SCG หวั่นวิกฤติโควิดลากยาวเกิน 1 ปี บริหารเสี่ยงระดับเลวร้ายที่สุด

SCG หวั่นวิกฤติโควิดลากยาวเกิน 1 ปี  บริหารเสี่ยงระดับเลวร้ายที่สุด

“เอสซีจี” เผยวิกฤติโควิดอยู่ยาวเกิน 1 ปี ประเมินเป้าธุรกิจได้ยาก บริหารความเสี่ยงระดับเลวร้ายสุด ปรับตัวให้รวดเร็ว มั่นใจธุรกิจแพ็คเกจจิงไปได้ดี หวังลงทุนรัฐพยุงธุรกิจซีเมนต์ทรงตัว ลดเงินลงทุน 1-2 หมื่นล้านบาท

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจทุกขนาด รวมถึงบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมีและบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของไทย

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ยังไม่สามารถประเมินอัตราการขยายตัวของธุรกิจได้ และยังไม่อยากให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะโควิด-19 ในต่างประเทศน่าเป็นห่วง และการระบาดรอบ 2 ในไทยและภูมิภาคนี้ประเมินไม่ได้

ทั้งนี้ โควิด-19 ยังไม่จบและจะมีกระทบต่อเนื่อง โดยคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังอยู่กับเราอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี ดังนั้นเอสซีจีจึงให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงระดับเลวร้ายที่สุด เพื่อให้ปรับตัวและเตรียมแผนการรองรับได้ทันท่วงที ซึ่งครึ่งปีหลังยังมีความท้าทายของการระบาดโควิด-19 และการระบาดรอบ 2 ซึ่งเอสซีจีประเมินแต่ละธุรกิจ ดังนี้

1.ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ที่โครงการก่อสร้างของภาครัฐยังเดินหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เดินหน้าต่อ ส่วนการสร้างบ้านและคอนโดมิเนียมยังคงท้าทายและมีโครงการใหม่เกิดขึ้นจำกัด

2.ธุรกิจเคมิคอลส์ ต้องดูความต้องการของตลาดโลกและราคาน้ำมันดิบที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก 

3.ธุรกิจแพ็คเกจจิง ไปได้ตามแนวโน้มการอุปโภค บริโภคยังคงไปได้ดี แต่การส่งออกยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทาย

สำหรับงบลงทุนปี 2563 มีการประเมินในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาไว้ที่ 75,000 ล้านบาท แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้ลดเหลือ 55,000-65,000 ล้านบาท หรือลดลง 10,000-20,000 ล้านบาท โดยลดการลงทุนโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจขนส่ง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ยังลงทุนธุรกิจที่ยังเติบโต เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอุปกรณ์การแพทย์และคอนซูมเมอร์

ส่วนงบการเงินรวมของเอสซีจีในไตรมาส 2 ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 96,010 ล้านบาท ลดลง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง และเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าลดลง 9% เนื่องจากรายได้ของธุรกิจหลักลดลง

ในขณะที่กำไรงวดนี้อยู่ที่ 9,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลการดำเนินงานของธุรกิจหลักที่ดีขึ้น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการจัดการการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ และเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 35% จากไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานของธุรกิจเคมิคอลส์ที่ดีขึ้น

ผลประกอบการครึ่งปีแรก 2563 มีรายได้จากการขาย 201,751 ล้านบาท ลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง โดยมีกำไร 16,355 ล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลงในไตรมาสที่ 1 ปี 2563

ในช่วงครึ่งปีแรก 2563 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม 91,003 ล้านบาท คิดเป็น 45% ของยอดขายรวม และมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากไทยในครึ่งปีแรกของปี 2563 ทั้งสิ้น 86,638 ล้านบาท คิดเป็น 43% ของยอดขายรวม ลดลง 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ทั้งนี้ เมื่อแยกผลดำเนินการรายธุรกิจ พบว่าธุรกิจแพ็คเกจจิง ไตรมาส 2 ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 21,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 11% จากไตรมาสก่อนหน้า เพราะความต้องการสินค้าลดลงในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนความต้องการบรรจุภัณฑ์ของสินค้าอุปโภค-บริโภค เเละบรรจุภัณฑ์สำหรับอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น 

โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,904 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน จากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 

“ธุรกิจแพคเกจจิ้งยังแข็งแกร่งและมีศักยภาพโดดเด่นเพราะการควบรวมกิจการ เช่น PT Fajar Surya Wisesa Tbk. ผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซีย และ Visy Packaging (Thailand) Limited รวมถึงการวางแผนการลงทุนใน Bien Hoa Packaging Joint Stock Company หรือ SOVI ในเวียดนามจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเติบโต”

ธุรกิจเคมิคอลส์ ไตรมาส 2 ปีนี้ มีรายได้จากการขาย 34,758 ล้านบาท ลดลง 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าลดลง 9% เพราะราคาผลิตภัณฑ์ลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวดนี้ 4,564ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะราคาวัตถุดิบลดลง และเทียบไตรมาสก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 157% เพราะปริมาณขายและส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น 

ส่วนโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม ได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ โดยปัจจุบันได้ก่อสร้างไปแล้ว 45%

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ไตรมาส 2 ปีนี้ มีรายได้จากการขาย 42,506 ล้านบาท ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าลดลง 8% เพราะความต้องการของตลาดลดลงจากมาตรการปิดเมือง

ส่วนกำไรสำหรับงวดนี้ 1,944 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 211% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะการปรับประสิทธิภาพการผลิต และมีรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานในไตรมาส 2 ปีนี้ และเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าลดลง 30% เพราะมาตรการปิดเมือง ปัจจัยด้านฤดูกาลและขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ในไตรมาส 2 ปีนี้