'พริมา มารีน' ดัน 3 ธุรกิจ รับผลบวกดีมานด์โตในบ้าน

คลายล็อกเศรษฐกิจ หลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ! ส่งสัญญาณบวกครึ่งปีหลัง 2563 ผลักดันรายได้เติบโต 'วิริทธิ์พล จุไรสินธุ์' ซีเอฟโอ 'พริมา มารีน' เร่งโชว์พันธกิจเตรียมขยายกองเรือเพิ่ม 3 กลุ่ม 'เรือขนส่ง-กักเก็บปิโตรเลียม-ขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ'
เมื่อธุรกิจขนส่งในประเทศเริ่มฟื้นตัว ! จากการ 'ปลดล็อก' การเดินทาง บ่งชี้ผ่านปริมาณการใช้น้ำมันเริ่มกระเตื้อง... ส่งผลบวกให้กับ บมจ. พริมา มารีน หรือ PRM ผู้ให้บริการขนส่งและจัดเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทางเรือรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย สะท้อนผ่าน '3 ธุรกิจ' หลักที่มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 80% ที่ได้รับอานิสงส์บวกดังกล่าว...
สอดคล้องกับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ของ PRM ที่มี 'กำไรสุทธิ' 266.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 240.50 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 1,505.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 1,188.70 ล้านบาท
ณ ปัจจุบัน 'พริมา มารีน' แบ่งออกเป็น '4 กลุ่มธุรกิจ' ประกอบด้วย 1.ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมีเหลว (ธุรกิจเรือขนส่งฯ) กลุ่มบริษัทฯ ให้บริการขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลว (ผลิตภัณฑ์) แก่ลูกค้าที่ทำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่เพื่อขนส่งสินค้าไปสู่จุดหมายปลายทางที่ลูกค้ากำหนดเอาไว้
โดยบริษัทให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม การควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ฯ ตามที่ลูกค้ากำหนดโดยไม่ให้มีการปนเปื้อน และไม่ให้คุณสมบัติทางเคมีของผลิตภัณฑ์ฯ ที่ขนส่งเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการขนส่งที่ตรงต่อเวลา (Punctuality) อีกด้วย โดยธุรกิจเรือขนส่งฯ แบ่งเป็นธุรกิจเรือขนส่งฯ ในประเทศ และธุรกิจเรือขนส่งฯ ระหว่างประเทศ
2.ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมัน (ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU) กลุ่มบริษัทให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบและน้ำมันเตาแบบลอยน้ำ (Floating Storage Unit, FSU) โดยใช้เรือที่มีถังจัดเก็บสินค้าขนาดใหญ่เป็นสถานที่จัดเก็บ ซึ่งกลุ่มบริษัทมีหน้าที่ในการเก็บรักษาสินค้าของลูกค้าให้ยังคงคุณภาพ คุณสมบัติ และปริมาณตามที่ลูกค้ากำหนดในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ และยังให้บริการผสมน้ำมัน (Blending) บนเรือตามชนิดน้ำมัน (Specification) ที่ลูกค้าต้องการเพื่อกระจายสินค้าต่อให้แก่ลูกค้ารายอื่นในภูมิภาค โดยเป็นไปตามกฎข้อบังคับของกฎหมาย
3.ธุรกิจเรือขนส่งทีให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (ธุรกิจเรือ Offshore) เป็นกลุ่มบริษัทให้บริการเรือสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทางกลางทะเล แก่ลูกค้า ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันกลางทะเลเป็นหลัก โดยกลุ่มธุรกิจที่ให้บริการ ได้แก่ ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบสำหรับแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Floating Storage and Offloading Unit, FSO) ธุรกิจเรือขนส่งและที่พักอาศัยสำหรับพนักงานประจำแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Accomodation Work Barge, AWB) เป็นต้น
และ 4.ธุรกิจบริหารจัดการเรือ (ธุรกิจบริหารเรือ) การบริหารจัดการเรือ เป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ โดยมีขอบเขตงานหลักประกอบด้วยการบังคับและการควบคุมการเดินเรือ การจัดหาคนประจำเรือ การจัดการฝึกอบรมและดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยของคนประจำเรือ การบำรุงรักษาตัวเรือ เครื่องยนต์ เครื่องมือและอุปกรณ์ การดำเนินการด้านใบอนุญาตและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ เป็นต้น
