'พริมา มารีน' ดัน 3 ธุรกิจ รับผลบวกดีมานด์โตในบ้าน

'พริมา มารีน' ดัน 3 ธุรกิจ รับผลบวกดีมานด์โตในบ้าน

คลายล็อกเศรษฐกิจ หลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ! ส่งสัญญาณบวกครึ่งปีหลัง 2563 ผลักดันรายได้เติบโต 'วิริทธิ์พล จุไรสินธุ์' ซีเอฟโอ 'พริมา มารีน' เร่งโชว์พันธกิจเตรียมขยายกองเรือเพิ่ม 3 กลุ่ม 'เรือขนส่ง-กักเก็บปิโตรเลียม-ขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ'

เมื่อธุรกิจขนส่งในประเทศเริ่มฟื้นตัว ! จากการ 'ปลดล็อก' การเดินทาง บ่งชี้ผ่านปริมาณการใช้น้ำมันเริ่มกระเตื้อง... ส่งผลบวกให้กับ บมจ. พริมา มารีน หรือ PRM ผู้ให้บริการขนส่งและจัดเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทางเรือรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย สะท้อนผ่าน '3 ธุรกิจ' หลักที่มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 80% ที่ได้รับอานิสงส์บวกดังกล่าว... 

สอดคล้องกับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ของ PRM ที่มี 'กำไรสุทธิ' 266.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 240.50 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 1,505.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 1,188.70 ล้านบาท 

ณ ปัจจุบัน 'พริมา มารีน' แบ่งออกเป็น '4 กลุ่มธุรกิจ' ประกอบด้วย 1.ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมีเหลว (ธุรกิจเรือขนส่งฯ) กลุ่มบริษัทฯ ให้บริการขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลว (ผลิตภัณฑ์) แก่ลูกค้าที่ทำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่เพื่อขนส่งสินค้าไปสู่จุดหมายปลายทางที่ลูกค้ากำหนดเอาไว้ 

โดยบริษัทให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม การควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ฯ ตามที่ลูกค้ากำหนดโดยไม่ให้มีการปนเปื้อน และไม่ให้คุณสมบัติทางเคมีของผลิตภัณฑ์ฯ ที่ขนส่งเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการขนส่งที่ตรงต่อเวลา (Punctuality) อีกด้วย โดยธุรกิจเรือขนส่งฯ แบ่งเป็นธุรกิจเรือขนส่งฯ ในประเทศ และธุรกิจเรือขนส่งฯ ระหว่างประเทศ 

2.ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมัน (ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU) กลุ่มบริษัทให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบและน้ำมันเตาแบบลอยน้ำ (Floating Storage Unit, FSU) โดยใช้เรือที่มีถังจัดเก็บสินค้าขนาดใหญ่เป็นสถานที่จัดเก็บ ซึ่งกลุ่มบริษัทมีหน้าที่ในการเก็บรักษาสินค้าของลูกค้าให้ยังคงคุณภาพ คุณสมบัติ และปริมาณตามที่ลูกค้ากำหนดในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ และยังให้บริการผสมน้ำมัน (Blending) บนเรือตามชนิดน้ำมัน (Specification) ที่ลูกค้าต้องการเพื่อกระจายสินค้าต่อให้แก่ลูกค้ารายอื่นในภูมิภาค โดยเป็นไปตามกฎข้อบังคับของกฎหมาย

3.ธุรกิจเรือขนส่งทีให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (ธุรกิจเรือ Offshore) เป็นกลุ่มบริษัทให้บริการเรือสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทางกลางทะเล แก่ลูกค้า ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันกลางทะเลเป็นหลัก โดยกลุ่มธุรกิจที่ให้บริการ ได้แก่ ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบสำหรับแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Floating Storage and Offloading Unit, FSO) ธุรกิจเรือขนส่งและที่พักอาศัยสำหรับพนักงานประจำแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Accomodation Work Barge, AWB) เป็นต้น

