'ภูมิคุ้มกันหมู่' โควิด-19 ไม่ใช่ทางที่เหมาะสม!

'ภูมิคุ้มกันหมู่' โควิด-19 ไม่ใช่ทางที่เหมาะสม!

ขณะนี้หลายประเทศมีการกลับทิศ มุ่งกำหนดแนวทางควบคุมโรคโควิด-19 เพราะเริ่มเห็นถึงทิศทางว่าการปล่อยให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” (herd immunity)กับโรคนี้โดยไม่ทำอะไร อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

 

ช่วงต้นที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโรคโควิด-19 เริ่มระบาดออกไปนอกประเทศจีน เข้าสู่ประเทศต่างๆกระจายไปทุกทวีป ผู้นำหลายประเทศเลือกที่จะไม่ดำเนินมาตรการใดเป็นการเฉพาะในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมการระบาด เลือกที่จะปล่อยให้ประชาชนมีการติดเชื้อและเกิดภูมิคุ้มกันธรรมชาติขึ้น แต่ขณะนี้ประเทศเหล่านั้นมีการกลับทิศ มุ่งกำหนดแนวทางควบคุมโรค เพราะเริ่มเห็นถึงทิศทางว่าการปล่อยให้เกิด“ภูมิคุ้มกันหมู่”(herd immunity)กับโรคนี้โดยไม่ทำอะไร อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

การเชื่อเช่นนั้น นั่นเพราะ“ภูมิคุ้มกันหมู่”(herd immunity) คือ การที่ประชากรส่วนมาของชุมชนหรือสังคมมีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นในสัดส่วนจำนวนคนที่มากพอแล้ว ก็จะไม่เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งอาจเกิดเองตามธรรมชาติเมื่อหายจากโรคหรือการได้รับวัคซีน เมื่อโควิด-19ยังไม่มีวัคซีน การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จึงต้องให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ทว่า มีการระบาดของโรคเกิดขึ้นครึ่งปี มีการศึกษามากมายที่เริ่มปรากฏออกมาว่า คนที่ติดเชื้อและหายป่วยจากโรคนี้ แม้จะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแต่อยู่ไม่นาน จึงไม่อาจการันตีจะไม่มีการติดเชื้อซ้ำขึ้น

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า เมื่อติดเชื้อไวรัสเชื่อว่าร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้น แต่เนื่องจากโควิด-19เป็นโรคใหม่ จึงมีการศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลักฐานในหลายๆประเทศพบว่า แม้ว่าจะมีการติดเชื้อมาแล้ว ในบางรายภูมิต้านทานก็ไม่เกิดขึ้น บางรายเกิดขึ้นไม่มาก ในส่วนของประเทศไทยก็มีการศึกษาและลักษณะผลที่เกิดขึ้นก็คล้ายกับต่างประเทศ

“นั่นหมายความแนวคิดที่จะให้ประชาชนมีการติดเชื้อและเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก็คงไม่เหมาะ ซึ่งประเทศไทยคงไม่ยอมที่จะแลกว่าหากมีคนติดเชื้อ โดยเฉพาะไปยังกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือคนมีโรคประจำตัวแล้วนำไปสู่การเสียชีวิต และที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยปล่อยให้ใครไม่ได้รับการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตของประเทศไทยไม่สูง มีผู้ป่วย 3,000 กว่าราย มีการเสียชีวิต 58 ราย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว


นพ.สุวรรณชัย ย้ำว่า ด้วยมาตรการการควบคุมโรคที่ดี เชื่อว่าคนไทยโดยส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทานกับเชื้อนี้ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องคงมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้หมายความจะไม่มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยที่จะติดเชื้อภายในประเทศเพราะเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่สามารถทำได้คือสามารถที่จะป้องกัน ให้โอกาสที่จะพบนั้นต่ำๆ และดำเนินชีวิตทางสังคม เศรษฐกิจให้มีการขับเคลื่อนไปได้ โดยควบคู่กับมาตรการป้องกันควบคุมโรคแบบระแวดระวังเป็นนิวนอมัล

