‘5 โจทย์ใหญ่’ ท้าทาย ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าฯธปท. คนที่ 21

‘5 โจทย์ใหญ่’ ท้าทาย ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าฯธปท. คนที่ 21

ชัดเจนแล้วว่า “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” คือ “ว่าที่” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) “คนใหม่”

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วานนี้(29ก.ค.) เห็นชอบให้ “เศรษฐพุฒิ” ดำรงตำแหน่ง “ผู้ว่าการธปท.” ต่อจาก “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธปท. คนปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะครบวาระในสิ้นเดือนก.ย.นี้

โดย “เศรษฐพุฒิ” ถือเป็นผู้ว่าการธปท. คนที่ 21 ลำดับที่ 24 เตรียมเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ต.ค.2563

...เชื่อว่าไม่มีใคร “ปฏิเสธ” ความเก่งของ “เศรษฐพุฒิ”  เพราะเขา คือ “เทคโนแครต” คนสำคัญของยุคนี้ 

“เศรษฐพุฒิ” ถือเป็นหนึ่งใน “นักเศรษฐศาสตร์” แถวหน้าของเมืองไทย แม้ปัจจุบันจะมีอายุเพียง 55 ปี แต่เขานับเป็นบุคคลสำคัญที่รัฐบาลไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย มักเรียกใช้บริการเขาในฐานะ “ที่ปรึกษาเศรษฐกิจ” ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

หลายคนพอจะทราบประวัติของ “เศรษฐพุฒิ” มาบ้างแล้ว เพราะเขา คือ หนึ่งในขุนพลที่กอบกู้เศรษฐกิจไทยจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 มาพร้อมๆ กับ “วิรไท” และยังเป็นหนึ่งในทีมเฝ้าระวัง “เสถียรภาพ” เศรษฐกิจและระบบการเงินของไทย ผ่านการเป็น คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ “กนง.” ของ ธปท. มากว่า 6 ปี 

มาวันนี้ “เศรษฐพุฒิ” ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ผู้ว่าการธปท.” คนใหม่ จึงเชื่อว่า เขาสามารถสานต่อการดำเนินนโยบายการเงินจากผู้ว่าการธปท.คนปัจจุบันได้แบบไร้รอยต่อ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ถือเป็น “ความยาก” และเป็น “โจทย์ที่ท้าทาย” ยิ่งกว่าในยุคที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เพราะ “วิกฤติโควิด” กำลังทำให้โลกใบนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

ทีมข่าว “กรุงเทพธุรกิจ” มีความเห็นว่า ในระยะข้างหน้าสิ่งที่ผู้ว่าการธปท.คนใหม่ต้องเผชิญมีอย่างน้อย 5 โจทย์ใหญ่ 

โจทย์แรก คือ “วิกฤติเศรษฐกิจ” จากพิษโควิด ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “มหาวิกฤติ” ที่เลวร้ายไม่น้อยไปกว่า The Great Depression หรือ เหตุการณ์ที่ “เศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่” เมื่อปี 2472 ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำเอาเศรษฐกิจโลก “ซึมยาว”กว่า 10 ปี

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะ “หดตัว” ราว 4.9% ขณะที่ ธปท. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะ “ติดลบ” ประมาณ 8.1% หนักกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่ “จีดีพี” ในปี 2541 ติดลบ 7.6%

ความท้าทายของ ผู้ว่าการธปท. คนใหม่ จึงอยู่ที่จะวาง “นโยบายการเงิน” อย่างไร เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทย “ฟื้นตัว” ได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญต้องเป็นการฟื้นตัวแบบ “แข็งแกร่ง” ไร้ความเปราะบาง เพราะไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจย่อมกลับเข้าสู่วิกฤติอีกรอบในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ หลายคนมั่นใจว่า “การฟื้นตัว” ของเศรษฐกิจรอบนี้ แม้จะ “ไม่เร็ว” แต่ก็ “ไม่นาน” เหมือนสมัย  The Great Depression ที่ต้องใช้เวลาร่วม 10 ปี เพราะรอบนี้ “ธนาคารกลางทั่วโลก” โดยเฉพาะธนาคารกลางขนาดใหญ่ ต่างซึมซับบทเรียนจากวิกฤติเมื่อ 90 ปีก่อน 

...วิกฤติโควิดครั้งนี้ ธนาคารกลางใหญ่ๆ ทั่วโลก จึงทำในสิ่งที่ ธนาคารกลาง ในสมัยนั้นไม่ได้ทำ คือ การฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านมาตรการคิวอี

การดำเนินมาตรการ “คิวอี” ของหลายๆ ประเทศ จึงนำมาสู่โจทย์ใหญ่ “ข้อสอง” คือ นโยบายการเงินที่กำลัง “เพิ่ม” ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า “การฉีดเงิน” จำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ “คนส่วนใหญ่” ที่ได้ประโยชน์ คือ “คนกลุ่มบน” และ “ธุรกิจขนาดใหญ่” ดังนั้นโจทย์ใหญ่ข้อนี้จึงอยู่ที่ ทำอย่างไรไม่ให้ความเหลื่อมล้ำถ่างมากขึ้น

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ช่วงที่ธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ งัดมาตรการ “คิวอี” มาดูแลเศรษฐกิจ หวังพยุงไม่ให้ทรุดตัวจากวิกฤติซับไพรม์ หลายคนเชื่อว่า การพิมพ์เงินอย่างมโหฬาร จะทำให้กลุ่มคนรวยเสียประโยชน์ เพราะหมายความว่ามูลค่าความมั่งคั่งกำลังลดลงโดยเปรียบเทียบจากภาวะเงินเฟ้อ

แต่ในความเป็นจริงเงินที่ธนาคารกลางเหล่านี้พิมพ์ออกมา ส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้กับ “บริษัทขนาดใหญ่” หรือ “บริษัทที่มีศักยภาพ” เพื่อนำเงินเหล่านี้ไปต่อยอดธุรกิจ ในขณะที่ ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือ “เอสเอ็มอี” มักเป็นรายท้ายๆ ที่จะเข้าถึงทรัพยากรดังกล่าว 

นอกจากนี้ เงินจำนวนไม่น้อยที่ ธนาคารกลางเหล่านี้ปล่อยออกมา ถูกนำไปใช้ลงทุนผ่านตลาดการลงทุนต่างๆ โดยจะเห็นได้ว่า ตลาดสินทรัพย์การลงทุนทั่วโลกต่างปรับตัวขึ้นร้อนแรงสวนทางภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดลงอย่างหนัก การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์เหล่านี้ กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์เต็มๆ คือ คนชั้นกลาง-บน ที่มีศักยภาพ มีกำลังเงินเหลือพอที่จะเข้าไปลงทุน

แน่นอนว่า ปัญหาในข้อนี้ กำลังนำไปสู่โจทย์ท้าทาย “ข้อสาม” คือ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแบบกระจุก หากยังจำกันได้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเมื่อปี 2560 ก่อนที่ “สหรัฐ” และ “จีน” จะระเบิดศึกสงครามการค้า เศรษฐกิจไทยช่วงเวลานั้นฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่เป็นการฟื้นตัวจาก ภาคต่างประเทศ ทั้ง “การส่งออก” และ “การท่องเที่ยว” ซึ่งก็ได้อานิสงส์จากมาตรการคิวอีของโลก กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคราวนั้น จึงอยู่ในวงจำกัดแค่ธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจในภาคบริการเท่านั้น ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้รับรู้ว่าเศรษฐกิจดีขึ้น

ส่วนเศรษฐกิจกลุ่มฐานราก เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่อยู่ใน “ภาคเกษตร” ยังไม่ทันที่เศรษฐกิจในกลุ่มนี้จะฟื้นตัว เศรษฐกิจไทยก็เริ่มเผชิญวิบากกรรมจากสงครามการค้า จนกระทั่งมาเจอพิษโควิดในท้ายที่สุด ในระยะข้างหน้าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไม่มั่นคง “คนกลุ่มนี้” ก็ยังคง “ไร้อานิสงส์” จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจที่ฟื้นได้จากมาตรการคิวอี มักฟื้นจากเศรษฐกิจกลุ่มบนหรือธุรกิจขนาดใหญ่ 

โจทย์ใหญ่ “ข้อสี่” คือ “กับดักสภาพคล่อง” นับเป็นโจทย์ที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังปวดหัวในขณะนี้ เพราะการฉีดเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมาก ทำให้สภาพคล่องทั่วโลกล้นระบบ แต่สภาพคล่องเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ 

สาเหตุเพราะท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ธนาคารพาณิชย์ “ไม่กล้า” ปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจมากนัก เพราะกลัวปัญหาหนี้เสียที่อาจตามมาในระยะข้างหน้า ส่วนบริษัทที่พอมีศักยภาพก็ไม่ได้ต้องการสินเชื่อ เพราะมองไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องลงทุนเพิ่มในสถานการณ์แบบนี้ ดังนั้นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่ ผู้ว่าการธปท. คนใหม่ต้องคิด คือ จะทำยังไงให้สภาพคล่องเหล่านี้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

สุดท้าย คือ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ข้อนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของ “อนาคต” เศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า เพราะในอนาคตหนีไม่พ้นที่ทุกภาคส่วนของธุรกิจจะเกี่ยวพันกันบนโลกดิจิทัลหรือโลกออนไลน์ “นโยบายต่างๆ” ของ ธปท. จำเป็นต้อง “ก้าวให้ทัน” กับการเปลี่ยนแปลง กฎระเบียบที่จะนำมาใช้ดูแลมีความสำคัญมาก เพราะจะบอกถึงอนาคตเศรษฐกิจไทยว่าจะก้าวเดินอย่างไร บนโลกที่หมุนเข้าสู่ยุคที่ทุกอย่างอยู่บนออนไลน์

ทั้งหมดนี้ คือ ความท้าทายที่ “เศรษฐพุฒิ” ในฐานะผู้ว่าการธปท.คนใหม่ ต้องเผชิญ!