เจาะช่องทาง 'รื้อคดีบอส' อาจไม่รอดทุกข้อหา

เจาะช่องทาง 'รื้อคดีบอส' อาจไม่รอดทุกข้อหา

มีประเด็นข้อกฎหมาย ที่ยังถกเถียงกันว่า คดีขับรถโดยประมาทชนตำรวจตาย "วรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา" สิ้นสุดลงแล้วหรือยัง เพราะอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และตำรวจไม่ทำความเห็นแย้ง

ในเอกสารที่ตำรวจทองหล่อส่งถึงนายบอส เพื่อแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา ใช้คำว่า อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง และ ผบ.ตร.ไม่ได้ทำความเห็นแย้ง ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ คดีจะสิ้นสุดในส่วนของตำรวจและอัยการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 145 

 (ความจริงแล้ว เนื้อความตามกฎหมายไม่ได้ระบุว่า ต้องเป็นคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุดด้วยซ้ำ เพราะหากอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ย่อมถือเป็นที่สุด ไม่ต้องส่งกลับมาให้ตำรวจทำความเห็นอีก หรือโดยนัยนี้ก็คือ อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด กรณีที่ฝ่ายตำรวจทำความเห็นแย้งคำสั่งของอัยการ)

ป.วิอาญา เป็นกฎหมายที่ละเอียด และเป็นประเด็นเชิงเทคนิคสูงมาก มีแนวปฏิบัติที่ยึดถือต่อๆ กันมานานสำหรับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ขณะที่คนทั่วๆ ไป อ่านกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ยังมีข้อสงสัยว่า ตกลงคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง แล้วส่งให้ ผบ.ตร.พิจารณา (กฎหมายอนุญาตให้ ผบ.ตร. รองผบ.ตร. และผู้ช่วย ผบ.ตร.ทำความเห็นได้) หาก ผบ.ตร.ไม่ทำความเห็นแย้ง คดีสิ้นสุด 100% เลยหรือไม่

ถ้าสิ้นสุดแล้ว แนวทางที่จะรื้อคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ต้องทำอย่างไร โดยเฉพาะหากพบว่ากระบวนการรวบรวมพยานหลักฐาน หรือกระบวนการสั่งคดีกระทำโดยมิชอบ เช่น ใช้พยานเท็จ หรือเลือกฟังพยานหลักฐานแค่บางชุดที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายผู้ต้องหา

และกรณีที่อัยการ (ไม่ใช่อัยการสูงสุด) เปลี่ยนคำสั่งใหม่จากฟ้องเป็นไม่ฟ้อง ฝ่ายตำรวจไม่ทำความเห็นแย้งได้หรือไม่ เพราะขัดกับสำนวนเดิมที่ตำรวจทำไป พร้อมความเห็นสั่งฟ้อง

เจาะช่องทาง \'รื้อคดีบอส\' อาจไม่รอดทุกข้อหา

 

ประเด็นเหล่านี้ สื่อมวลชนพยายามสอบถาม นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด หนึ่งในคณะทำงาน 7 อรหันต์ เพื่อตรวจสอบการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา แต่ปรากฏว่านายประยุทธไม่ยอมตอบแบบฟันธง 

โดยบอกเพียงว่า ต้องรอคณะทำงาน 7 อรหันต์ตรวจสอบสำนวนการสอบสวนทั้งหมดก่อน แต่หากพิจารณาตามหลักของกฎหมาย ถ้าอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดไปแล้ว อัยการจะไม่สามารถสั่งฟ้องคดีได้อีก เว้นแต่มีพยานหลักฐานใหม่ในคดี หรือญาติของผู้เสียหายยื่นฟ้องต่อศาลเอง

จากคำชี้แจงของนายประยุทธ ทีมข่าวได้พยายามตรวจสอบประเด็นนี้กับนักกฎหมายอีกหลายคน ได้ข้อมูลว่า การแก้ “คำสั่งไม่ฟ้อง” ของอัยการในคดีของนายบอส สามารถทำได้ 3 แนวทางด้วยกัน

