จัดการขยะอินทรีย์ แบบ‘ผักDone’

จัดการขยะอินทรีย์  แบบ‘ผักDone’

ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร เป็นอีกวิธีกำจัดขยะอินทรีย์ให้เกิดประโยชน์ โดยทำเป็นปุ๋ยหมัก หากไม่รู้กลุ่ม "ผักDone" ขอร่วมผลักดันให้โลกมีขยะน้อยลง

จะมีสักกี่ครอบครัวในบ้านเราที่ไม่โยนเศษอาหาร เศษผักผลไม้ลงถังขยะหน้าบ้าน แล้วรอรถเก็บขยะมาเก็บทีเดียว

สาเหตุที่ขยะอินทรีย์ถูกทิ้งๆ ขว้างๆ และบ่อยครั้งส่งกลิ่นเน่าเหม็นรบกวนเพื่อนบ้าน เพราะระบบการเก็บขยะ และพฤติกรรมของคนไทยนั่นเอง ทำให้ขยะทั้งหมดในบ้านเรา กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

ถ้าอย่างนั้น ลองมาดูทางเลือกในการจัดการขยะอินทรีย์ สามารถทำได้หลายแบบ...เป็นอาหารให้สุกร หรือจะนำมาทำปุ๋ยหมักให้ต้นไม้ก็ได้

และนี่คือ เรื่องราวคนกลุ่มเล็กๆ ผักDone ที่เสนอวิธีจัดการขยะอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

“จะปลูกพืชผักให้งาม ต้องปรุงดิน เราเองก็คิดต่อว่า จะมีวิธีไหนปรุงดินโดยไม่ต้องใช้เงิน ก็เลยไปเอาเศษอาหาร เปลือกผลไม้ เศษผักจากตลาด สามสิบกว่ากิโลมาหมักเป็นปุ๋ย โดยเอาน้ำยาทำความสะอาดที่ทำเองไปแลกกับขยะสด พอลงมือทำ ก็เข้าใจปัญหาขยะมากขึ้น ” มานิตา วิวัฒน์เศรษฐชัย ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มผักDone เล่า 

159625134535

หลังจากมานิตาเรียนจบปริญญาตรีและโท ทำงานมานานกว่าสี่ปี เธอก็อยากรู้ว่า คนเราจะพึ่งพิงตนเองได้แค่ไหน จึงลาออกจากงานประจำ

“ตอนนั้นมีพี่โจน จันได เป็นไอดอล เราอยากใช้ชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งพิงเงิน เราเป็นคนเมืองที่หาเงินเก่ง ใช้เงินเก่ง แต่ไม่มีทักษะชีวิต เวลาไปเดินป่า ไม่เคยรู้เลยว่า พืชชนิดนั้น ชนิดนี้ คืออะไร เพราะเราออกห่างจากธรรมชาติมาก”

เรื่องราวที่เธอเล่า คงไม่ต่างจากคนเมืองทั่วไปที่ไม่เคยรู้ว่า อาหารที่กินมาจากไหน 

เธอเล่าต่อว่า ตอนที่เรียนวิศวกรรมชีวการแพทย์ เพราะอยากหาทางรักษาคนที่เป็นโรคที่ไม่มีทางรักษา แต่พอเรียนไป รู้สึกว่า นัั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ถ้าจะแก้ ต้องเริ่มที่ต้นเหตุ แล้วจะทำให้คนสุขภาพดีได้อย่างไร 

“รู้สึกว่าโลกมันเพี๊ยน เราทำงานหาเงิน เพื่อผลิตสิ่งของบางอย่าง เหมือนเกษตรกรปลูกข้าว ปลูกเยอะๆ เพื่อเอาเงินมาซื้อผัก ซื้อหมู เราจึงลาออกมาลองใช้ชีวิต แรกๆ หาความรู้กับกลุ่มกสิกรรมธรรมชาติ และกลุ่มสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ตอนนั้นก็ฝันว่า อยากสร้างพื้นที่อาหาร ก่อนหน้านี้ทำงานเก็บเงินตั้งใจจะซื้อที่ดิน แต่มีพี่คนหนึ่งมีพื้นที่หนึ่งงานไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็เลยให้เราลองทำอะไรก็ได้”

กล้าที่่จะละทิ้งชีวิตมนุษย์เงินเดือน  ลองใช้ชีวิตบนผืนดินเล็กๆ ในการพึ่งพิงตนเอง และตั้งกลุ่ม ผักDone ผ่านมา 2-3 ปี โดยมีเพื่อนช่วยคิดและทำ

“จำได้ว่า ช่วงนั้นบริษัทที่เราทำงานด้วย ขาดทุนและเลย์ออฟพนักงาน เวลาไปทำงานรู้สึกไม่มีความหมาย ก็เลยคิดว่าเป็นโอกาสที่จะลาออก ซึ่งพ่อแม่ก็ไม่เคยห้าม แต่เราต้องหาเงินเลี้ยงตัวเอง แรกๆ พยายามทดลองปลูกอะไรที่เรากิน และลองขาย ทำสบู่และเพาะเห็ด ก็เจอปัญหาการแข่งขันทางการตลาดเหมือนเดิม”

