มข.ใช้นวัตกรรม AI ดูแลสุขภาพ

มข.ใช้นวัตกรรม AI ดูแลสุขภาพ

มข.เพิ่มความเข้มแข็งทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยการใช้นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ด้านการดูแลสุขภาพ (AI for Healthcare) ผ่านเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เปิดเผยว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพและขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศระดับทวิภาคีและพหุภาคี : ปัญญาประดิษฐ์ด้านการดูแลสุขภาพ (AI for Healthcare) เพื่อความเป็นเลิศด้านการแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการแพทย์และสาธารณสุข

โดยการใช้นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดยมีคณาจารย์นักวิชาการจากคณะวิชาต่างๆ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด(Harvard University) และมหาวิทยาลัยเอ็ม ไอ ที (Massachusetts Institute of Technology) สถาบันภายในประเทศ และภาคเอกชน เข้าร่วมกิจกรรม

159617582844

ทั้งนี้ รูปแบบของกิจกรรมโครงการเป็นการบรรยายในหัวข้อหลักคือ ความสำคัญและประโยชน์ของปัญญาประดิษฐ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ขอบเขตการใช้งานของปัญญาประดิษฐ์ เช่น การตรวจคัดกรอง การสื่อสารระหว่างบุคลากรการแพทย์ หรือสถานบริการสุขภาพ และระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย การวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ การรักษาที่เจาะจงสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย การติดตามอาการผู้ป่วย

การส่งเสริมการใช้ยาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม การฟื้นฟูสุขภาพ การเชื่อมโยงกับการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data management and machine learning) ประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ MIT ในการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในสถานการณ์จริงของโลก แนวโน้มการใช้ปัญญาประดิษฐ์ใน 10 ปีข้างหน้า และ ข้อควรตระหนักด้านกฎหมาย จริยธรรม จรรยาบรรณในการนำปัญญาประดิษฐ์มาให้ในการดูแลสุขภาพ

รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวด้วยว่า เรื่องของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในทุกมิติ แต่สำหรับการประชุมในครั้งนี้เราเน้นในเรื่องของการดูแลสุขภาพหรือHealthcare ด้วยเหตุผลส่วนหนึ่งคือการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นกำลังดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ หรือ Medical Hub ที่กำลังมีการก่อสร้างอาคารและการขยายผลการดำเนินการ

159617582831

สำหรับในวงการแพทย์แล้วปัญญาประดิษฐ์มีความเกี่ยวข้องในหลายด้าน เช่นการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เรื่องของเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งการวินิจฉัยโรคที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย เช่นการอ่านชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา การอ่านฟิล์มเอ็กซ์เรย์ ด้วยปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถที่สูงในการตรวจสอบ ที่จะช่วยลดความผิดพลาดและแปลผลได้อย่างละเอียดแม่นยำ

นอกจากนี้ยังรวมถึง Machine Learning ที่เป็นหุ่นยนต์เครื่องมือช่วยทางการแพทย์ จะเห็นว่าปัญญาประดิษฐ์มีบทบาทมาก ดังนั้นการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นกำลังจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ หรือ Medical Hub จึงได้นำเอาเรื่องของ AI มาเป็นประเด็นสำคัญ รวมทั้งต่อไปเราจะมีหลักสูตรในระดับปริญญาโทในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์แพทย์ด้วย

159617582946

“มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความตั้งใจที่จะนำเรื่องปัญญาประดิษฐ์มาพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้ เกิดเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อจะทำให้เกิดประโยชน์และขยายผลเพื่อคนไทยทั้งประเทศต่อไป” รศ.นพ.ชาญชัย กล่าว