'สหกรณ์ออมทรัพย์' สำคัญแค่ไหน ดีอย่างไร โดยเฉพาะในวิกฤติ 'โควิด-19'

'สหกรณ์ออมทรัพย์' สำคัญแค่ไหน ดีอย่างไร โดยเฉพาะในวิกฤติ 'โควิด-19'

ส่องบทบาท "สหกรณ์ออมทรัพย์" ในไทยในปี 2563 โดยเฉพาะ "ข้อดี" ที่น่าสนใจ และ "ข้อควรระวัง" ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดอกเบี้ยต่ำ และความไม่แน่นอนรอบด้าน

คนที่ทำงานในหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรขนาดใหญ่ คงคุ้นเคยกับแหล่งเงินทุนใกล้ตัว อย่าง "สหกรณ์ออมทรัพย์" ประเภทต่างๆ ที่เป็นตัวช่วยในการสะสมเงินออม และเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ช่วยให้บริหารจัดการเงิน และเพิ่มสภาพคล่องมิติต่างๆ ได้แบบไม่ต้องไปถึงธนาคาร
  •  ที่มาของสหกรณ์ออมทรัพย์ 
"สหกรณ์ออมทรัพย์" คือ สถาบันการเงินแบบหนึ่งที่มีสมาชิกเป็นบุคคลซึ่งมีอาชีพอย่างเดียวกันหรือที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน มีจัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้สมาชิกมีแหล่งออมเงินที่มีผลตอบแทนเป็นการจูงใจ และเปิดให้สมาชิกสามารถกู้ยืมเงินได้เมื่อเกิดความจำเป็นตาม ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการง่ายๆ ที่จะเป็นแหล่งเงินทุนของตนเอง และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิก

สำหรับประเทศไทยมีสหกรณ์ออมทรัพย์ 2 ประเภท คือ สหกรณ์เครดิตยูเนียน (สหกรณ์ออมทรัพย์สำหรับสมาชิกที่ไม่มีรายได้ประจำ) และ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีรายได้ประจำ

การดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์มีหลักการพื้นฐานของเช่นเดียวกับสหกรณ์ทั่วไป คือการช่วยเหลือสมาชิก โดยใช้หลักของความเท่าเทียมและการมีผลประโยชน์ร่วมกัน สหกรณ์จะอยู่ได้เพราะสมาชิกซื่อสัตย์และมีการตรวจสอบเชื่อใจกัน สมาชิกแต่ละคนมีเสียงเพียงหนึ่งเสียงไม่ว่าจะถือหุ้นมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งต่างกับกรณีการถือหุ้นสถาบันการเงินที่สิทธิออกเสียงขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้น เมื่อสหกรณ์มีความมั่นคงมีผลประกอบการดีสมาชิกก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนกลับในรูปเงินปันผล

สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งแรกในประเทศไทย คือ "สหกรณ์ข้าราชการสหกรณ์ จำกัดสินใช้" จัดตั้งขึ้นในหมู่ข้าราชการสหกรณ์และพนักงานธนาคารเพื่อการสหกรณ์ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2492 และได้แพร่หลายไปในหน่วยงานของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ 

ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ในชุมชนแห่งแรก คือ "สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแม่มูล จำกัด" จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2522

  •  ความสำคัญของสหกรณ์ออมทรัพย์ ในยุควิกฤติ 

สหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน และยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินฝากและเงินกู้ของสมาชิก ช่วยให้มีสภาพคล่องในการดำเนินชีวิต และยังคงเป็นทางเลือกที่ช่วยแก้ปัญหาทางการเงินให้กับสมาชิก โดยเฉพาะในสภาวะที่ประสบปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ผู้มีรายได้น้อย หรือมีรายได้คงที่ หรือมีรายได้ทางเดียว มักจะได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่สามารถหารายได้เพิ่มให้เพียงพอกับรายจ่ายต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะแก้ไขปัญหาด้วยการกู้ยืมเงินจากนายทุนหรือกู้ยืมนอกระบบ โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูง จึงก่อให้เกิดหนี้สินผูกพัน และเกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและครอบครัวตามมา

