สปสช.พบเพิ่ม 5 คลินิกทันตกรรม ทุจริตเงินกองทุนบัตรทอง

สปสช.พบเพิ่ม 5 คลินิกทันตกรรม ทุจริตเงินกองทุนบัตรทอง

สปสช.เร่งขยายผลตรวจสอบ พบเพิ่ม “5 คลินิกทันตกรรม” ทุจริตงบส่งเสริมป้องกันโรค กองทุนบัตรทอง พร้อมเร่งเอาผิด 18 คลินิกเอกชน ประสาน สบส. กองปราบปราม ดีเอสไอ ลงพื้นที่ตรวจสอบอายัดเอกสารหลักฐาน

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าว “ความคืบหน้า สปสช.เร่งดำเนินการเอาผิดหน่วยบริการทุจริตเงินบัตรทอง”

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ตามที่ระบบการตรวจสอบปกติของ สปสช. โดย สปสช.เขต 13 กทม. พบการจัดทำเอกสารหลักฐานเท็จเพื่อเบิกเงินค่าบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มของโรคเมตาบอลิก จาก “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “กองทุนบัตรทอง” ปีงบประมาณ 2562 ในคลินิกเอกชน 18 แห่ง ที่ผ่านมา สปสช.ได้เร่งเอาผิดทุกช่องทางตามกฎหมายแล้ว ซึ่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับให้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนและจัดการกับผู้ที่โกงเงินงบประมาณชาติโดยเร็ว โดย สปสช.ได้เดินหน้าเอาผิดทุกช่องทาง ทั้งยกเลิกสัญญาทันทีพร้อมเรียกเงินคืน แจ้งความคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกง คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อเตรียมฟ้องร้องคดีแพ่งเพิ่มเติม และดำเนินการทางจรรยาบรรณวิชาชีพ แล้ว

ต่อมา สปสช. ตรวจสอบเพิ่มเติมพบคลินิกทันตกรรมอีก 2 แห่ง เบิกจ่ายทุจริตงบบัตรทองลักษณะเดียวกันนี้ โดยมีห้องปฏิบัติการ (Lab) 2 แห่ง สมรู้ร่วมคิดปลอมแปลงเอกสารหลักฐานทุจริต โดย สปสช. ได้เข้าแจ้งความคดีอาญาที่กองบังคับการปราบปรามแล้วเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 และวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 พร้อมกันนี้ในส่วนคลินิกเอกชน 18 แห่ง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 สปสช.ได้มอบเอกสารหลักฐาน อาทิ เอกสารสรุปประเด็นความผิด ประเภทความผิด วันและเวลาที่กระทำความผิดโดยการปลอมแปลงเอกสารหลักฐานเป็นเท็จ เพื่อเบิกค่าบริการเพิ่มเติมแห่งละประมาณ 50 ฉบับ ให้กองบังคับการปราบปรามเพิ่มเติม เพื่อความสมบูรณ์ของเอกสารหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมาย

“ในการเร่งเอาผิดกับคลินิกเอกชนทุจริตเงินบัตรทอง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา สปสช.ได้ประชุมร่วม 3 หน่วยงาน คือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปราบปราม เพื่อหารือถึงการดำเนินการกับหน่วยบริการทุจริตงบบัตรทอง และวันนี้ (29 ก.ค. 63) ทั้ง 3 หน่วยงานได้ร่วมลงพื้นที่คลินิกทันตกรรม 2 แห่ง และห้องปฏิบัติการ (lab) 2 แห่ง เพื่ออายัดเอกสารหลักฐานพร้อมคอมพิวเตอร์ เพื่อนำมาตรวจสอบตามที่ สปสช.ได้แจ้งเบาะแส พร้อมตรวจสอบบัญชีและธุรกรรมการเงิน ค้นหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับความผิด” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนการขยายผลสุ่มตรวจหน่วยบริการเบิกจ่ายค่าบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มของโรคเมตาบอลิก ครั้งที่ 1 จำนวน 86 แห่ง พบการเบิกจ่ายข้อมูลไม่ถูกต้อง 63 แห่ง สปสช.จึงขยายการตรวจสอบแบบ 100% พร้อมอายัดเอกสารการบริการและเบิกจ่ายของคลินิกทั้ง 63 แห่ง เมื่อวันที่ 20-24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้เอกสารมากกว่า 5 แสนฉบับ ขณะนี้ สปสช. ได้ระดมเจ้าหน้าที่เพื่อเร่งตรวจสอบแล้ว ทั้งนี้ต่อมา สปสช.ขยายผลตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 2 พบเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ซึ่งเป็นคลินิกทันตกรรม รวมเป็น 66 แห่ง เมื่อรวมกับการตรวจสอบที่พบก่อนหน้านี้ 20 แห่ง เท่ากับ สปสช.ตรวจสอบพบหน่วยบริการเบิกจ่ายข้อมูลเป็นเท็จทั้งสิ้น 86 แห่ง แยกเป็นโรงพยาบาลเอกชน 8 แห่ง, คลินิกเอกชน 73 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 5 แห่ง ซึ่ง สปสช. จะนำเอกสารหลักฐานดังกล่าวยื่นต่อกองบังคับการปราบปรามและกรมสอบสวนคดีพิเศษต่อไป

“ในการตรวจสอบ สปสช. ได้ระดมเจ้าหน้าที่ สปสช.จากเขตต่างๆ กว่า 300 คน มาตรวจสอบเวชระเบียนหรือบันทึกการรักษาว่าตรงตามการรายงานในระบบหรือไม่ โดยได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่มีวันหยุดราชการ ซึ่งมีเอกสารเกี่ยวข้องขณะนี้มีมากกว่า 7 แสนฉบับ ต้องใช้ระยะเวลาในกระบวนการตรวจสอบอย่างมาก” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ด้าน นพ.การุณย์ กล่าวถึงการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาคลินิกเอกชน 18 แห่ง ในระบบบัตรทองว่า สปสช. ได้จัดหาหน่วยบริการประจำแห่งใหม่ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 9 กรกฎาคม 2563 และได้เข้าพบ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เพื่อประสานความช่วยเหลือในการจัดหาหน่วยบริการรองรับประชาชน ซึ่งท่านยินดีให้ความช่วยเหลือเต็มที่ รวมถึงการดูแลประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากหน่วยบริการที่ สปสช. จะยกเลิกสัญญาเพิ่มเติมหากพบทุจริต ขณะเดียวกันได้ประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ ร่วมจัดหน่วยบริการรองรับประชาชนในส่วนนี้เช่นกัน โดยเป็นไปตามข้อหารือที่ได้จากการประชุมคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข.กทม.)

สำหรับแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต สปสช.ได้วางระบบป้องกันก่อนการเบิกจ่ายและหลังการเบิกจ่าย โดยเมื่อเริ่มต้นบริการได้เพิ่มในเรื่อง Digital Identification เพื่อพิสูจน์ตัวตนผู้รับบริการก่อน เช่น เสียบบัตรสมาร์ทการ์ด หรือพิสูจน์ตัวตนออนไลน์ ให้ผู้รับบริการขอรหัสการบริการจาก สปสช. ยืนยันตัวเองก่อน ส่วนกรณีรายการที่มีค่าใช้จ่ายสูงจะมีกระบวนการ pre-authorization และ pre-audit รวมทั้งจะนำระบบ AI มาช่วยตรวจสอบ และเมื่อให้บริการแล้วหน่วยบริการจะส่งเอกสารหลักฐานเบิกจ่ายมาที่ สปสช. ซึ่ง สปสช.จะดำเนินการตรวจสอบตามระบบ