'คดีบอส' ฉุดเชื่อมั่นต่างชาติ ตร.ยันไร้อำนาจเบรกคำสั่งอัยการ

'คดีบอส' ฉุดเชื่อมั่นต่างชาติ ตร.ยันไร้อำนาจเบรกคำสั่งอัยการ

นายกฯสั่งตั้งทีมสอบ ปมอัยการไม่สั่งฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” ลั่นคืนความยุติธรรมสังคม “วิชา” ประธานฯ ขอ 2 สัปดาห์กระจ่างชัด ประชุมนัดแรก 1 ส.ค.นี้ หวังเรียกความเชื่อมั่น ยอมรับหนักใจต่างชาติไม่เชื่อมั่นไม่เข้ามาลงทุน ด้านตำรวจยันไร้อำนาจเบรกคำสั่งอัยการ

ยังคงได้รับความสนใจจากสังคม พร้อมตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมไทยหลังจากที่อัยการมีคำสั่งไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ในคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ ป.สน.ทองหล่อ เสียชีวิตในทุกข้อกล่าวหา

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 225/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอันสืบเนื่องจากคดีบอสอยู่วิทยาจากคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 โดยมีนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน

ส่วนกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย

ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม นายกสภาทนายความ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นกรรมการและเลขานุการ

โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้การปฏิบัติหน้าที่และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ก้าวล่วงอำนาจและหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าวแล้ว รายงานนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการมีอำนาจเชิญหรือประสานขอความร่วมมือหรือขอเอกสารต่างๆจากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบสอบถามหรือขอความเห็นและให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการ

นายกฯลั่นคืนความยุติธรรม

พล.อ.ประยุทธ์ ยังเปิดเผยว่า คดีที่มีปัญหาอยู่ในเวลานี้รัฐบาลในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารจำเป็นต้องให้เกิดความชัดเจนโดยไม่ไปก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม คดีนี้ประชาชนและสังคมให้ความสนใจต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหนอย่างไรแล้วแก้ปัญหาโดยที่ตนจะไปก้าวล่วงในส่วนของอัยการและศาลไม่ได้แม้แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตนก็ไปสั่งการไม่ได้มันอยู่ที่กลไกอะไรของเขาที่ทำออกมาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

“ขอให้มั่นใจนายกฯไม่ได้ปล่อยปละละเลยนิ่งนอนใจเลยปัญหาเหล่านี้จะต้องแก้ให้ได้ความยุติธรรมต้องมีในสังคมไทยโดยไม่แบ่งชนชั้นและผมย้ำเสมอมาไม่ว่าการปฏิรูปการเมืองการปฏิรูปกฎหมายกระบวนหารยุติธรรมเศรษฐกิจอื่นๆต้องเดินหน้าทุกอย่างไม่เกี่ยวกับเรื่องบริจาคคนละเรื่องกันเรื่องผลประโยชน์ผลก็ยืนยันแล้วผมไม่เกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้น5ปีที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยเสียหายในเรื่องเหล่านี้ขอให้ความเชื่อมั่นกับผมด้วยผมก็พยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อคลี่คลายปัญหาต่างๆ”นายกฯกล่าว

“วิชา” ยอมรับหนักใจต่างชาติไม่ลงทุน

ด้านนายวิชา กล่าวภายหลังตอบรับเป็นประธานคณะกรรมการฯ ว่า เบื้องต้นที่จะนัดประชุมในวันเสาร์ที่ 1 ส.ค.นี้ กำลังประสานกับฝ่ายเลขาฯ ว่าจะสามารถเตรียมการและนัดประชุมได้ทันหรือไม่ ส่วนระยะตรวจสอบ 30 วัน เชื่อว่าน่าจะดำเนินการได้เร็วกว่านั้น น่าจะใช้เวลาสัก 2 สัปดาห์ ยอมรับว่า รู้สึกกดดันกับการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นห่วงสถานการณ์เรื่องความรุนแรง

นายวิชา ยอมรับว่า รู้สึกกดดันกับการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นห่วงสถานการณ์เรื่องความรุนแรงโดยเฉพาะด้านต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าข่าวออกมาจากต่างประเทศก่อน และจะมีผลกระทบในเรื่องการลงทุน โดยอ้างกระบวนการยุติธรรมว่าเราใช้ไม่ได้ การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามระบบอุปถัมภ์หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้น เราต้องเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชนให้กลับมาโดยเร็วที่สุด