สหกรณ์ออมทรัพย์ยังคงใช้โมเดลดอกเบี้ยเงินฝากที่ค่อนข้างสูง และปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ และถือเป็นตัวช่วยที่สำคัญของสมาชิกในการเพิ่มสภาพคล่อง และเก็บออมเงินที่หมุนเวียนจากสมาชิก

ตัวอย่าง เงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ของหน่วยงานภาครัฐอย่าง "สหกรณ์ออมทรัพย์ ข้าราชการสรรพากร" มีดอกเบี้ยออมทรัพย์เริ่มต้นที่ 1.50% ต่อปี ไม่เสียภาษี ไปจนถึง 3.00% ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้เริ่มต้น 4.25-6.00%

"สหกรณ์ออมทรัพย์ สภากาชาดไทย" มีดอกเบี้ยออมทรัพย์เริ่มต้นที่ 1.00% ต่อปี ไม่เสียภาษี ไปจนถึง 2.50% ตามเงื่อนไขที่สหกรณ์กำหนด ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทอยู่ที่ 6.00% 

ปัจจุบัน สหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย ในข้อมูลการจดทะเบียนสหกรณ์ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 63 ที่ยังไม่เริ่มดำเนินการ และกำลังดำเนินการอยู่ รวมทั้งสิ้น 1,420 สหกรณ์ และมีลักษณะการดำเนินงานในโมเดลการบริหารในรูปแบบที่คล้ายกัน 

159616558417

แม้สหกรณ์ออมทรัพย์ จะมีหลักการ และมีโมเดลที่เป็นประโยชน์ แต่ก็ยังมีการ "ทุจริต" เกิดขึ้นให้ได้ยินข่าวคราวกันอยู่บ่อยๆ โดยการทุจริตในสหกรณ์ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ 

บทความของ รศ.ชฎาพร ทีฆาอุตมากร อาจารย์ภาควิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตีพิมพ์ใน วารสารรามคำแหง ปีที่ 24 ฉบับที่ 3 (ก.ค.- ก.ย. 2550) ระบุถึงสาเหตุการทุจริตในสหกรณ์ 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้ 

1. การบริหารจัดการไม่ถูกต้อง คณะกรรมการสหกรณ์ ไม่แบ่งหน้าที่มอบหมายความรับผิดชอบงานให้แก่เจ้าหน้าที่ ให้ชัดเจน ที่สำคัญ ใช้บุคคลคนเดียวกันทำหน้าที่ทั้งการเงินและบัญชี

2. คณะกรรมการดำเนินการขาดความรับผิดชอบ ไม่เคร่งครัด/กำกับ/ควบคุมการทำงานของผู้จัดการ และ พนักงาน ให้ถูกต้องเป็นไประเบียบ ข้อบังคับ และ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ควรตรวจสอบการปฎิบัติงานของฝ่ายจัดการอยู่เสมอ

3. ผู้จัดการสหกรณ์ มีอำนาจ/สร้างบุญคุณ อยู่เหนือเจ้าหน้าที่ พนักงานต้องยอมร่วมมือทำตามความต้องการของผู้จัดการ กระทำการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก อยู่ภายใต้อำนาจให้คุณให้โทษ หรือ มีบุญคุณ เช่น ผู้จัดการช่วยค้ำประกันตอนเข้าทำงาน / ผู้จัดการเอาญาติพี่น้องเข้ามาทำงานในสหกรณ์ ฯลฯ

4. เจ้าหน้าที่สหกรณ์ ร่วมกันทุจริตเป็นคณะฯ พนักงานสหกรณ์สมรู้ร่วมคิดทำการทุจริต โดยผู้จัดการขาดประสิทธิภาพไม่สามารถรู้เท่าทันหรือกวดขันการทำงานให้ถูกต้องได้

อย่างไรก็ตาม หากสหกรณ์ออมทรัพย์ มีการบริหารจัดการที่ดี สมาชิกทำความเข้าใจกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการออมเงินและขอสินเชื่ออยู่เสมอ สหกรณ์ออมทรัพย์จะเป็นทางเลือกที่ดีในการบริหารจัดการเงินได้ดีแม้ในช่วงวิกฤติ

ที่มา: UpbeanCOOP COOP ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสระแก้ว