  1. พิจารณาตาม ป.วิอาญา มาตรา 145/1 ประกอบมาตรา 147คือตีความว่า คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ และฝ่ายตำรวจไม่ทำความเห็นแย้ง แปลว่าคดีสิ้นสุดในส่วนของตำรวจและอัยการ ถือเป็น “คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี” จึงห้ามมีการสอบสวนในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ พูดง่ายๆ ก็คือตำรวจต้องหาพยานหลักฐานใหม่ที่มีน้ำหนักมากพอ แล้วทำสำนวนเสนออัยการอีกรอบ

แต่วิธีนี้จะเกิดปัญหาตามมาคือ สังคมอาจจะข้องใจว่าแล้วคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบ ทั้งของอัยการ ตำรวจ และคณะกรรมการไต่สวนอิสระชุด นายวิชา มหาคุณ จะตั้งมาเพื่ออะไร เอาเวลาไปหาพยานหลักฐานใหม่ไม่ดีกว่าหรือ และจะว่าไป พยานหลักฐานใหม่ในคดีนี้คือ “พยานหลักฐานเก่า” ที่ตำรวจทำสำนวนครั้งแรก และอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องไปแล้วนั่นเอง ก่อนจะมาสั่งสอบพยานเพิ่มโดยอัยการอีกชุดหนึ่ง แล้วกลับความเห็นเป็น “สั่งไม่ฟ้อง”

  1. รอผลการตรวจสอบสำนวนการสั่งไม่ฟ้องของคณะทำงาน 7 อรหันต์ของฝ่ายอัยการถ้าพบว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบ ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม หรือผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฝ่ายตำรวจพบว่ามีการใช้พยานหลักฐานเท็จ ทางพนักงานสอบสวน หรืออัยการก็จะมีช่องทางในการหยิบสำนวนคดีกลับมาพิจารณาใหม่ หรือมีคำสั่งใหม่ให้เป็น สั่งฟ้องได้

แต่วิธีนี้อาจต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะต้องรอผลการสอบสวนที่มีการตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการ เพื่อให้มีผลทางกฎหมายอย่างแท้จริง และเปิดให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหายื่นหลักฐานหรือคำชี้แจงได้ด้วย เพื่อความเป็นธรรม

  1. อัยการสูงสุดใช้อำนาจดึงสำนวนคดีกลับมาพิจารณาใหม่เพราะการสั่งไม่ฟ้องนายบอสกระทั่ง “รอดทุกข้อหา” ไม่ได้ใช้อำนาจอัยการสูงสุด แต่เป็นการใช้อำนาจของนายเนตร นาคสุข ในฐานะอธิบดีอัยการสำนักคดีศาลสูง ขณะรักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุดเท่านั้น

เรื่องนี้แม้จะมีระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดระบุว่า การพิจารณาเรื่องขอความเป็นธรรม ให้เป็นอำนาจของรองอัยการสูงสุดก็ตาม แต่จริงๆ แล้วอำนาจการสั่งคดีที่ เป็นคำสั่งเด็ดขาดเป็นอำนาจของอัยการสูงสุด เพียงแต่กระจายอำนาจออกไปเพื่อไม่ให้เป็นการรวมศูนย์ โดยออกเป็นระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งระเบียบนี้ไม่ได้ลบล้างอำนาจที่แท้จริงของอัยการสูงสุด ที่สำคัญการใช้อำนาจของนายเนตร นาคสุข ขณะเป็นรักษาการ อาจมีประเด็นเรื่องความชอบธรรม

ที่สำคัญ นักกฎหมายหลายคนมองว่า องค์กรตำรวจและอัยการไม่ใช่องค์กรตุลาการ 100% ฉะนั้นคดีจะถึงที่สุดหรือไม่ จะพิจารณาแบบที่ศาลมีคำพิพากษาไม่ได้ หากคดียังอยู่ในอายุความ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนที่อัยการเปลี่ยน คำสั่งฟ้องเป็น คำสั่งไม่ฟ้องในคดีนายบอส ทำให้ บอสรอดทุกข้อหา

