แบงก์เข้มปล่อยกู้ 'รายย่อย' 'เกียรตินาคิน' สั่งเพิ่มเงินดาวน์

แบงก์เข้มปล่อยกู้ 'รายย่อย' 'เกียรตินาคิน' สั่งเพิ่มเงินดาวน์

“แบงก์พาณิชย์” ตั้งการ์ดปล่อยกู้ สั่งคุมเข้มสินเชื่อรายย่อย ป้องปัญหาหนี้เสียพุ่ง “เกียรตินาคิน” สั่งเพิ่มเงินดาวน์สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็น 10% พร้อมสกรีนเข้มกลุ่มลูกค้าอาชีพอิสระ ด้าน “กรุงศรีคอนซูมเมอร์” จ่อเพิ่มเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำของผู้ขอสินเชื่อ

วิกฤติโรคระบาดที่เกิดจาก “โควิด-19” ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้ “ธนาคารพาณิชย์” ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อครัวเรือนที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งพบว่า ธนาคารพาณิชย์ เกือบทุกแห่งเริ่มระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเหล่านี้มากขึ้น

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า กลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา เน้นการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มที่มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งธนาคารได้หันมาเน้นเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ รวมทั้งได้สั่งระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพิ่มในเกือบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย ภายใต้ผลกระทบจากโควิด-19

สำหรับความเข้มงวดที่เพิ่มขึ้นนั้น เช่น การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ปกติธนาคารจะให้วางเงินดาวน์ประมาณ 5% แต่ปัจจุบันได้เพิ่มเงินดาวน์เป็น 10% หรือในด้านรายได้ของลูกค้าก็จะสกรีนเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าอาชีพอิสระที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทางธนาคารได้ปรับลดน้ำหนักการให้สินเชื่อกับลูกค้ากลุ่มนี้ลง อย่างไรก็ตามหากเป็นลูกค้าที่มีเงินเดือนประจำ การพิจารณาสินเชื่อยังคงใช้หลักเกณฑ์เดิม

“การเข้มงวด อาจมีทั้ง การลด LTV และสกรีนรายได้ผู้กู้มากขึ้น เช่น หากเป็นคนที่รับเงินเดือนประจำ อันนี้เราอาจไม่ discount แต่หากเป็นคนที่ทำอาชีพอิสระ โดยเฉพาะอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาจต้อง discount ลง 80% เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อคำนึงถึงความสามารถกลับมาชำระหนี้จริง ไม่ให้การปล่อยสินเชื่อใหม่กลับมาสร้างปัญหาใหม่ ไม่ใช่แค่การปรับรายได้ผู้กู้ลง หรือปรับ LTV อย่างเดียว เรามีการปรับฐานไปรุกปล่อยกู้ในรถที่มียี่ห้อมากขึ้นด้วย เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าเครดิตดี จากปกติที่เราปล่อยทุกแบรนด์”

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ภายใต้ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร โดยเฉพาะ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น(ROE)คาดจะอยู่ที่ราว 10% จากเดิมที่คาด 15%

ขณะที่ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองของธนาคาร (Credit Cost) ทั้งปีอยู่ที่ 2.5% จากเดิมที่คาด 1.40-1.60% จากแนวโน้มสำรองที่คาดจะเพิ่มขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลัง จากคุณภาพหนี้ที่น่าจะสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น หลังหมดมาตรการช่วยเหลือจากแบงก์ ทำให้คาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 3.9% จากครึ่งปีแรกที่อยู่ราว 3.4% 

ส่วนสินเชื่อรวมยังคงเป้าเดิมที่ 7-9% หลังสินเชื่อยังเติบโตได้ โดยเฉพาะจากธุรกิจรายใหญ่ ที่หันมาพึ่งพาสินเชื่อจากระบบธนาคาร แทนตลาดตราสารหนี้

