'วิชา มหาคุณ' ของแสลง 'ตำรวจ-นักการเมือง'

'วิชา มหาคุณ' ของแสลง 'ตำรวจ-นักการเมือง'

เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก สำหรับการที่จะมีองค์กรถึง 3 องค์กรตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาในเรื่องเดียวกัน

 ภายหลังนายกรัฐมนตรี อัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งขึ้นมาตรวจสอบการพิจารณาคดี วรยุทธ อยู่วิทยาหรือ บอส อยู่วิทยา’ พร้อมกัน

แน่นอนว่า หน่วยงานที่ทัวร์ลงมากที่สุดหนีไม่พ้น ‘อัยการ-ตำรวจ’ เพราะฝ่ายหนึ่งมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี ที่นำมาสู่คำถามมากมาย ส่วนอีกฝ่ายในฐานะเจ้าของคดีสอบสวนมาตั้งแต่ต้น กลับไม่ได้ทำความเห็นแย้ง เพื่อขอให้อัยการทบทวนการไม่สั่งฟ้องคดี

ในแง่มุมทางกฎหมาย จะถือว่าจบแล้วก็คงไม่ผิดนัก เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 145/1 แม้จะเปิดทางให้ผู้บัญชาการตำรวจโดยตำแหน่งสามารถทำเรื่องโต้แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อขอให้อัยการทบทวนคำสั่งไม่ฟ้องคดี แต่เมื่อตามข่าวที่ออกมาปรากฏว่า ผู้นำสีกากีตัดสินใจไปแล้วก็ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

เหลือแต่เพียงการตามล้างตามเช็ดว่า การทำความเห็นของอัยการและการไม่โต้แย้งของตำรวจชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น และคนที่จะเข้ามาตามเช็คบิล คงไม่มีใครเหมาะไปกว่า วิชา มหาคุณอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

‘วิชา มหาคุณ’ ถูกเชิญจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

อำนาจของคณะกรรมการชุดนี้ ย่อมไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของอัยการ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของกระบวนการยุติธรรมได้ เนื่องจากทำได้แต่เพียงการรวบรวมข้อเท็จจริงและชี้พิรุธให้เห็นว่า การดำเนินการสอบสวนคดีนี้มีความผิดปกติอย่างไร และส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจเท่านั้น 

ซึ่งที่ผ่านมาอาจารย์วิชาก็ไม่เคยทำให้สังคมผิดหวัง แต่อาจไม่เป็นที่ชอบของฝ่ายผู้พิทักษ์สันติราษฎร์สายสีเทาเท่าใดนัก

หากยังจำกันได้ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการทำคดีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ทำให้บรรดาบิ๊กรัฐบาล และบิ๊กตำรวจหลายคน หนึ่งในนั้น คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วก่อนที่ศาลจะยกฟ้องในเวลาต่อมา

ไม่เพียงแต่จะชนกับตำรวจเฉพาะคดีสลายการชุมนุมเท่านั้น แต่ยังเข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช.ในคดีการก่อสร้างสถานีตำรวจด้วย ซึ่งมี ‘สุเทพ เทือกสุบรรณอดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา

ชื่อของอาจารย์วิชา เป็นที่หวาดผวาพอสมควร ถึงขนาดที่สุเทพต้องร้องขอความเป็นธรรมให้ป.ป.ช.เปลี่ยนตัวประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนมาแล้ว โดยอ้างว่าอาจารย์วิชามีอคติ

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ชื่อของ วิชา มหาคุณเป็นที่รู้จักของสังคมเป็นอย่างดี คือ การเข้ามาทำคดีทุจริตจำนำข้าว จนสามารถนำไปสู่การนำ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรีต้องขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นกัน

นอกเหนือไปจากผลงานด้านการไล่ล่าและปราบปรามการทุจริตแล้ว งานด้านวิชาการ ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน เพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่มี ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ เป็นประธานได้เชิญเข้ามาเป็นที่ปรึกษา กรธ. เพื่อเข้ามาดูและการจัดทำกฎหมายปราบทุจริตอย่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เนื่องจากเวลานั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ ประกอบกับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงตามเจตนารมณ์ของ กรธ. จึงจำเป็นต้องได้มืออาชีพเข้ามาออกแบบกฎหมายปราบทุจริตฉบับใหม่ และเป็นอีกครั้งที่อาจารย์วิชาไม่ทำให้ผิดหวัง ซึ่งกฎหมายฉบับปัจจุบันนำมาสู่การเอาผิดนักการเมืองและข้าราชการได้เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น การเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ของ วิชา มหาคุณจึงได้เกิดเสียงตอบรับในทางบวกจากหลายฝ่าย ไม่เว้นแม้แต่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ด้วยเหตุนี้อีก 30 วันนับจากนี้ บรรดาบิ๊กตำรวจหรือใครที่เกี่ยวข้อง อาจอยู่ไม่เป็นสุขแน่นอน