'วิริทธิ์พล จุไรสินธุ์' ผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี บมจ. พริมา มารีน หรือ PRM เล่าให้ฟังว่า แนวโน้มการดำเนินงานครึ่งปีหลัง บริษัทประเมินว่ายังมีทิศทางเป็น 'บวก' จากศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง พร้อมเก็บเกี่ยวรายได้จากการดำเนินงานอย่างเต็มที่
ด้วยขนาดกองเรือที่ให้บริการรวม 41 ลำ และมีแผนลงทุนเรือเพิ่มอีกจำนวน 2 ลำ แบ่งออกเป็น เรือขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศจำนวน 1 ลำ และเรือในกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันปิโตรเลียม (FSU) อีกจำนวน 1 ลำ ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาประจำการได้ภายในครึ่งปีหลังของปี 2563
อย่างไรก็ตาม การจัดหาเรือใหม่ดังกล่าวจะเป็นการขยายประสิทธิภาพในการให้บริการของกลุ่มเรือขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ และในกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งและกักเก็บฯ (FSU) จะเป็นการขยายการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการของการกักเก็บและผสมน้ำมันเตาที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น หลังจากที่ปัจจุบันมีเรือ FSU ให้บริการทั้งสิ้น 8 ลำ และมีอัตราการใช้บริการเต็ม 100%ขณะที่ไตรมาส 2 ปี 2563 คาดว่าผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรก
โดยมีปัจจัยมาจากกลุ่มธุรกิจหลักได้แก่ 'ธุรกิจเรือขนส่งและกักเก็บปิโตรเลียมทางทะเล หรือ FSU' ที่ยังทำผลงานได้อย่าง 'โดดเด่น' และสร้างการเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น และมีอัตราการใช้บริการเต็ม 100% ทั้ง 8 ลำ รวมถึงการทยอยปรับราคาค่าบริการกลุ่มเรือดังกล่าวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% ในไตรมาสนี้
ขณะที่ 'กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งภายในประเทศ' นั้น ในช่วงเดือนเม.ย. และพ.ค. ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่มีปริมาณความต้องการใช้ปิโตรเลียมภายในประเทศที่ 'ลดลง' โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน แต่ด้วยการบริหารจัดการที่มุ่งรักษาอัตราการใช้เรือให้อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้บริษัทสามารถบริหารจัดการและสามารถลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ดี
ในขณะที่สถานการณ์เดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน หลังภาครัฐทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้มีปริมาณการใช้และขนส่งปิโตรเลียมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยดังกล่าว ประเมินว่าภาพรวมการดำเนินงานของบริษัทในครึ่งปีแรก จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
'เราเชื่อมั่นว่าภาพรวมการดำเนินงานในไตรมาส 2/2563 และในครึ่งปีแรกยังมีอัตราการเติบโตที่ดี ซึ่งจะสร้างผลการดำเนินงานที่ดีได้อย่างแน่นอน'
เขา บอกต่อว่า จากปัจจัยดังกล่าว บริษัทประเมินว่าภาพรวมผลการดำเนินงานจะมีการเติบโตที่ดี แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทจะไม่มีการขยายจำนวนเรือเพิ่มเติม แต่สามารถบริหารจัดการกองเรือที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับภาวะอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสามารถรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ได้เป็นอย่างดี
โดยส่งผลให้อัตราการใช้เรือขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมไปถึงเรือขนส่งและกักเก็บฯ หรือ FSU อยู่ใน 'ระดับที่สูง'
'จึงคาดว่าภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2563 จะสามารถสร้างการเติบโตได้ในระดับ 10-15% ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน'
ท้ายสุด 'วิริทธิ์พล' ทิ้งท้ายไว้ว่า เชื่อว่าความต้องการใช้น้ำมันยังขยายตัว โดยในภูมิภาคนี้ปริมาณการใช้น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปยังมีอัตราการขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องในอนาคตหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
โบรกฯ จ่อปรับราคาใหม่ !
