ทอท.เล็งกู้เงินเสริมสภาพคล่อง หวั่นปี 64 เสี่ยงขาดทุน

ทอท.เล็งกู้เงินเสริมสภาพคล่อง หวั่นปี 64 เสี่ยงขาดทุน

ทอท.คาดปี 64 ผลประกอบการขาดทุน ฉุดสภาพคล่อง หลังพิษโควิดกระทบกระแสเงินสดเหลือ 5 หมื่นล้าน คงแผนลงทุนต่อเนื่อง บอร์ดยืดเวลาเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ทำพลาดรายได้ “คิงเพาเวอร์” กว่า 2.3 หมื่นล้านบาท

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบิน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผนธุรกิจ รวมถึงบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ที่ได้รับผลกระทบจากเที่ยวบินที่ลดลงมากกว่าครึ่ง

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เปิดเผยว่า จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานภายการดูแลของ ทอท. 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง (เชียงราย), และหาดใหญ่ ยังคงมีจำนวนน้อย รวมเฉลี่ย 5-6 หมื่นคนต่อวัน และสูงสุดในช่วงวันหยุดยาว 8-9 หมื่นคนต่อวัน

ปริมาณผู้โดยสารช่วง 6 เดือนแรก ปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) พบว่ามีจำนวน 28 ล้านคน ลดลง 60.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งออกเป็น ผู้โดยสารในประเทศ 13 ล้านคน ลดลง 54.49% และต่างประเทศ 15 ล้านคน ลดลง 64.85%

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีปริมาณผู้โดยสารสะสม 12 ล้านคน ลดลง 62.54% เป็นสนามบินที่มีอัตราการลดลงสูงที่สุด

ทั้งนี้ ทอท.ได้ประเมินแนวโน้มจำนวนผู้โดยสาร ดังนี้

ปี 2563 ปริมาณผู้โดยสารจะมีรวม 38.81 ล้านคนต่อปี

ปี 2564 หวังว่าจะมีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และทำให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น ปริมาณผู้โดยสารคาดว่ามากกว่า 55 ล้านคนต่อปี

ปี 2565 ทอท.ประเมินว่าสถานการณ์การเดินทางจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเดือน ต.ค.2565 ทำให้ผู้โดยสารในปีนั้น เติบโตอย่างก้าวกระโดด อยู่ที่ 128.64 ล้านคนต่อปี

159611680094

นอกจากนี้ จากการประเมินของ ทอท.คาดการณ์ว่าในปี 2564 เนื่องจากเที่ยวบินระยะไกลอาจมาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่มากนัก ประกอบกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการทำการบิน

ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2564 หรือตั้งแต่เดือน ต.ค.2563 ทอท.ต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด อาทิ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องปิดพื้นที่ให้บริการผู้โดยสารบางฝั่งและปรับลดพื้นที่บริการภาคพื้นบางส่วน

ทั้งนี้ ยอมรับว่าปีงบประมาณ 2564 ทอท. มีความเสี่ยงขาดทุนมาก และน่าจะแย่กว่าปี 2563 เพราะไม่มีช่วงที่ผู้โดยสารเดินทางเข้ามาสูงเหมือนปี 2563 ที่ ทอท.ยังมีปริมาณการเดินทางช่วง 4 เดือนนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.2562-ม.ค.2563) ทอท.ทำรายได้ไว้ค่อนข้างสูง สามารถนำมาใช้บริหารจัดการให้ 8 เดือนที่เหลือผ่านพ้นไปได้ในยามที่ต้องได้รับผลกระทบจากโควิด-19

อีกทั้ง ทอท.ยังประเมินว่าในปี 2564 อาจเป็นช่วงที่ขาดสภาพคล่อง เนื่องจากก่อนเกิดโควิด-19 ทอท. มีสภาพคล่อง 7 หมื่นกว่าล้านบาท ขณะนี้เหลือ 5 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งน่าจะพอถึงสิ้นปี 2563 ขณะเดียวกันในปี 2564 ทอท.ยังคงแผนลงทุนอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะได้รับผลกระทบรายได้ลดลง จากการขยายระยะเวลาการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ

“ก่อนเกิดโควิดเรามีสภาพคล่องอยู่ 7 หมื่นล้านบาท ตอนนี้เหลือ 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นปีหน้าไม่ใช่ก็ใกล้เคียงที่สภาพคคล่องจะหมด ส่วนประเด็นที่ว่าหากสภาพคล่องหมดจะต้องกู้เงินเพิ่มหรือไม่ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ประเมิน ขอดูสถานการณ์ไปก่อน โดยตามหลักการหากจำเป็นต้องกู้เงิน ก็จะกู้สถาบันการเงินในประเทศ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องดอกเบี้ย แต่เรื่องเพิ่มทุนไม่มีในหัวเลย”นายนิตินัย กล่าว

อุ้มดิวตีฟรี“คิงเพาเวอร์”

นายนิตินัย กล่าวว่า คณะกรรมการ ทอท.ได้มีมติเห็นชอบขยายเวลาขั้นตอนการปรับปรุงก่อสร้าง ตกแต่งพื้นที่ประกอบกิจการ ในส่วนของงานประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์คู่สัญญา คือ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จากกำหนดเดิมจะเริ่มงานนี้ระหว่าง 28 ก.ย.2563–31 มี.ค.2564 เลื่อนออกไป 1 ปี เป็นนับตั้งแต่ 28 ก.ย. 2563-31 มี.ค.2565 และเป็นผลให้เลื่อนเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดการประกอบกิจการจากเดิม 1 เม.ย.2564–31 มี.ค.2574 เป็นตั้งแต่ 1 เม.ย. 2565-31 มี.ค.2575

ส่วนการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ทอท.ยังคงผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing per Head) แต่ให้แปรผันตามจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะสอดคล้องกับสถานการณ์โควิด -19 ทดแทนการเรียกเก็บแบบเดิมที่ให้ขึ้นกับประมาณการจำนวนผู้โดยสาร เพราะขณะนี้ปริมาณอยู่โดยสารยังไม่แน่นอน

จึงยังไม่สามารถประเมินจำนวนผู้โดยสารได้ โดยหากปริมาณผู้โดยสารกลับมาเทียบเท่ากับที่เอกชนประเมินเมื่อครั้งยื่นข้อเสนอ ทอท.จะกลับมาเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามที่เอกชนยื่นข้อเสนอไว้

“การขยายเวลาให้กับเอกชนเข้าพื้นที่งานก่อสร้าง และตกแต่งนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ในเดือน เม.ย.2565 เพราะจากปัญหาโควิด -19 ทำให้วัสดุอุปกรณ์ในงานก่อสร้างหลายรายการ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่มาทดสอบระบบไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ จึงจำเป็นต้องเลื่อนทดสอบการเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการออกไป โดยคาดว่าจะสามารถทำการทดสอบระบบการปฏิบัติงานต่างๆ ร่วมกันแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.2565”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2562 ทอท.ได้ลงนามกับกลุ่มคิงเพาเวอร์ในสัญญาให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการ จำนวน 3 สัญญา โดยแต่ละสัญญา มีอายุ 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. 2563 - 31 มี.ค.2574 

รวมทั้งมีวงเงินผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) รวมกันปีแรกที่มีมูลค่ารวม 23,548 ล้านบาท แบ่งเป็นสัญญาดิวตี้ฟรี ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงินผลตอบแทนขั้นต่ำปีแรก 15,419 ล้านบาท สัญญาดิวตี้ฟรี 3 ท่าอากาศยานภูมิภาค (ภูเก็ต,หาดใหญ่,เชียงใหม่) วงเงินผลตอบแทนขั้นต่ำปีแรก 2,331 ล้านบาท และสัญญาเชิงพาณิชย์สุวรรณภูมิ วงเงินผลตอบแทนขั้นต่ำปีแรก 5,798 ล้านบาท