ส่วนแนวทางการตรวจสอบที่กรรมการจะดำเนินการนั้น นายวิชา เปิดเผยว่า เราต้องหาความจริง ไม่ใช่หาข้อเท็จจริง สองอย่างต่างกัน ซึ่งเราจะต้องไต่สวนและตรวจสอบเพื่อให้ได้ความจริงที่อยู่เบื้องหลังว่า มีอะไร และมีบกพร่องอย่างไร สุดท้ายถ้าพบว่ามีข้อบกพร่องทั้งด้านข้อกฎหมายที่มีอยู่ หรือระเบียบข้อบังคับ ก็ต้องนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

นายวิชา ยังย้ำว่า ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจและสามารถที่จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวมาให้ข้อมูล

ส่วนการที่อัยการสูงสุดและตำรวจก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วยนั้น เราจะไม่ไปก้าวล่วงในเรื่องของการสั่งการของสองหน่วยงาน แต่อาจเชิญ 2 หน่วยงานมาให้ข้อมูล ความร่วมมือเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ผลการสอบของ 2 หน่วยงานที่ตั้งขึ้นจะออกมาอย่างไร ก็เป็นเรื่องการทำงานของคณะทำงานทั้ง 2 หน่วยงาน

ไร้อำนาจแย้งอัยการ-ปัดเอี่ยว2พยาน

วันเดียวกันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ รวม 10 ราย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ของข้าราชการตำรวจ และขั้นตอนการดำเนินคดีอาญาของนายวรยุทธ

พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า เรื่องนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ให้กรอบระยะเวลาการตรวจสอบ 15 วัน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง

ภายหลังการประชุม พล.ต.อ.ศตวรรษ เปิดเผยอีกครั้ง โดยยอมรับว่า ความเห็นไม่แย้งคำสั่งของอัยการในคดีถือว่าคดีสิ้นสุดแล้วไม่สามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงความเห็นได้อีก ส่วนการพิจารณาความเห็นที่อัยการส่งมานั้นเป็นการพิจารณาความถูกต้องในข้อกฎหมาย และดูข้อเท็จจริง ทางตำรวจไม่มีอำนาจตรวจสอบความเห็นของอัยการหรือขอให้อัยการอธิบายเหตุผลของการสั่งคดีได้ เพราะเป็นการถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรม

ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงว่า การใช้ดุพินิจของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะรื้อฟื้นหรือสืบสวนเพิ่มเติม

ด้าน พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากการสอบสวนพบว่า พนักงานสอบสวนไม่เกี่ยวข้องกับพยานใหม่ 2 ปาก เนื่องจากอัยการเป็นฝ่ายมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบปากคำเพิ่ม หลังผู้ต้องหายื่นร้องขอความเป็นธรรมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พนักงานสอบสวนจึงทำตามขั้นตอนที่อัยการกำหนดเท่านั้น โดยไม่สามารถก้าวล่วงกับการให้น้ำหนักของพยาน 2 ปากนี้ พร้อมยืนยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่การฟอกขาวแต่อย่างใด

อดีตกมธ.สนช.ยันไม่มีอำนาจฟัน

ส่วนท่าทีจากอดีตคณะกรรมาธิการกฏหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตุไปถึงกรณีที่ทนายความของนายวรยุทธได้เคยร้องขอความเป็นธรรม นายธานี อ่อนละเอียด ส.ว.ในฐานะอดีตเลขานุการกมธ.ชี้แจงกรณีดังกล่าวโดยยืนยันว่า กมธ.พิจารณาเห็นว่าอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ โดยอำนาจของกมธ.ไม่ใช่พนักงานสอบสวน ไม่สามารถชี้ผิดชี้ถูกได้ เรามีหน้าที่แค่เสนอผลการศึกษา คำชี้แจงของผู้มาชี้แจงก่อนนำเสนอไปยังหน่วยงานทีเกี่ยวข้องให้พิจารณาเท่านั้น

ส่วนเรื่องความเร็วรรถ ข้อมูลที่เจ้าพนักงานทำรายงานต่อหน้าผู้บังคับบัญชาระดับนายพลจากความเร็วเดิม 177 กม. /ชม. ซึ่งคลาดเคลื่อนจากเป็นจริง คือ 76 กม. /ชม. ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของนายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจ้อมเกล้า พระนครเหนือ ในรายงานของกมธ.ที่เสนอไปให้อัยการ คือ 79 กม. /ชม.

ส่วนประเด็นที่สังคมคาใจว่าเหตุใดผ่านไป 7 ปี 2 พยานใหม่เพิ่งปรากฎตัว เนื่องจากพยานเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองซึ่งเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือได้ ซึ่งที่แรกเห็นเหตุการณ์แต่ไม่อยากยุ่ง แต่เมื่อเหตุการณ์เริ่มบานปลายจึงเข้าให้ข้อมูล ส่วนที่กมธ.ถึงเรียกพยาน2ปาก ซึ่งอัยการตีตกพยานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2555 แล้ว เป็นเพราะมีการกล่าวอ้างชื่อในคำร้องของนายวรยุทธว่าการไม่ฟังพยาน2ปากนี้ ถือว่าไม่ชอบด้วยกฏหมายและไม่เป็นธรรม

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า นายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความประจำตระกูลอยู่วิทยา อดีต ส.ว. และอดีตที่ปรึกษากมธ.การยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา ชุดเดียวกับ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้ดำเนินการยื่นเรื่องต่อ กมธ.กฏหมาย สนช. ซึ่งมีพล.ร.อ.ศิษฐวัชร เป็นประธานนั้น เท่าที่ทราบ นายธนิต บัวเขียว คือทนายความที่รับมอบอำนาจให้มายื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ส่วนจะเป็นตัวแทนนายสมัครหรือไม่ ไม่ทราบ ตั้งแต่ตนเป็นกมธ.ยืนยันไม่เคยเจอนายสมัคร และนายสมัครไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยว

ป้อง “วงษ์สุวรรณ” อย่าจินตนาการ

ขณะที่ สภาพของรถที่หลายคนสันนิษฐานว่า เสียหายมากกว่าความเร็วที่76กม./ชม.นั้น จากรายงานให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องมวลของรถเฟอร์รี่ที่หนัก และรถมอเตอร์ไซค์มีมวลรถที่เบา ถามต่อว่า หากวิ่งด้วยความเร็วดังกล่าวแล้วเหตุใดนายวรยุทธถึงมองไม่เห็น และลากร่างผู้เสียชีวิตถึง 200 เมตรมีการสันนิษฐานเป็นสองประเด็น คือ รถเบรกแล้วแต่ไม่มีรอยหรือมีความเป็นไปได้ว่าไม่เบรก ส่วนเรื่องยาเสพติดในตัวนายวรยุทธไม่มีการร้องเรื่องนี้เข้ามา กมธ.จึงไม่ได้มีการตรวจสอบ

ส่วนมีการโยงไปถึง พล.ร.อ.ศิษฐวัชร ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นการจินตนาการอย่าไปผูกโยงว่าคนตระกูลนี้ผิดไปหมด มันไม่ใช่ ถ้าเขาไม่ทำตามอำนาจหน้าที่ ก็อย่าเหมารวม เพราะมันไม่เป็นธรรม

กมธ.กม.เชิญเรียกสอบตร.-อัยการ

วันเดียวกัน นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎมาย กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ.กฎหมาย ได้เชิญ พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร จเรตำรวจ ผู้ช่วย ผบ.ตร. 2 ท่าน และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำสำนวนเรื่องนี้ ส่วนของอัยการได้ประสานทางโทรศัพท์ ทราบว่า รองอัยการสูงสุด รับปากจะมาชี้แจงด้วยตนเอง

เมื่อถามว่า จะมีการเรียกพยายนที่ปรากฏในภายหลัง 7 ปีผ่านไปแล้ว มาให้ข้อมูลด้วยหรือไม่ นายสิระ กล่าวว่า ประเด็นนี้ก็ต้องมีการสอบถามกันในการประชุมกมธ. สัปดาห์หน้าก่อน

อย่างไรก็ตาม มองว่าการที่พยานมาเพิ่มในภายหลัง ถือว่าผิดปกติ แต่ตนก็ต้องขอดูว่าพยานเกิดตอนไหน ยืนยันว่ากมธ. จะเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด

ตร.ปัดตอบปมพบสารแปลกปลอม

ขณะที่การประชุม กมธ. พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผบก.สภ.สมุทรปราการ อดีตผกก.สน.ทองหล่อ ชี้แจงว่า เรื่องรายงานการตรวจสารแปลกปลอมในร่างกายนายวรยุทธอยู่ในสำนวนตำรวจที่ส่งให้อัยการครบถ้วน แต่เหตุที่ไม่มีการสั่งฟ้องในข้อหานี้ เพราะเป็นดุลยพินิจของคณะพนักงานสอบสวนหลายคน รายละเอียดเหล่านี้ขอไปชี้แจงต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สตช.ตั้งขึ้น

ด้านนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี ในฐานะคณะทำงานของอัยการสูงสุด ตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ กล่าวว่า เรากำลังดูโดยละเอียด เราไม่ได้สอบเพื่อปกป้องคนสั่งแต่เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประชาชน อัยการสูงสุดให้ไปดูว่าการสั่งคดีมีเหตุผลอย่างไรและมีกฎหมายรองรับหรือไม่ จึงไม่ต้องห่วงว่าจะมีการปกป้องใคร