เทคโนโลยีในชีวิตจริง จับกระแส 5G เปลี่ยนโลก

เทคโนโลยีในชีวิตจริง จับกระแส 5G เปลี่ยนโลก

5G เป็นเทคโนโลยีเครือข่ายติดต่อสื่อสาร สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นความปรารถนาสูงสุดของรัฐบาลแต่ละประเทศ หวังใช้เป็นกลไกช่วงชิงความได้เปรียบ และต่อรองอำนาจทางเศรษฐกิจ

จีน หนึ่งในประเทศผู้นำเทคโนโลยี 5G เดินหน้าเต็มรูปแบบ ซึ่งเมื่อเดือน มิ.ย. ได้อนุมัติการออกใบอนุญาตเทคโนโลยีโครงข่าย 5G รอบแรกให้กับบริษัทไชน่า เทเลคอม บริษัทไชน่า โมบาย บริษัทไชน่า ยูนิคอม และบริษัทไชน่า บรอดคาสติ้ง เน็ตเวิร์ค หวังเริ่มต้นยุคอุตสาหกรรมสื่อสารใหม่ทั่วประเทศ

เหมี่ยว เหว่ย รมว.เอ็มไอไอทีของจีน เปิดเผยว่า เทคโนโลยี 5G จะสร้างโอกาสใหม่ๆ เชื่อมต่อทุกสรรพสิ่งทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน สังคม ธุรกิจ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การผลิต และสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน

โดยงานวิจัยสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจีน คาดว่า เทคโนโลยี 5G จะสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจมูลค่า 10.6 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 1.54 ล้านล้านดอลลาร์ และสร้างงานกว่า 8 ล้านตำแหน่งระหว่างปี 2563-2568

ในช่วงที่จีนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างหนัก ระบบ 5G มีบทบาทสำคัญหลายด้าน โดยหัวเว่ยร่วมกับ ZTE บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่จีน วางระบบโครงข่ายเพื่อให้คณะแพทย์ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์โทรเวชกรรม (Telemedicine) ระหว่างมณฑลหูเป่ย์ นครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน มณฑลกุ้ยโจว และมณฑลเจียงซี พร้อมกัน 10,000 คนแบบไม่สะดุด อีกทั้งใช้ 5G ยังใช้เพื่อรักษาพยาบาล การควบคุมเครื่องสแกน CT ทางไกลเพื่อสแกนปอดของผู้ป่วย อีกทั้งสถาบันวิจัยของอาลีบาบาได้ใช้เอไอช่วยวินิจฉัยโรค ตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) รายใหม่ 

นอกจากนี้ ยังได้เห็นการใช้หุ่นยนต์ 5G เสิร์ฟอาหาร เพื่อลดการสัมผัสระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ในช่วงระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐ จีน รัสเซีย อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ สเปน อินเดีย และยังมีการดัดแปลงหุ่นยนต์ให้ทำหน้าที่แทนมนุษย์ เช่น ผลิตอาหาร วัดชีพจร พ่นยาฆ่าเชื้อ และฉายแสงยูวี-ซีตามสถานที่ต่างๆ 

การพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นเพื่อรองรับ 5G ก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยสหภาพยุโรป (อียู) ยังคงรักษาความเป็นผู้นำในด้านความรู้และความเชี่ยวชาญ รวมถึงการสร้างตลาดใหม่พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อรองรับธุรกิจต่างๆ เช่น สมาร์ทซิตี้, อีเฮลท์, ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ, โปรแกรมการศึกษา และความบันเทิงออนไลน์

ขณะที่หลายประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ซึ่งถูกนำไปใช้งานหลากหลาย ทั้งภาคอุตสาหกรรม การผลิตแมคคาทรอนิกส์ (หุ่นยนต์ใช้ในการผลิต) การส่งขนส่งโลจิสติกส์ และธุรกิจการค้า แต่ที่เห็นแข่งขันกันมาก ก็ในวงการรถยนต์แห่งโลกอนาคต 

บริษัท Nokia ผู้ผลิตอุปกรณ์ซอฟต์แวร์ และวางโครงข่ายจากฟินแลนด์ เผยว่า ระบบอัจฉริยะเพื่อรองรับรถยนต์ขับเคลื่อนไร้คนขับที่เรียกว่า C-V2X ได้เปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว และอีกไม่นานจะสามารถใช้งานกับระบบ 5G ได้ภายในปี 2565 ขณะที่บรรดาค่ายรถยนต์ทั้งในยุโรป และสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นจีเอ็ม บีเอ็มดับเบิลยู ฟอร์ด โฟล์คสวาเกน วอลโว่ เดมเลอร์ ผู้ผลิตรถเมอร์เซเดส เบนซ์ ได้แข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับอย่างดุเดือด เพื่อก้าวสู่ความเป็นที่หนึ่ง

