เสนอแก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ ส.ว. เริ่มต้นล้างมรดกบาปรัฐประหาร

เสนอแก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ ส.ว. เริ่มต้นล้างมรดกบาปรัฐประหาร

พรรคก้าวไกล เสนอแก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ ส.ว. เริ่มต้นล้างมรดกบาปรัฐประหาร เปิดทางร่างรัฐธรรมนูญใหม่

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เคยอภิปรายไว้ในสภา โดยมีข้อเสนอด้วยกัน 5 ข้อคือ 1.ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 2.ทบทวนคดีความทางการเมืองที่ผ่านมา 3.หยุดคุกคามประชาชน 4.นายกรัฐมนตรีต้องลาออก 5. แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่กำหนดคุณสมบัติการศึกษา กำหนดเพียงให้อายุ 18 ปีขึ้นไป โดยข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนี้จะเป็นบันไดในการแก้ไขวิกฤตการเมือง
อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เป็นใบอนุญาตให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซื้อเวลาต่อไป และเพื่อให้ประเทศไทยไม่ถึงทางตัน พรรคก้าวไกลจึงเสนอทางออกเพิ่มเติมให้แก่สังคมเพื่อฝ่าวิกฤตการณ์ของประเทศที่สามารถทำได้เลยหากสถาบันการเมืองต่างๆ มีความจริงใจและจริงจัง โดยเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ
1.เปิดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้งหมด โดยไม่กำหนดวุฒิการศึกษาและมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
2.ให้มีการยกเลิกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 269-272 ซึ่งมีผลทำให้ยกเลิก ส.ว. ชุดปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งจะทำให้ในอนาคต ส.ว. ทั้ง 250 คน จะไม่สามารถมีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
3.ยกเลิกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 279 เรื่องการรับรองให้บรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นจุดเริ่มต้นของการลบล้างมรดกบาปรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นการปลดล็อกและนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติ
โดยถ้าจะหาฉันทามติท่ามกลางความขัดแย้งแบบนี้ จะไม่มีทางทำได้เลยถ้าไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะต้องมาจากประชาชน อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)ที่จะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งต้องเป็นการรวบรวมประชาชนทุกฝ่าย ทุกความใฝ่ฝัน ทุกปัญหา ทุกความขัดแย้ง แล้วมาตกลงกันเพื่อสร้างฉันทามติของประชาชน ในนามของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้เพิ่มเงื่อนไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยุ่งยากมากขึ้น และ ส.ว. คือตัวแปรสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ส.ว. ตามมาตรา 269 มาจากการเลือกของ คสช. ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและไม่ได้มีจุดยึดโยงใดกับประชาชนเลย ทำให้ขาดความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย และกลายเป็นสถาบันการเมืองที่เป็นกลไกการสืบทอดอำนาจของ คสช. ทั้งยังเป็นอุปสรรคขัดขวางและเป็นการบ่อนทำลายระบอบ ประชาธิปไตยที่ลงหลักปักฐานในประเทศไทย รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วย โดยมาตรา 269-272 เป็นบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับ ส.ว. เป็นหลักเกณฑ์วิธีสรรหา ส.ว. ชุดแรกจาก คสช. ตลอดจนอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และการให้ ส.ว. เข้ามาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี จึงเสนอให้มีการยกเลิกมาตรา 269-272 นี้
นอกจากนี้ แม้จะมีการยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. แต่ผลของประกาศและคำสั่งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาจะยังมีอยู่เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 279 เขียนรับรองให้ประกาศคำสั่ง คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ และไม่ได้เป็นการรับรองแค่ประกาศคำสั่งเท่านั้น แต่ยังรับรองไปถึงการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันด้วย ดังนั้นมาตรา 279 จึงทำให้การใช้อำนาจของ คสช. อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ จึงต้องทำการยกเลิกมาตรานี้
ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลไม่ใช่เป็นใบอนุญาตเพื่อต่ออายุและยืดอายุให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่พรรคเห็นว่าหากการเลือกตั้งใหม่ภายหลังจากที่ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. แล้วโดยการยกเลิกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 5 มาตรานี้ได้ จะสามารถนำไปสู่การได้รัฐบาลที่มาจากเจตจำนงของประชาชนที่แท้จริง
และเพื่อดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม หลังจากนี้พรรคก้าวไกลจะนำข้อเสนอนี้ในรูปแบบของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมไปหารือกับ ส.ส. ทั้งจากพรรคร่วมฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเพื่อรวบรวมรายชื่อให้มีมากเพียงพอตามกฎหมายเพื่อให้ที่ประชุมร่วมของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. พิจารณาต่อไป