย แรงใจ รวมถึงแรงสมอง ร่วมกับแม่บ้านในชุมชนพัฒนาผ้าฝ้ายให้มีคุณภาพดีที่สุด และออกแบบให้โดนใจคนทั้งโลก 

คำว่าดีที่สุด ก็ต้องใช้เวลา เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่คนสร้างแบรนด์จะไปสั่งโน้นสั่งนี่แล้วได้ดั่งใจ ทุกอย่างต้องเกิดจากความเข้าใจ รวมถึงการสร้างระบบที่เป็นธรรม ซึ่งเธอก็ต้องใช้เวลาเข้าๆ ออกๆ ชุมชนอยู่หลายปี 

เพราะสิ่งที่เธอทำ ไม่ใช่แค่ผ้าฝ้ายที่ปราศจากสารเคมี ยังรวมถึงการสร้างคุณค่าบนผืนผ้า เพื่อให้คนทั้งโลกรู้ว่า กว่าจะได้ผ้าทอสักผืน ต้องเริ่มตั้งแต่การปลูกฝ้าย ซึ่งปลูกได้ปีละครั้ง ปลูกก่อนฝนและเก็บหลังฝน ใช้เวลา 3-4 เดือน

“ผ้าจากชุมชนที่เรากล่าวถึง เราทำออกมาให้มีคุณภาพดีพอๆ กับผ้าจากต่างประเทศ ทำให้กระบวนการทำงานเยอะมาก” ลูกแก้ว เล่าถึงกระบวนการเนิบช้าในการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย ในงานป๋วยทอล์ค ครั้งที่ 6 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

159618709450 “กระบวนการผลิตฝ้าย เพื่อทอผ้าของเรา ไม่มีการตัดต้นไม้หรือซื้อวัตถุดิบจากที่อื่น  หลังจากทอออกมาแล้ว จะมีชื่อผ้าและชื่อคนทอ เราไม่อยากแค่บอกว่า ให้ช่วยๆ กันซื้อผลิตภัณฑ์ชาวบ้าน เราอยากสร้างเสริมคุณค่าซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังสร้างระบบความเป็นธรรม ให้โอกาสกัน และอยากเปลี่ยนความคิดผู้บริโภคที่คิดว่าของชุมชนต้องราคาถูก ”

ลูกแก้ว เล่าว่า ก่อนหน้านี้ก็เคยเป็นคนโลกสวย ไม่เข้าใจโลกภายนอก กระทั่งได้ไปอยู่และเห็นสังคมญี่ปุ่น เนื่องจากคุณพ่อรับราชการที่ญี่ปุ่น

“ตอนอยู่ญี่ปุ่น เราก็เห็นสภาพคนไร้บ้าน ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมคืออะไร เราก็หาข้อมูล ก็เห็นความเชื่อมโยงของปัญหา และคิดว่า น่าจะมีคนที่ทำอะไรตรงนั้น ทั้งๆ ที่สิ่งที่เราเห็นก็ไม่ได้มีอะไรใหม่”

เหตุผลดังกล่าวทำให้ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เธอมีโอกาสไปเป็นอาสาสมัคร ทำงานองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงทำงานในองค์กรรัฐ และมีโอกาสไปเรียนต่อ สาขาการวางแผนพัฒนาภูมิภาคและชนบทที่ AIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย)

“ตอนนั้นโลกสวย ไม่เคยไปอยู่ต่างจังหวัด ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับชุมชน เราได้ไปเรียนรู้ ก็เข้าใจคำว่าความช่วยหลือไม่ใช่การเป็นอาสาสมัครครั้งเดียว หรือการบริจาคเงินให้พวกเขาแล้วชุมชนดีขึ้นเลย และไม่ใช่การทำงานแบบเอ็นจีโอ(องค์กรพัฒนาเอกชน) อีกแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้เงินจากต่างประเทศก็ไม่ค่อยมีแล้ว แล้วเราจะเอาเงินจากไหนเข้าไปสร้างชุมชน ” เธอตั้งคำถาม

159618733480 เธอเองก็โลกสวยอยู่ 5 ปี เพราะอยากช่วยชุมชน และการเป็นคนนอกชุมชน รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็คิดไปว่า ชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือจากเธอ 

“ตอนนั้นทุกอย่างในชุมชนสวยงาม อากาศดี กินดี ดินดี และคนที่จะเข้าไปในชุมชนก็โลกสวยกันทั้งนั้น ชาวบ้านชวนไปค้างที่บ้าน ทำอาหารให้กิน กระทั่งเราพบว่า ชุมชนก็มีทั้งพ่อค้าคนกลาง องค์กรรัฐที่เข้ามา และองค์กรธุรกิจที่มีอยู่แล้ว เราต้องเข้าใจบริบท ตอนนั้นเราไม่เข้าใจวิถีชาวบ้าน การเป็นคนนอกเข้าไปในชุมชน ถ้าจะทำให้พวกเขาเชื่อใจ ต้องใช้เวลานานมาก 8 ปีกว่าพวกเขา่จะยอมรับเรา”

เธอได้พบว่า ชีวิตในชนบท ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด แรกๆ ที่เข้าไป ก็โดนต่อต้านจากคนกลางในชุมชนและคนในชุมชน เหมือนเราไปเปลี่ยนระบบใหม่ 

"ก็ใช้เวลานานกว่าพวกเขาจะเข้าใจ เราต้องหาสมดุลระหว่างการทำเงิน และการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องยาก”

ค่อยๆ เรียนรู้ และเปลี่ยนความคิดเรื่องการทำผ้าในชุมชน 

“สิ่งที่ไม่ควรทำคือ เข้าไปแล้ว เอาเงินไปซื้อผ้าที่ทำทั้งหมดจากชุมชน ทั้งๆ ที่ไม่ได้คุณภาพ จนเกิดปัญหา มีของเยอะมาก และไม่รู้จะทำยังไงกับมัน ส่วนสิ่งที่ควรทำก็คือ อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เข้าไปในชุมชนแบบสร้างเสริมคุณค่าซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การช่วยเหลือ แต่มีผลประโยชน์ชัดเจนร่วมกัน ทำให้พวกเขามีใจที่จะทำงานให้เรา นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้

และที่ลึกซี้งกว่านั้นคือ การเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายและชุมชน เวลามีปัญหาต้องคุยกัน ไม่ว่าเรื่องราคา ปัญหาผ้าที่ผลิตออกมา ต้องเอาคนมีประสบการณ์ พวกแม่ๆ ทั้งหลายมาคุยกัน ไม่ใช่เราคนเดียว เราเองก็พยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้าน ระหว่างอำเภอ ระหว่างรุุ่นต่อรุ่น”

นั่นคือ สิ่งที่เธอเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับชุมชน

“จริงๆ แล้วชาวบ้านชินกับความช่วยเหลือ องค์กรรัฐเข้ามาก็เอางบให้ส่วนหนึ่ง หลังจากนั้นคนในชุมชนก็ไม่อยากทำต่อ เพราะทำไปก็คิดว่าไม่ได้อะไร เสียเวลา เพราะพวกเขาคิดว่า ขายราคาถูกๆ ก็ขายได้ จึงเป็นแนวคิดย่ำอยู่กับที่”

เธอจึงต้องสร้างระบบให้ชัดเจน โดยการสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน 

“บอกไปเลยว่า ถ้าพวกแม่ๆ ทำผลิตภัณฑ์ออกมาไม่สวย ก็ไม่มีคนซื้อ ขายไม่ได้ เราก็ต้องใช้เวลาเพื่อให้พวกเขาเข้าใจมากขึ้น เพราะทำออกมาดี คนซื้อก็ได้ใช้ของที่ใส่สบาย  รู้สึกภูมิใจทึ่ได้ใช้ของสวยงามจากชุมชนไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย” 

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายที่เธอบุกเบิก ทำงานกับคนในพื้นที่และผู้หญิงในเมืองที่ทำหน้าที่ีตัดเย็บกว่า 50 คนซึ่งมีอายุเกิน 60 ปี

“ที่เรายังทำต่อไปเรื่อยๆ เพราะเห็นปัญหาชุมชน หลายครั้งพวกเขาไม่เห็นคุณค่าของผ้าที่พวกเขาทำ คนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจ พ่อค้าคนกลางไม่โปร่งใส ขาดการพัฒนา ไม่สามารถเข้าถึงตลาดที่เป็นธรรม เราก็ขอเป็นตัวเลือกในเรื่องนี้ "

     ................      

ดูรายละเอียดได้ที่เพจ Folkcharm

  159618711622