ทั้งนี้ การช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารผ่านมาตรการต่างๆที่ผ่านมา มีลูกหนี้ราว 40% หากเทียบกับสินเชื่อรวมของธนาคารที่ราว 2.5แสนล้านบาท ที่ขอรับการช่วยเหลือ โดยรายย่อยคิดเป็นวงเงินสินเชื่อราว 7.5 หมื่นล้านบาท และเอสเอ็มอีอีก 2.5หมื่นล้านบาท ซึ่งโดยปกติราว 70% ของกลุ่มที่รับการช่วยเหลือจากแบงก์ เป็นลูกหนี้ดี ที่ชำระดีต่อเนื่อง ดังนั้นคาดว่าเมื่อหมดมาตรการช่วยเหลือ คาดว่ามีโอกาสที่ลูกค้าราว 65-70% มีโอกาสกลับมาชำระหนี้เป็นปกติได้

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด กล่าวว่า ภายใต้การปล่อยสินเชื่อในปัจจุบัน ยอมรับว่าต้องมีการระมัดระวังมากขึ้น ทั้งในส่วนลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ โดยในส่วนลูกค้าเก่า อาจระมัดระวังเพิ่ม หากลูกค้ามีการขอวงเงินเพิ่มเติม ส่วนนี้มีการดูเข้มข้นขึ้นว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ส่วนลูกค้าใหม่ การอนุมัติสินเชื่อ วงเงินอาจปรับลดลง เพื่อให้สอดรับกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มองว่าจากความเสี่ยงที่มีอยู่สูง จากผลกระทบโควิด-19ยิ่งสร้างความเปราะบางมากขึ้น สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อย ที่เริ่มเห็นความเสี่ยงในกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะการชำระหนี้ ซึ่งกรุงศรีคอนซูมเมอร์ก็อาจพิจารณาอยู่ว่า อาจขยับเกณฑ์ขั้นต่ำของผู้ขอสินเชื่อขึ้นได้ จากเดิมที่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 1.2หมื่นบาท และสินเชื่อบัตรเครดิต ที่กำหนดขั้นต่ำที่ 1.5หมื่นบาท อาจเพิ่มขึ้นไปเกินระดับ 2หมื่นได้หรือไม่ เพื่อให้สอดรับกับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น

“ดูอยู่ ว่าปรับขึ้นรายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ได้หรือไม่ จากเดิม บัตรเครดิต 1.5 หมื่น สินเชื่อบุคคล 1.2 หมื่นบาท ก็ต้องดูเหมือนกันว่าขยับขึ้นอย่างไร เช่นบัตร อาจขยับไปเกิน 2 หมื่นบาทได้หรือไม่ เพราะความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สำหรับคนที่มีรายได้ต่ำ ที่พบว่ามีปัญหาสูงกว่า หากเทียบกับกลุ่มที่มีรายได้สูง อีกทั้งวันนี้เราไม่สามารถชาร์ตดอกเบี้ยได้เหมือนเดิม หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีการลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิตลง ทำให้การรับความเสี่ยงของแบงก์ก็น้อยลง”

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อไม่มีหลักประกันของธนาคารในระยะถัดไปการพิจารณายังอยู่ในทิศทางระมัดระวัง และเข้มงวด ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ยอมรับว่า ด้านเครดิตผู้กู้ลดลง ทำให้การเข้าถึงสินเชื่อต่ำลง ทำให้อาจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเฉพาะในระยะนี้ที่รายได้ลดลง จากผลกระทบจากเศรษฐกิจและจากโควิด-19 ที่ถูกลดเงินเดือนและโอทีต่างๆ

“มาตรการการให้สินเชื่อเราเข้มอยู่เท่านี้อยู่แล้ว เท่าเดิมไม่ได้เปลี่ยนจากช่วงที่ผ่านมา แต่ลูกค้าตกสกอร์มากขึ้น จากรายได้ที่หายไป เช่นวันนี้ ที่รายได้ โอทีไม่มี พอขอสินเชื่อใหม่ก็ไม่ได้ ดังนั้นเราแทบจะไม่ได้ขยับมาตรการอะไรเพิ่มขึ้นเลยวันนี้ ส่วนทาเก็ตกรุ๊ปของแบงก์ระยะข้างหน้า เราต้องดูมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่เรามองว่ามีศักยภาพ มีภาระหนี้ไม่เยอะมาก ส่วนการเติบโตสินเชื่อปีนี้ คาดว่า น่าจะต่ำกว่าแผนที่วางไว้”