ส่วนจีนเริ่มนำร่องใช้รถยนต์ไร้คนขับในสภาพแวดล้อมจริง และได้เนรมิตเมือง อย่างนครหนานหนิง เป็นเงินกว่า 5,370 ล้านหยวน หรือประมาณ 766 ล้านดอลลาร์ สร้าง “ทางด่วนอัจฉริยะ” (Smart Highway) ที่สามารถรองรับยานยนต์ไร้คนขับ ด้วยความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประกอบด้วยถนน 6 เลน รวมถึงมีระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบสัญญาณจราจรอัจฉริยะ จุดพักรถ ด่านเก็บค่าผ่านทาง ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 

สหรัฐ อีกหนึ่งในประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีสุดล้ำ และมีความเสถียรมากที่สุด ได้พัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เจเนอเรชั่นใหม่ อย่างที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเยล ได้นำเสนอ การเรียนออนไลน์เป็นห้องเรียนเสมือนจริง หรือ เออาร์ (Augmented Reality) และวีอาร์ (Virtual Reality) ผ่านระบบ 5G พร้อมให้ใบปริญญากับผู้ที่สนใจ ซึ่งตอนนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก

นอกจากนี้ งานวีอาร์และเออาร์ยังใช้เพื่อแข่งขันเกม การดูกีฬาเสมือนจริง รวมถึงใช้กับธุรกิจค้าปลีก ซึ่งนักช้อปสามารถเลือกและทดลองสวมใส่เสื้อผ้าเหมือนอยู่ในร้าน แม้ว่าตอนนี้กำลังชอปปิงผ่านออนไลน์อยู่ก็ตาม ทั้งหมดนี้ มีประโยชน์ช่วยลดต้นทุน และเปิดประตูไปสู่ช่องทางการทำรายได้ใหม่ๆ 

PwC ของสหราชอาณาจักร คาดว่า เทคโนโลยีเออาร์ และวีอาร์ จะช่วยขับเคลื่อนจีพีดีโลกในปี 2573 ให้เติบโตถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยทุกกลุ่มอุตสาหกรรมจะหันมาใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นำโดยอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ และค้าปลีกมากขึ้น

จอห์น ทาเล แซนเบิร์ก หัวหน้าฝ่ายวิจัย เทเลนอร์ รีเสิร์ช ชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยี 5G ผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มารองรับอย่างธุรกิจสตรีมมิง ทีวี หลังจากที่ Netflix ของสหรัฐได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบความบันเทิงของผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง ผ่านรูปแบบสตรีมมิงทำให้ผู้ผลิตคอนเทนท์และเจ้าของแพลตฟอร์มรายอื่น อย่าง AppleTV+และDisney+ เข้ามาขอแชร์ส่วนแบ่งในตลาด 

ส่วนในประเทศจีน สงครามสตรีมมิงนั้นร้อนแรงมานานแล้ว โดยมีกลุ่มบริษัทที่เรียกกันว่า Big 3 ประกอบไปด้วย ไป่ตู้ (Baidu), อาลีบาบา (Alibaba) และ เทนเซนต์ (Tencent) หรือ B.A.T เป็นผู้เล่นหลัก ทั้ง 3 รายมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ในชื่อ อ้ายฉีอี้ (iQiyi), โยวคู่ (Youku), และ เทนเซนต์ วีดิโอ (Tencent Video)

นอกจากนี้ สัญญาณ 5G บนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ยังสร้างโอกาสให้กับธุรกิจโฆษณา และการตลาดออนไลน์ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญที่จะช่วยเสิร์ฟโฆษณาสินค้าให้ถึงมือลูกค้าได้ทุกที่ ทุกเวลา ปัจจุบันพบว่าคนทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 4,540 ล้านคน คิดเป็น 59% ของประชากรโลก 7,750 ล้านคน เมื่อแยกตามกลุ่มความสนใจจากบิ๊กดาต้า จะทำให้ทราบความต้องการ และสามารถทำการตลาด และโฆษณายิงตรงไปสู่คนที่สนใจได้ถูกกลุ่มเป้าหมาย มีโอกาสปิดการขายได้สูงสุดถึง 80% เลยทีเดียว