'บีซีพีจี' ลุ้นปิดดีลเพิ่มซื้อกิจการไฟฟ้าไทย-ต่างประเทศ ครึ่งปีหลัง

'บีซีพีจี' ลุ้นปิดดีลเพิ่มซื้อกิจการไฟฟ้าไทย-ต่างประเทศ ครึ่งปีหลัง

“บีซีพีจี” เล็งโอกาสเข้าซื้อกิจการโซลาร์รุ่นเก่าและ พลังงานลมในไทย คาดครึ่งปีหลังปิดดีล M&A ไทยและต่างประเทศ มากกว่า 1 โครงการ ลุยขยายธุรกิจไฟฟ้าในลาวส่งขายไฟป้อนเวียดนาม หวังพัฒนา 2,500 เมกะวัตต์

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า บริษัท ยังมองโอกาสขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการโซลาร์รุ่นเก่าที่จะหมดอายุ การได้รัอัตราเงินสนับสนุน adder 8 บาทต่อหน่วย ซึ่งพบว่า ปัจจุบัน มีผู้เสนอขายในตลาดประมาณ 300-400 เมกะวัตต์ หลังจากโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการบางรายต้องการเงินสดมากขึ้น บริษัทมองว่า เป็นโอกาสที่จะนำโครงการโซลาร์เก่ามาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และจากการคำนวนในเบื้องต้น น่าจะยังคงได้รับอัตราผลตอบแทนการลงทุนในระดับราว 10% คุ้มค่ากับการลงทุน คาดว่าจะสามารถปิดดีลได้ในเร็วๆนี้

อีกทั้ง ยังมองโอกาสการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานลมอีก 90 เมกะวัตต์ ตามแผนพลังงานใหม่ และโครงการพลังงานลมเก่าบริเวณเขาค้อ กำลังการผลิตรวม 100-200 เมกะวัตต์ หากรัฐนำกลับมาเปิดดำเนินการใหม่ และยังมีโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนฯ รวมกับบริษัทในเครือบางจากฯ 10 แห่ง กำลังผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ แต่ยังต้องรอความชัดเจนจากนโยบายภาครัฐก่อน

ปัจจุบัน ในไทย มีกำลังการผลิตที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์( COD) แล้ว 151.2 เมกะวัตต์ เป็นโครงการโซลาร์ และพลังงานลม รวมถึง อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการโซลาร์ อีก 15.5 เมกะวัตต์

สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ บริษัท ยังให้ความสำคัญกับแผนขยายการผลิตไฟฟ้าในลาว เพื่อขายไฟฟ้าไปยังเวียดนาม เบื้องต้นคาดว่า จะมีโอกาสพัฒนาได้ถึง 2,500 เมกะวัตต์ จากที่รัฐบาลลาวและเวียดนามมีการเซ็น MOU ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันถึง 5,000 เมกะวัตต์

โดยปัจจุบัน บริษัทมีการลงทุนในลาว 2 โครงการ เป็นพลังน้ำ ทางตอนเหนือ รวม 114 เมกะวัตต์ คือ Nam San 3A ขนาด 69 เมกะวัตต์ และ Nam San 3B ขนาด 45 เมกะวัตต์ ซึ่งเริ่มจ่ายไฟฟ้าภายในลาว ก่อนจะเริ่มส่งไฟฟ้าไปเวียดนามในปี 65

จากนั้น บริษัทจะก่อสร้างสายส่ง 230 กิโลโวลต์ (kV) ซึ่งจะรองรับการส่งไฟฟ้าได้ถึง 500 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทมองโอกาสที่จะก่อสร้างโซลาร์ฟาร์ม 100-200 เมกะวัตต์ทางตอนเหนือของลาว คาดว่า จะแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี และอาจจะมีโครงการพลังน้ำขนาดเล็กอื่น ๆ ในบริเวณทางตอนเหนือที่จะมาใช้สายส่งเพื่อส่งไฟฟ้าไปยังเวียดนามด้วย

ขณะที่ทางตอนใต้ของลาว ปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 600 เมกะวัตต์ ที่บริษัทร่วมทุน 45% กับพันธมิตร ทำให้มีกำลังการผลิตตามสัดส่วน 270 เมกะวัตต์ และในอนาคต อาจปรับเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 50% โดยโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับเวียดนาม คาดว่าจะลงนามได้ใน 2-3 เดือนข้างหน้าหรือไม่เกินสิ้นปีนี้ พร้อมสร้างสายส่งขนาด 500 kV ไปยังเวียดนาม ซึ่งเพียงพอรองรับการส่งไฟฟ้าได้ถึง 2,000 เมกะวัตต์ คาดว่า จะแล้วเสร็จใน 3 ปี

ทั้งนี้ เมื่อโครงการในลาวเสร็จ จะช่วยปิดความเสี่ยงจากโซลาร์ฟาร์มในไทยของบริษัท ที่ได้รับค่า adder จะทยอยหมดอายุในช่วงปี 3-4 ปีข้างหน้า และยังช่วยหนุนผลการดำเนินงานไปจนถึงปี 68

ส่วนการลงทุนในญี่ปุ่น ปัจจุบันมีกำลังการผลิตโซลาร์ฟาร์ม ตามสัดส่วนร่วมทุนที่ COD แล้วรวม 14.7 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนา 75 เมกะวัตต์ รวม 3 โครงการ คาดว่าจะ COD ได้ในปี 64

ขณะที่ในฟิลิปปินส์ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตพลังงานลม ตามสัดส่วนร่วมทุนที่ COD แล้วรวม 14.4 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนาอีก 5.6 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างเจรจาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 13 เซนต์ต่อหน่วยในปัจจุบัน

ส่วนในอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีกำลังการผลิตพลังงานใต้พิภพ ตามสัดส่วนร่วมทุนที่ COD แล้วรวม 157.5 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างเตรียมสรุปเพื่อพัฒนาเฟส 3-4 อีก 24 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการอย่างไร และเบื้องต้นมีแผนจะรีไฟแนนซ์หนี้ราว 800 ล้านดอลลาร์ เพื่อลดต้นทุนการเงินให้ได้กำไรที่ดีขึ้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้

นายบัณฑิต กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่า กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDAจะเติบโต 20% จากระดับ 2.58 พันล้านบาทในปีที่ก่อน จากการรับรู้ผลการดำเนินของโครงการพลังน้ำในลาว ทั้ง Nam San 3A ที่เข้าซื้อเมื่อเดือน ก.ย.62 และ Nam San 3B ที่เข้าซื้อเมื่อเดือน ก.พ.63 รมงถึง ยังมีโอกาสปิดดีลการซื้อกิจการ(M&A) มากกว่า 1 โครงการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะเป็นโครงการที่COD แล้ว

โดยแผนการลงทุนช่วง 5 ปี(63-67) ของบริษัท จะใช้เงินลงทุนราว 4-5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับพัฒนาโครงการในมือและโครงการใหม่ๆ โดยแหล่งเงินลงทุนจะมาจากเงินกู้ หรือการออกหุ้นกู้ รวมถึงบริษัท ยังมีกระแสเงินสดในรูป EBITDA ที่จะมีเข้ามาราว 3.0-3.5 พันล้านบาทต่อปีเพียงพอสำหรับการลงทุนในอนาคต