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า มีโอกาสปรับประมาณการขึ้น คงคำแนะนำ 'ซื้อ' ใหม่ ราคาเหมาะสม 9.30 บาท โดยทิศทางผลกำไรที่คาดจะทำ 'สถิติใหม่' อีกครั้ง ! ในไตรมาส 2 ปี 2563 กำลังสะท้อนว่าในปี 2563 PRM มีแนวโน้มจะทำได้ดีกว่าที่มองไว้ราว 5-10% โดยจะทบทวนประมาณการอีกครั้งหลังแผนปรับกองเรือในครึ่งปีหลัง 2563 ได้ข้อสรุปชัดเจน
ปัจจุบัน PRM ซื้อขายที่ P/E20F 17.7 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ที่ราว 18% ขณะที่EPS growthขยายตัวน่าพอใจ+24% ทำให้สถานะของ PRM ยังคง Undervalue
โดยคาดว่า PRM จะทำกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2563 ได้ที่ 427 ล้านบาท ขยายตัว 60% จากไตรมาส 1 ปี 2563 และ 51% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จะทำได้ดีทุกบรรทัด รายได้คาดทะลุ 1,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสก่อน และ 27% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลักๆ มาจากการปรับราคาให้บริการกลุ่มเรือ FSU ขึ้นเฉลี่ย 20% ซึ่งด้วยความที่เป็นหน่วยงานที่ให้มาร์จินสูง และมีสัดส่วนรายได้กว่า 47% ของรายได้รวมและคาดจะส่งกำไรขั้นต้นเข้ามาถึง 69% ของภาพรวมไตรมาส 2 ปี 2563 (vs62% ไตรมาสก่อน และ 52% ในปี2562)
ทั้งนี้ คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะดีดขึ้นเป็น 37.8% จาก 33.3% ในไตรมาสก่อน และ 31.7% ในปี ก่อนอีกด้วย ซึ่งทิศทาง Margin expansionแบบนี้ จะพบในทุก ๆ อัตรากำไรของบริษัท โดยเฉพาะอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT margin) ที่จะขยายตัวแรงมากเป็น 44.0% จาก 34.6% ปี ก่อน อันเนื่องมาจากการได้ประโยชน์จากขนาด (Economies of scale)
อย่างไรก็ตาม หากประมาณการถูกต้องกำไรในครึ่งปีแรกจะคิดเป็น 56 % ของประมาณการทั้งปี ทำให้มีแนวโน้มว่าอาจต้องปรับประมาณการขึ้น อย่างไรก็ดีต้องพิจารณาถึงแผนการปรับกองเรือในครึ่งปีหลังด้วย ซึ่งในเบื้องต้นผู้บริหารเผยถึงแผนการจัดหาเรือ Domestic tanker 1 ลำ และเรือ FSU 1 ลำ แต่กำลังพิจารณาการปลดระวางเรือ FSO บางลำ โดยเราจะทบทวนประมาณการอีกครั้งหลังการประชุมนักวิเคราะห์
สำหรับ 'ความเสี่ยง' ปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ จะส่งผลต่อความ ต้องการกักเก็บน้ำมัน (เรือ FSU) ขณะที่อุปสงค์น้ำมันในภาคใต้ จะส่งผลต่อปริมาณขนส่งน้ำมันในประเทศ(เรือ Domestic Tanker)
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ ลุ้นวันนี้! เงื่อนไขสำคัญ ลงทะเบียน www.เราชนะ.com รับเงินเยียวยาโควิดรอบใหม่
ครม.อนุมัติ 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา 3,500 บาท ลงทะเบียน 29 ม.ค.นี้
'เราชนะ' รับเงินเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือน กดเป็นเงินสดไม่ได้!
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'เราชนะ' สรุปใครได้ 3,500 บาท 2 เดือนบ้าง? ลงทะเบียนอย่างไร เช็คที่นี่!