และ 4.ธุรกิจบริหารจัดการเรือ (ธุรกิจบริหารเรือ) การบริหารจัดการเรือ เป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ โดยมีขอบเขตงานหลักประกอบด้วยการบังคับและการควบคุมการเดินเรือ การจัดหาคนประจำเรือ การจัดการฝึกอบรมและดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยของคนประจำเรือ การบำรุงรักษาตัวเรือ เครื่องยนต์ เครื่องมือและอุปกรณ์ การดำเนินการด้านใบอนุญาตและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ เป็นต้น

'วิริทธิ์พล จุไรสินธุ์' ผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี บมจ. พริมา มารีน หรือ PRM เล่าให้ฟังว่า แนวโน้มการดำเนินงานครึ่งปีหลัง บริษัทประเมินว่ายังมีทิศทางเป็น 'บวก' จากศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง พร้อมเก็บเกี่ยวรายได้จากการดำเนินงานอย่างเต็มที่

ด้วยขนาดกองเรือที่ให้บริการรวม 41 ลำ และมีแผนลงทุนเรือเพิ่มอีกจำนวน 2 ลำ แบ่งออกเป็น เรือขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศจำนวน 1 ลำ และเรือในกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันปิโตรเลียม (FSU) อีกจำนวน 1 ลำ ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาประจำการได้ภายในครึ่งปีหลังของปี 2563

อย่างไรก็ตาม การจัดหาเรือใหม่ดังกล่าวจะเป็นการขยายประสิทธิภาพในการให้บริการของกลุ่มเรือขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ และในกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งและกักเก็บฯ (FSU) จะเป็นการขยายการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการของการกักเก็บและผสมน้ำมันเตาที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น หลังจากที่ปัจจุบันมีเรือ FSU ให้บริการทั้งสิ้น 8 ลำ และมีอัตราการใช้บริการเต็ม 100%ขณะที่ไตรมาส 2 ปี 2563 คาดว่าผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรก

โดยมีปัจจัยมาจากกลุ่มธุรกิจหลักได้แก่ 'ธุรกิจเรือขนส่งและกักเก็บปิโตรเลียมทางทะเล หรือ FSU' ที่ยังทำผลงานได้อย่าง 'โดดเด่น' และสร้างการเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น และมีอัตราการใช้บริการเต็ม 100% ทั้ง 8 ลำ รวมถึงการทยอยปรับราคาค่าบริการกลุ่มเรือดังกล่าวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% ในไตรมาสนี้

ขณะที่ 'กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งภายในประเทศ' นั้น ในช่วงเดือนเม.ย. และพ.ค. ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่มีปริมาณความต้องการใช้ปิโตรเลียมภายในประเทศที่ 'ลดลง' โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน แต่ด้วยการบริหารจัดการที่มุ่งรักษาอัตราการใช้เรือให้อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้บริษัทสามารถบริหารจัดการและสามารถลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ดี 

ในขณะที่สถานการณ์เดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน หลังภาครัฐทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้มีปริมาณการใช้และขนส่งปิโตรเลียมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยดังกล่าว ประเมินว่าภาพรวมการดำเนินงานของบริษัทในครึ่งปีแรก จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

'เราเชื่อมั่นว่าภาพรวมการดำเนินงานในไตรมาส 2/2563 และในครึ่งปีแรกยังมีอัตราการเติบโตที่ดี ซึ่งจะสร้างผลการดำเนินงานที่ดีได้อย่างแน่นอน'

เขา บอกต่อว่า จากปัจจัยดังกล่าว บริษัทประเมินว่าภาพรวมผลการดำเนินงานจะมีการเติบโตที่ดี แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทจะไม่มีการขยายจำนวนเรือเพิ่มเติม แต่สามารถบริหารจัดการกองเรือที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับภาวะอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสามารถรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่  (COVID-19)  ได้เป็นอย่างดี 

โดยส่งผลให้อัตราการใช้เรือขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมไปถึงเรือขนส่งและกักเก็บฯ หรือ FSU อยู่ใน 'ระดับที่สูง'

'จึงคาดว่าภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2563 จะสามารถสร้างการเติบโตได้ในระดับ 10-15% ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน'

ท้ายสุด 'วิริทธิ์พล' ทิ้งท้ายไว้ว่า เชื่อว่าความต้องการใช้น้ำมันยังขยายตัว โดยในภูมิภาคนี้ปริมาณการใช้น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปยังมีอัตราการขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องในอนาคตหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย  

โบรกฯ จ่อปรับราคาใหม่ ! 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า มีโอกาสปรับประมาณการขึ้น คงคำแนะนำ 'ซื้อ' ใหม่ ราคาเหมาะสม 9.30 บาท โดยทิศทางผลกำไรที่คาดจะทำ 'สถิติใหม่' อีกครั้ง ! ในไตรมาส 2 ปี 2563 กำลังสะท้อนว่าในปี 2563 PRM มีแนวโน้มจะทำได้ดีกว่าที่มองไว้ราว 5-10% โดยจะทบทวนประมาณการอีกครั้งหลังแผนปรับกองเรือในครึ่งปีหลัง 2563 ได้ข้อสรุปชัดเจน 

ปัจจุบัน PRM ซื้อขายที่ P/E20F 17.7 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ที่ราว 18% ขณะที่EPS growthขยายตัวน่าพอใจ+24% ทำให้สถานะของ PRM ยังคง Undervalue 

โดยคาดว่า PRM จะทำกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2563 ได้ที่ 427 ล้านบาท ขยายตัว 60% จากไตรมาส 1 ปี 2563 และ 51% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จะทำได้ดีทุกบรรทัด รายได้คาดทะลุ 1,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสก่อน และ 27% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลักๆ มาจากการปรับราคาให้บริการกลุ่มเรือ FSU ขึ้นเฉลี่ย 20% ซึ่งด้วยความที่เป็นหน่วยงานที่ให้มาร์จินสูง และมีสัดส่วนรายได้กว่า 47% ของรายได้รวมและคาดจะส่งกำไรขั้นต้นเข้ามาถึง 69% ของภาพรวมไตรมาส 2 ปี 2563 (vs62% ไตรมาสก่อน และ 52% ในปี2562)

ทั้งนี้ คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะดีดขึ้นเป็น 37.8% จาก 33.3% ในไตรมาสก่อน และ 31.7% ในปี ก่อนอีกด้วย ซึ่งทิศทาง Margin expansionแบบนี้ จะพบในทุก ๆ อัตรากำไรของบริษัท โดยเฉพาะอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT margin) ที่จะขยายตัวแรงมากเป็น 44.0% จาก 34.6% ปี ก่อน อันเนื่องมาจากการได้ประโยชน์จากขนาด (Economies of scale)

อย่างไรก็ตาม หากประมาณการถูกต้องกำไรในครึ่งปีแรกจะคิดเป็น 56 % ของประมาณการทั้งปี ทำให้มีแนวโน้มว่าอาจต้องปรับประมาณการขึ้น อย่างไรก็ดีต้องพิจารณาถึงแผนการปรับกองเรือในครึ่งปีหลังด้วย ซึ่งในเบื้องต้นผู้บริหารเผยถึงแผนการจัดหาเรือ Domestic tanker 1 ลำ และเรือ FSU 1 ลำ แต่กำลังพิจารณาการปลดระวางเรือ FSO บางลำ โดยเราจะทบทวนประมาณการอีกครั้งหลังการประชุมนักวิเคราะห์ 

สำหรับ 'ความเสี่ยง' ปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ จะส่งผลต่อความ ต้องการกักเก็บน้ำมัน (เรือ FSU) ขณะที่อุปสงค์น้ำมันในภาคใต้ จะส่งผลต่อปริมาณขนส่งน้ำมันในประเทศ(เรือ Domestic Tanker)