รื้อกระบวนการยุติธรรม อำนาจเต็มในมือนายกฯ

รื้อกระบวนการยุติธรรม อำนาจเต็มในมือนายกฯ

6 ปี ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ 1 ภารกิจที่กำหนดให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยยึดหลักนิติธรรมหรือการยึดกฎหมายเป็นใหญ่ แต่วันนี้กรณีของบอส อยู่วิทยา สะท้อนถึงความล้มเหลวการพิจารณาคดีค้างคาในกระบวนการยุติธรรมให้ถูกต้องเป็นธรรม

การที่อัยการสั่งไม่ฟ้องในคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ในขณะที่ตำรวจไม่ทำความเห็นแย้ง เป็นเหตุให้เกิดการวิจารณ์ในสังคมอย่างมากทั้งนักกฎหมาย นักวิชาการและประชาชน โดยเฉพาะการวิจารณ์ถึงกระบวนการยุติธรรมที่อาจถูกแทรกแซงจากกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียของคดี ซึ่งนำมาสู่ข้อเสนอในการปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรมที่กำลังเกิดภาวะความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน

พล.อ.ประยุทธ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ซึ่งเป็นการแต่งตั้งหลังจากคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการในคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา เป็นการแต่งตั้งหลังจากที่มีการวิจารณ์คดีนี้อย่างแพร่หลาย โดยให้เหตุผลการแต่งตั้งที่ระบุการเป็นคดีที่ประชาชนสนใจมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาหลายข้อหาและผู้ต้องหาหลบหนีการดำเนินคดี ซึ่งต่อมาบางคดีได้หมดอายุความ

การรัฐประหารวันที่ 27 พ.ค.2557 ที่นำมาสู่การบริหารประเทศที่ยาวต่อเนื่อง 6 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดให้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นอีก 1 ภารกิจของรัฐบาล คสช.ที่มีนโยบายด้านการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยการยึดหลักนิติธรรมหรือการยึดกฎหมายเป็นใหญ่ รวมทั้งได้ประกาศให้มีการพิจารณาคดีที่ค้างคาในกระบวนการยุติธรรมให้ถูกต้องเป็นธรรม และการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อปฏิรูปตำรวจที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่รัฐบาลหลังรัฐประหารได้สรุปไว้ คือ การปรับปรุงประมวลกฎหมายหลักของประเทศและกฎหมายที่ล้าสมัยไม่เป็นธรรม เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยใช้กลไกของหน่วยงานเดิมที่มีอยู่และระดมผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจเพื่อเป็นผู้เร่งดำเนินการ รวมไปถึงความพยายามในการจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ

คดีที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนดังกล่าวผ่านมาแล้ว 8 ปี นั่นหมายความว่าตลอดช่วงเวลาการดำเนินคดีส่วนใหญ่อยู่ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีนโยบายในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนถึงความล้มเหลวของการพิจารณาคดีที่ค้างคาในกระบวนการยุติธรรมให้ถูกต้องเป็นธรรม ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงไม่ควรยื้อเวลาในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อไปอีก เพราะอำนาจเต็มอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีที่จะดำเนินการเรื่องนี้ได้เต็มที่อยู่แล้ว