เพราะมีความสนใจเรื่องอาหารปลอดภัย และแหล่งที่มาของอาหาร เมื่อลองทำในพื้นที่เล็กๆ เธอพบว่า สภาพดินนี่แหละ คือ ปัญหาในการปลูกพืชผัก

159617426118 เธอจึงหาทุนสนับสนุนจากโครงการปลูกเมือง ปลูกชีวิต ของสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ในเรื่องการจัดการขยะอินทรีย์ในชุมชน ตำบลคลองสี่่อ จ.ปทุมธานี โดยนำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ยหมัก ลดการส่งขยะไปสู่แหล่งฝังกลบ

“ถ้ามีการทิ้งขยะใกล้บ้านคุณ มันถูกต้องแล้วหรือ เรามองว่าทุกครัวเรือนจัดการขยะสดได้ตั้งแต่ต้นตอ โดยทำเป็นปุ๋ย ยิ่งหมักนานยิ่งดี เพราะปุ๋ยดีๆ ดินดีๆ สำหรับคนเมืองหายาก ถ้าอย่างนั้นหากมีพื้นที่ ลองเอาเศษผักผลไม้ เศษอาหารมากองรวมกับขี้วัว ใบไม้แห้ง นำจุลินทรีย์ที่หมักไว้มาใส่ ประมาณสองสามเดือนก็ได้ปุ๋ยหมัก เท่าที่เห็น เกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยเคมีมาก่อน พอเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ช่วงแรกๆ ผลผลิตยังไม่ดีนัก นานๆ เข้าจากปีเป็นสิบปี ผลผลิตงอกงามดีมาก”

โครงการผัก Done ของเธอ จัดตั้งขึ้นในลักษณะธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการขยะอินทรีย์ในครัวเรือนแบบง่ายๆ เน้นการให้ความรู้การทำปุ๋ยหมัก ทั้งแบบกลางแจ้ง และในพื้นที่จำกัด 

“คนไม่มีพื้นที่สามารถเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยหมัก โดยเอาเศษอาหาร ผักผลไม้มาหมักในถัง ถ้าเศษผักผลไม้ชิ้นใหญ่ไปให้หั่นเล็กๆ จะได้ย่อยสลายง่ายขึ้น นำมาหมักกับขี้วัว ใบไม้แห้ง และใส่จุลินทรีย์ ใส่ลงไปเรื่อยๆ อย่าให้มีน้ำ อย่าให้แฉะ เมื่อเต็มแล้ว ปล่อยให้ย่อยสลายภายในหนึ่งเดือน การหมักแบบนี้ไม่ใช้อากาศ 

ปกติใช้วิธีการหมักสามวิธีคือ ใช้อากาศ ,ไม่ใช้อากาศ และเติมสารในการย่อยสลายเพิ่ม วิธีหลังจะทำให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้เร็วขึ้น ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งได้ไอเดียมาจากอินเดีย โดยใช้เครื่องปั้นดินเผา ทำเป็นชั้นๆ นำขยะสดมาหมักเหมือนกัน  เพราะเครื่องปั้นดินเผาสามารถดูดซับความชื้นและกระจายความชื้นได้”

159625137118 “ปุ๋ยเหล่านี้ใช้ได้ดี สามารถย่อยสลายสารเคมี มีจุลินทรีย์จัดการแมลงที่เป็นศัตรูพืชผัก มีประโยชน์มหาศาล ลดขยะได้ด้วย และการสร้างพื้นที่อาหาร จำเป็นต้องมีดินดีๆ เป็นปัจจัยสำคัญ นำปุ๋ยหมักหนึ่งส่วน ผสมกับดินสามส่วน นำมาปลูกพืชได้ดี ถ้ามีพื้นที่ ในวัดหรือโรงเรียน แนะนำให้ทำปุ๋ยหมักเป็นกองๆ หรือทำในบ่อซีเมนต์ ในธรรมชาติมีจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายอยู่แล้ว "

เธอบอกว่า อยากเห็นคนไทยจัดการกับขยะอินทรีย์เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน 

"ในอินเดียมีรัฐหนึ่ง ยกเลิกการจัดการขยะทั้งหมด จึงเห็นคนเผาขยะเอง นำเศษอาหารมาทำปุ๋ย เวลาพวกเขาออกไปซื้อของ จะไม่เอาหีบห่อผลิตภัณฑ์เข้าบ้าน เราได้เห็นว่า ในความโหดร้ายมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น แต่ระบบขยะบ้านเรา เสียค่าจัดการถูกมาก“

..............................

กลุ่มผัก Done ดูรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊คผักDone