ขึ้นบัญชีดำ 13 ชีวภัณฑ์เถื่อน เสียหายรวมกว่า 50 ล้าน

ขึ้นบัญชีดำ 13 ชีวภัณฑ์เถื่อน เสียหายรวมกว่า 50 ล้าน

กระทรวงเกษตรฯ ประสานดีเอสไอ ลุยปราบขบวนการผลิตชีวภัณฑ์ผสมสารเคมีหลอกขายเกษตรกร กรมวิชาการเกษตร สืบเบาะแส แกะรอย ชี้เป้าเข้าทลายแหล่งผลิตใหญ่ มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 50 ล้านบาท พร้อมขึ้นบัญชีดำ 13 สารชีวภัณฑ์เถื่อนเตือนอย่าหลงเชื่อโฆษณาเกินจริง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและรับฟังปัญหาของเกษตรกรในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้รับทราบปัญหาการหลอกขายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรทั้งปุ๋ยและวัตถุอันตรายที่ไม่มีคุณภาพให้กับเกษตรกร ซึ่งในเรื่องนี้ตนได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากโดยได้กำหนดเป็นนโยบายขับเคลื่อนภาคการเกษตรที่สำคัญของกระทรวงเกษตรฯโดยมีเป้าหมายให้เกษตรกร ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพทดแทนสารเคมีการเกษตรให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับการผลิตพืชให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย

ดังนั้นจึงได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการตรวจสอบ ป้องกัน และปราบปรามขบวนการดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อมิให้เป็นการซ้ำเติมเกษตรกรที่ต้องเสียเงินซื้อปัจจัยการผลิตปลอมที่ได้มาตรฐานมาใช้ เพราะนอกจากจะใช้ไม่ได้ผลตามที่ต้องการแล้วยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรด้วย

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ได้รับรายงานจากกรมวิชาการเกษตรว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2559 เป็นต้นมาเริ่มมีการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการขายสินค้าชีวภัณฑ์ที่ใช้กำจัดศัตรูพืช วัชพืช ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้เข้าไปตรวจสอบ และดำเนินการทางด้านกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดไปแล้วจำนวนหลายราย แต่ยังมีผู้ผลิตอีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ เนื่องจากไม่พบสถานที่ผลิตตามที่ระบุไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ แต่พบว่ามีการผลิตและจำหน่ายสินค้าชีวภัณฑ์ที่ใช้กำจัดวัชพืชในลักษณะเดียวกันอีกหลายชนิด โดยผู้ผลิตดังกล่าวเปลี่ยนชื่อและที่อยู่เพื่อหลบหนีการตรวจสอบ ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรจะได้ดำเนินการเข้าตรวจสอบสถานที่ตามที่ระบุไว้ในฉลากอีกหลายครั้งในพื้นที่จังหวัด นนทบุรี ปทุมธานี และฉะเชิงเทรา แต่ส่วนใหญ่จะพบเพียงผู้จำหน่ายรายย่อยโดยที่ยังไม่สามารถสืบหาผู้ผลิตที่แท้จริงได้

“จากปัญหาดังกล่าวซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ปลอม รวมทั้งการติดตาม สืบค้นข้อมูลมีความซับซ้อนและหาตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงได้ยาก จึงได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษเนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีผู้ได้รับผลกระทบและมีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการปฏิบัติงานร่วมกันทำให้สามารถเข้าถึงผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรายใหญ่ได้ “

นายเฉลิมช้ย กล่าวว่า  โดยการปฏิบัติการร่วมกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 พ. ย. 2562 เจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 หน่วยงานได้เข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตและจำหน่ายวัตถุอันตรายและปุ๋ยที่ไม่ได้มาตรฐานที่จังหวัดนครราชสีมา ปทุมธานี และนนทบุรี พบวัตถุอันตรายและปุ๋ยผิดกฎหมายรวมปริมาณ 69.1 ตัน รวมมูลค่าความเสียหายจำนวน 31.8 ล้านบาท

การปฏิบัติการร่วมกันครั้งที่ 2 ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และดีเอสไอ เมื่อวันที่ 22 ก. ค. 2563 ที่ผ่านมาได้เข้าตรวจค้นสถานที่ผลิตสารชีวภัณฑ์ปลอมใน 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร อุตรดิตถ์ และเชียงใหม่ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ และยึดอายัดสารชีวภัณฑ์ รวมทั้งสิ่งของที่เกี่ยวข้องในการผลิต พร้อมกับรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด รวมมูลค่าความเสียหายในครั้งนี้จำนวน 20 ล้านบาท

“จากการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และดีเอสไอทั้ง 2 ครั้งทำให้สามารถจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ผลิตรายใหญ่ได้พร้อมกับผลิตภัณฑ์ปลอมที่หลอกขายเกษตรกรจำนวน 13 ชื่อการค้า คือ คิวสตาร์ วัวแดง สมาร์ทไบโอ 1 สมาร์ทไบโอ 2 นิวตรอน 1 นิวตรอน 2 ซุปเปอร์ไลค์ มีเฮงรถถัง ไบโอวัน นานากรีน ซันฮีโร่ น้ำหมักยายสี และจ๊าบ จึงขอแจ้งเตือนเกษตรกรไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อการค้าดังกล่าว รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีแหล่งจำหน่ายที่ไม่น่าเชื่อถือหรือมีการโฆษณาเกินจริงตามสื่อโซเชียลต่างๆ และหากมีข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว สามารถแจ้งกรมวิชาการเกษตรเพื่อเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการได้"