'การท่าเรือ' ประกาศ 'กลุ่มพริมา' คว้างานแหลมฉบัง 2.1 หมื่นล้าน

'การท่าเรือ' ประกาศ 'กลุ่มพริมา' คว้างานแหลมฉบัง 2.1 หมื่นล้าน

"การท่าเรือฯ" ประกาศให้กิจการร่วมค้า "ซีเอ็นเอ็นซี" ของกลุ่มพริมามารีน ชนะประมูลงานก่อสร้างทางทะเลท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 งานที่ 1 มูลค่ากว่า 2.1 หมื่นล้านบาท

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ลงนามในประกาศวันที่ 31 ก.ค.2563 ที่ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ ที่ 3 ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างทางทะเล ด้วยวิธีประกอวราคาอิเล็กทรอนิกส์(e-bidding)

ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ ที่ 3 ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างทางทะเล ด้วยวิธีประกอวราคาอิเล็กทรอนิกส์(e-bidding) และเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการประกวดราคาจ้างประกอวราคาอิเล็กทรอนิกส์(e-bidding) เลขที่ ทลฉ.01/2563 ลงวันที่ 18 ก.พ.2563นั้น

งานขุดลอกหรืองานขุดลอกทางน้ำ จำนวน 1 งาน ผู้เสนอราคาที่ชนะการเสนอราคาได้แก่ กิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี โดยเสนอราคาต่ำสุดเป็นเงิน 21,320 ล้านบาท รวมภษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

สำหรับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ. พริมา มารีน บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) หลังจากนี้คาดว่าทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย จะดำเนินการเซ็นสัญญากับกลุ่ม CNNC ภายในเวลา 1 เดือน และคาดว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ภายในปลายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปีนับจากวันที่เซ็นสัญญากับการท่าเรือฯ

ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2534 ปัจจุบันมีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าผ่านท่าเรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีนโยบายเร่งพัฒนาโครงการ ทลฉ. ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ทีอียู.ต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียู.ต่อปี โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับรองรับเรือขนาดใหญ่ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) เพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานและการบริหารจัดการของ ทลฉ. ระยะที่ 3 ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในการเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้มีความสามารถในการรองรับการขนถ่ายด้วยเครื่องมือขนส่งสินค้าประเภทตู้สินค้าที่ทันสมัย
พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับสภาพสิ่งแวดล้อม (Green Port) เพื่อยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค พัฒนาระบบการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้ได้มาตรฐาน โดยใช้ระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) มาสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงการเป็นประตูการค้า (Gateway) สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าของประเทศ