รัฐแจกทุน ‘1แสนบาท’ ติดอาวุธ ‘เอสเอ็มอี’ บริหารค่าเงิน

 รัฐแจกทุน ‘1แสนบาท’  ติดอาวุธ ‘เอสเอ็มอี’ บริหารค่าเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับ สสว. ธสน. สมาคมธนาคารไทย สถาบันธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจ ร่วมกันจัดทำโครงการ “ส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและสนับสนุน SME ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ”

“วชิรา อารมณ์ดี” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. ระบุว่า  จุดประสงค์หลักในการเคี่ยวเข็ญโครงการนี้ต่อเนื่อง หลักๆ ก็เพื่อต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยง จากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นและเพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนให้เอสเอ็มอี ให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้ง่ายขึ้น 

โดยเฉพาะภายใต้ทิศทางค่าเงินบาทที่ผันผวน คาดการณ์ทิศทางไม่ได้ การบริหารความเสี่ยงจากค่าเงินจึงถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจและบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น 

“ปกติเราคาดหวังการเข้าร่วมโครงการนี้ ในทุกเฟสปีละ 5,000 ราย แต่ก็ไม่ถึง เพราะอาจมีปัญหาการสื่อสาร ช่องทางอบรมที่ไม่เอื้อ แต่เราเชื่อว่าเฟสนี้ จะทำให้คนเข้าถึงโครงการได้เพิ่มขึ้น ความคาดหวังเราเฟสนี้เราอยากเห็น ผู้ประกอบการเข้าร่วม 3-4 พันคน"

      สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทในครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้น จากความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่สูง ทั้งจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากโควิด-19 ว่าจะกลับมาระบาดรอบสองหรือไม่ ดังนั้น ธปท.จึงมีการติดตามค่าเงินบาทใกล้ชิด ส่วนค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาผันผวนสูง ทั้งแข่งค่าอ่อนค่า ไม่สามารถคาดการณ์ค่าเงินบาทได้ ซึ่งไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐานของไทยโดยตรง แต่มาจากการคาดการณ์ของนักลงทุนที่ทำให้บาทผันผวน ดังนั้นเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่ธปท.ดูแลได้ คือ เข้าไปดูแลไม่ให้ค่าเงินผันผวนเร็วจนเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ 

“สำหรับความคืบหน้าการคุยกับผู้ค้าทอง หรือเทรดเดอร์ทองคำ คาดว่าปีนี้จะมีความชัดเจน เกี่ยวกับแนวทางการที่ให้เทรดเดอร์เหล่านี้ค้าขายทองคำด้วยสกุลเงินดอลลาร์ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง”

ชนะ บุณยะชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธสน. บอกว่า  โครงการ FX options ที่ผ่านมา 2 โครงการ ตั้งแต่ปี 2560-2562 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้ว 4.3 พันราย  ขณะที่เฟสที่ 3 นี้ มีการขยายสิทธิพิเศษ โดยสนับสนุนค่าธรรมเนียมในการทดลองทำประกันค่าเงินบาทเป็น 80,000 บาท จาก 50,000 ในเฟส 2 เพื่อให้ผู้ประกอบการซื้อประกันความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น และให้อีก 20,000 บาทต่อกิจการ ซึ่งเป็นวงเงินสนับสนุนค่าธรรมเนียมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อลดภาระ การโอนเงิน การเปิด L/C ฯลฯ ให้ผู้ประกอบการ  รวมวงเงินสนับสนุนต่อราย 100,000 บาท 

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า เอสเอ็มอีในระบบพบว่ามีจำนวน 3 ล้านราย ขณะเดียวกัน จากการสำรวจพบว่ามีผู้ประกอบการนอกระบบอีกราว 5-9 ล้านราย ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจมาก ดังนั้นเชื่อว่า โครงการนี้ จะเป็นเครื่องมือในการช่วยเอสเอ็มอีให้สามารถลดต้นทุน และลดผลกระทบที่มีต่อธุรกิจได้ในระยะข้างหน้า

ขณะที่ กอบศักดิ์ ดวงดี  เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการทำหลายโครงการเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีและประชาชน ให้เข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต่อยอดดิจิทัลแบงกิ้ง ดิจิทัลเพย์เมนท์ โครงการพร้อมเพย์ การสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน การสร้างทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) เพื่อลดปัญหาหนี้สินในครัวเรือน รวมถึงเครื่องมือในการช่วยผู้ประกอบการในการลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เช่น FX Hedging เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกธนาคารให้ความสำคัญ และพร้อมให้ความรู้สำคัญผู้ประกอบการในการลดความผันผวนค่าเงินบาทได้ 

กิตติยา โตธนเกษม ผู้อำนวยการ สถาบันธนาคารไทย กล่าวว่า อุปสรรคของเอสเอ็มอีที่ผ่านมา คือภาระต้นทุน และการเข้าถึงโครงการ ที่อดีตผู้ประกอบการอาจมีความไม่พร้อมในการเดินทางเพื่อมาอบรม ซึ่งโครงการนี้ได้เปิดให้มีการอบรมผ่าน ออนไลน์ และ e- learning ที่จะเป็นทางเลือกเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้ามาอบรมมากขึ้น และให้เอสเอ็มอีใช้เป็นอาวุธในการช่วยทำธุรกิจในอนาคตได้

สำหรับหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ ส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และสนับสนุนSME ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ ครั้งนี้ สามารถลงทะเบียนอบรมสัมมนา ได้ฟรี ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.2563 เป็นต้นไป