ฉะนั้นหากพบว่า มีการสั่งคดีโดยมิชอบ หรือสั่งโดยอาศัยพยานหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือ ก็ชอบที่อัยการสูงสุดจะดึงสำนวนมาพิจารณาและสั่งคดีใหม่ได้ โดยไม่ต้องรอผลการตรวจสอบของคณะทำงาน 7 อรหันต์ด้วยซ้ำ เนื่องจากองค์กรอัยการเป็นองค์กรกึ่งบริหาร ไม่ใช่องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ 100%

แหล่งข่าวซึ่งเป็นนักกฎหมายระดับอาจารย์ในกระบวนการยุติธรรม อธิบายว่า แนวทางที่ 2 กับ 3 อาจมีบางฝ่ายติติงว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เขียนไว้ โดยเฉพาะ ป.วิอาญา แต่อยากเสนอแนวคิดให้สังคมได้พิจารณาร่วมกันว่า การอ้างแต่กระบวนการว่าตรงตามที่กฎหมายเขียนไว้ทุกอย่าง แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือค้านกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง แบบนี้จะถือว่ากระบวนการตามที่อ้างนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ฉะนั้นจึงอยากให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม มองกฎของสังคมและความเป็นธรรม โดยเฉพาะ “หลักนิติธรรม” มากกว่ายึดแต่ตัวบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เขียนไว้ในแง่กระบวนการเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ “ข้อเท็จจริง” และ “ความเป็นธรรม”

ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถรื้อคดีนี้ขึ้นมาได้ คือ กรณีที่ครอบครัวของ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ตาย ไม่พอใจผลการสั่งคดีของอัยการที่เปลี่ยนคำสั่งฟ้องเป็น สั่งไม่ฟ้องทางครอบครัวก็สามารถยื่นฟ้องคดีเองต่อศาลได้ เพราะคดียังอยู่ในอายุความ ขณะที่การรับเงินชดใช้ความเสียหายหรือเงินเยียวยาจากฝ่ายผู้ต้องหา คือ ฝ่ายนายบอส ไม่ได้ทำให้สิทธิ์ในการฟ้องคดีอาญาระงับไป ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิอาญา มาตรา 28 ประกอบมาตรา 5(2)

แต่ข้อจำกัดของแนวทางนี้ก็คือ ป.วิอาญา มาตรา 5(2) กำหนดให้เฉพาะบุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา จัดการแทนผู้เสียหาย กรณีผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ โดยบุพการี คือ พ่อกับแม่ ผู้สืบสันดานคือลูก สามีหรือภริยา คือคู่สมรส ซึ่งปรากฏว่า ด.ต.วิเชียร น่าจะไม่มีทั้งพ่อ แม่ ลูก รวมถึงคู่สมรส จึงอาจใช้ช่องทางนี้ไม่ได้

แต่แหล่งข่าวนักกฎหมายรายเดิม บอกว่า จริงๆ แล้วข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ ตำรวจสามารถแสวงหาหลักฐานดำเนินคดีได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอให้ครอบครัวผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์

ที่สำคัญ ตำรวจเคยสรุปสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องนายบอสมาแล้ว แต่ภายหลังมากลับคำสั่ง ซึ่งสวนทางกับที่ตำรวจสรุปสำนวนไป อีกทั้งตำรวจยังชี้แจงล่าสุดว่า การสั่งสอบพยานเพิ่ม เป็นพยานที่ฝ่ายอัยการระบุตัวมาทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับตำรวจ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็สมควรอย่างยิ่งที่ฝ่ายตำรวจจะตั้งคดีขึ้นใหม่ และสรุปสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องยืนยันกลับไปให้อัยการ