“ภาพโดยรวม หลักการที่ง่ายๆในการป้องกัน การที่ทุกคนสวมหน้ากากทำให้โอกาสในการติดเชื้อ ลดลงจากกว่า 70 % เหลือเพียง 1.5 % และหากร่วมกับมาตรการอื่นทั้งล้างมือบ่อยๆและการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล โอกาสที่จะเกิดเชื้อก็จะน้อยลง การติดเชื้อก็จะน้อยๆ ลง ส่วนคนหนุ่มสาวที่ร่างกายแข็งแรงแล้วคิดว่าปล่อยให้ตัวเองติดเชื้อเพราะอาการไม่รุนแรงจะได้มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น ไม่ต้องวิตกกังวลอีกนั้น ด้วยหลักฐานการศึกษาต่างๆ ไม่สนับสนุนแนวคิดนี้” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากคิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ จากการติดตามคนไข้โควิด-19 จำนวน 63 คน พบว่า 60 คนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น แต่เมื่อติดตามต่อเนื่อง ภูมิคุ้มกันลดลงและหายไป 17% ใน 2 เดือน

สำหรับประเทศไทย ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า แม้ประเทศไทยไม่ได้วัดภูมิต้านทานของคนไทยต่อโรคโควิด-19 แต่เชื่อว่าคนไทยมีภูมิน้อยถึงน้อยมาก โดยที่ศิริราชมีการศึกษาภูมิคุ้มกันของนักศึกษาแพทย์ศิริราช พบว่า ไม่มีภูมิเลย ขณะที่รพ.รามาธิบดี มีการตรวจหาภูมิในบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยโควิด พบว่ามีภูมิ 3 % แต่ในสังคมไทยทั่วไปมีผู้ติดเชื้อสะสม 3,000 กว่าราย เพราะฉะนั้นสังคมไทยยังมีภูมิคุ้มกันโควิดน้อยมาก หากมีเชื้อจากข้างนอกเข้ามา แล้วไม่พบ ไม่รู้ และไม่สามารถไปควบคุมได้ จะเกิดการแพร่กระจายใหม่ได้ จำเป็นที่จะต้องป้องกันการติดและแพร่เชื้อ จนกว่าจะมีวัคซีนขึ้นมา

สอดรับกับข้อมูลจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่าจากการที่กรุงเทพมหานครร่วมกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ในการตรวจวัดภูมิต้านทานของผู้ที่หายจากโควิด-19 ประมาณ 300 คน พบว่า 10-12 % ตรวจไม่พบภูมิต้านทาน ซึ่งข้อมูลนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเหมือนกับการศึกษาในประเทศจีนหรือทางตะวันตก ที่พบผู้ไม่ตอบสนองต่อภูมิต้านทานหรือตรวจไม่พบภูมิต้านทาน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอาการน้อย คล้ายไข้หวัด ไอ ไม่รุนแรงส่วนผู้ที่มีอาการรุนแรงจะมีภูมิต้านทานสูง คนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการปอดบวมหรือลงปอด ภูมิต้านทานจะขึ้นสูง

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติเกิดขึ้นหลังจากหายป่วย ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีภูมิฯไปยาวนานแค่ไหน จึงต้องมีการติดตามภูมิต้านทานธรรมชาติที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง หลังหายแล้ว 6 เดือน ,9 เดือน และ 1 ปี เพื่อหาว่าการติดเชื้อและเกิดภูมิต้านทานธรรมชาติแล้วจะลดลงเป็นอย่างไร

“ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าภูมิต้านทานธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อนี้ จะอยู่ยาวนานแค่ไหนจะอยู่ตลอดไปหรือไม่ และจะปกป้องไม่ให้เป็นซ้ำได้หรือไม่ เท่ากับว่ายังไม่สามารถการันตีได้ว่าคนที่เคยติดเชื้อแล้วจะไม่ติดเชื้ออีก อาจเป็นซ้ำอีก เพียงแต่เชื่อว่าในกลุ่มผู้ที่มีอาการรุนแรง และมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นสูงนั้น ใน 2-3 ปีจะไม่เป็นซ้ำอีก แต่ไม่มีใครรู้ จึงต้องติดตามภูมิต้านทานของผู้หายป่วยไปอย่างน้อย 1 ปี” ศ.นพ.ยงกล่าว

ส่วนหนึ่งที่ผู้นำบางประเทศตัดสินใจเลือกที่จะใช้แนวทางให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นเพราะไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรค แต่ดูเหมือนว่าถึงขณะนี้แม้ไม่มีมาตรการใด ก็สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเช่นกัน ที่สำคัญ เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชนในประเทศจำนวนมากด้วย