หนังเล่าโลก: Made in China

หนังเล่าโลก: Made in China

หลายคนคงเคยประสบปัญหาเปิดช่องเน็ตฟลิกซ์ไล่ดูรายชื่อหนังที่จะเปิดดูให้เพลิดเพลินใจ ไล่จนหมดแล้วยังไม่พบหนังถูกใจ แต่ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าคุณไปเจอหนังชื่อ Made in China แล้วพบว่า มันคือหนังอินเดีย!!!

ก็สองมหาอำนาจเอเชียที่มีพรมแดนติดกันยาวเหยียดนี้ถูกกันซะที่ไหน เมื่อฝ่ายหนึ่งพาดพิงอีกฝ่ายหนึ่งด้วยภาพยนตร์ ย่อมน่าสนใจติดตาม

Made in China ออกฉายในปี 2562 เปิดเรื่องด้วยนายพลเจิ้ง นายพลคนสำคัญของจีน เดินทางไปร่วมงาน “คุชราตตระการตา” งานแสดงวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ ที่เมืองอาห์เมดาบัด รัฐคุชราตของอินเดีย หลังชมงานเขากลับเสียชีวิตปริศนาในโรงแรม การที่นายพลใหญ่มาดับคาโรงแรมย่อมส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตำรวจอินเดียเร่งสอบสวนพบว่า ก่อนสิ้นใจนายพลเจิ้งได้รับประทาน “ซุปมหัศจรรย์” (Magic Soup) สินค้าจากบริษัทของ ราฆุ นักธุรกิจหนุ่มผู้มีความฝัน มีไอเดียเจ๋งขายสินค้ามาแล้วมากมาย ทั้งแตงโมทรงลูกบาศก์ เครื่องทำแผ่นโรตีสำเร็จรูป ฯลฯ แต่ก็แป้กทุกอย่าง ต้องกลับมาขายพรมเนปาลเหมือนเดิม ทว่า...เขาไม่เคยทิ้งความฝันการเป็นผู้ประกอบการ โดยมี “อภัย โชปรา” ไลฟ์โค้ชคนดังเป็นไอดอล 

เนื้อเรื่องเริ่มต้นจากตำรวจสอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง สาวไปถึงธุรกิจซุปมหัศจรรย์ของราฆุ ที่ต้องสงสัยว่า อาจมีส่วนผสมของ “อวัยวะเพศเสือสกัด” นำเข้าจากประเทศจีน เพราะธุรกิจนี้ราฆุได้ร่วมมือกับนักธุรกิจใหญ่แดนมังกร ที่เบื้องหลังคือพ่อค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

159607433538

กระบวนการเล่าเรื่องผ่านการสอบปากคำและสืบสวนของตำรวจอินเดีย ชวนให้จินตนาการถึงขบวนการค้าสัตว์ป่าที่อ่านข่าวต่างประเทศทีไร ต้องสรุปตรงกันว่าการลักลอบค้าสัตว์ป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่นๆ ล้วนทำไปเพื่อป้อนตลาดจีน

เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ของพญามังกรโดยเฉพาะในยุคที่โควิด-19 ระบาด ต้นตอมาจากตลาดอาหารทะเลหัวหนานในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ที่ไม่ได้ขายอาหารทะเลอย่างเดียว แต่ขายเนื้อสัตว์ปีกและสัตว์ป่าด้วย

เว็บไซต์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ รายงานเมื่อต้นเดือน มี.ค.ว่า จีนค้าและบริโภคสัตว์ป่ามาหลายร้อยปีแล้ว ใช้สัตว์ในทุกๆ สิ่งตั้งแต่ยาจีนแผนโบราณไปจนถึงวิจัยในห้องทดลอง ตั้งแต่เสื้อผ้าขนสัตว์ไปถึงอาหาร แต่เมื่อโควิดระบาด ทางการจีนก็มิได้นิ่งนอนใจ สำนักจัดการป่าและทุ่งหญ้าแห่งชาติ ยึดสัตว์ป่า 39,000 ตัว กวาดล้างสถานที่กว่า 350,000 แห่ง เช่น ร้านอาหารและตลาดค้าสัตว์ 

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 26 ม.ค. เกือบๆ 1 เดือนหลังพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จีนสั่งห้ามค้าขายสัตว์ป่าทุกชนิดทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว เปิดสายด่วน 12315 ให้ประชาชนโทรมาแจ้งเบาะแส ความเคลื่อนไหวนี้ได้รับการยกย่องจากองค์กรคุ้มครองสัตว์ป่านานาชาติ ต่อมาในวันที่ 24 ก.พ. คณะกรรมการถาวรสภาประชาชนแห่งชาติ (เอ็นพีซี) ออกกฎหมายห้ามการลักลอบค้าหรือรับประทานสัตว์ป่า

จริงๆ แล้วการค้าสัตว์ป่าและโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์เกิดขึ้นได้ทั่วโลก ดูอย่างโรคอีโบลาที่ระบาดบ่อยครั้งในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตกมาจากค้างคาวสู่ลิงตระกูลไพรเมตส์แล้วมาสู่คน โรคเมอร์สในซาอุดีอาระเบียมาจากค้างคาวสู่อูฐแล้วมาสู่คน ในสหรัฐก็เคยมีอีโบลาระบาดจากลิงนำเข้าในศูนย์วิจัยไพรเมตส์

ปีเตอร์ ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายจาก Humane Society International องค์กรส่งเสริมความผูกพันระหว่างมนุษย์กับสัตว์เผยว่า

“การระบาดไม่ใช่เรื่องเฉพาะวัฒนธรรมหรือกลุ่มชาติพันธุ์ มีสาเหตุมาจากการนำสัตว์หลายสายพันธุ์จำนวนมากๆ มาอยู่ในที่ใกล้ชิดกัน ปะเหมาะเคราะห์ร้ายไวรัสรวมกันได้พอดี โรคระบาดใหญ่จึงเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้”

ย้อนกลับไปที่ Made in China จะว่าไปแล้วหนังเรื่องนี้ก็หักมุมพอสมควร จนอดคิดไม่ได้ว่า ในเมื่อทำออกมาแบบคนละเรื่องเดียวกันขนาดนี้ ทำไมต้องตั้งชื่อว่า Made in China แต่ก็พาลนึกขึ้นได้ว่า เมื่อกลางเดือน มิ.ย. ตอนที่จีนกับอินเดียปะทะกันอย่างรุนแรงในดินแดนแคชเมียร์ ครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี ชาวทวิตภพได้แชร์คลิปชื่อว่า So Sorry จากอินเดียทูเดย์ เผยแพร่ครั้งแรกบนยูทูบเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2560 แต่ก็ยังเข้ากับสถานการณ์ 

คลิปแอนิเมชันนี้ เป็นเรื่องราวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่มีพญามังกรไฟเป็นตัวช่วย ปะทะกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่มีพญาพยัคฆ์เป็นสมุนคู่ใจ ทั้งสองห้ำหั่นกันอย่างไม่มีใครยอมใคร แต่สุดท้ายประธานาธิบดีสี ก็เป็นฝ่ายปราชัยไปแบบปลาตายน้ำตื้น (อย่าลืมว่าคลิปนี้ทำโดยอินเดีย) ส่วนจะเป็นสาเหตุอะไรนั้นผู้เขียนไม่อยากสปอยล์คลิป ไปหาชมกันได้จากยูทูบ แล้วจะได้คำตอบว่า ทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ (ที่เป็นภาพยนตร์อินเดีย) จึงต้องตั้งชื่อว่า Made in China