สสว.เผยดัชนีเชื่อมั่น ‘เอสเอ็มอี’ มิ.ย. 63 ฟื้นตัว

สสว.เผยดัชนีเชื่อมั่น ‘เอสเอ็มอี’ มิ.ย. 63 ฟื้นตัว

สสว.เผยดัชนีเชื่อมั่น “เอสเอ็มอี” มิ.ย. 63 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย มีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ และมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ประจำเดือนมิ.ย.63 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค.63 ที่ระดับ 40.9 มาอยู่ที่ระดับ 49.3 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเข้าใกล้ค่าฐานระดับ 50 เป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นต้นมา สะท้อนภาพรวมภาวะธุรกิจ SME ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน

โดยเป็นผลจากการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 3 และ 4 ทำให้สถานประกอบการเกือบทั้งหมดเริ่มเปิดกิจการได้ และเกิดความคล่องตัวในการเดินทางภายในประเทศ และสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ในประเทศก็คลี่คลายลงอย่างมาก ทำให้ประชาชนดำเนินชีวิตและออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในทุกสาขาธุรกิจ และทุกภูมิภาค ทั้งนี้สาเหตุของดัชนีความเชื่อมั่นฯ เพิ่มขึ้น เนื่องจากองค์ประกอบด้านปริมาณการผลิต การค้าและบริการ คำสั่งซื้อ กำไร การลงทุน และการจ้างงาน ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.1,50.0,49.7,49.5 และ 48.4 ตามลำดับ

“แม้ว่าดัชนีฯจะปรับตัวดีข้นทุกภาคธุรกิจ แต่องค์ประกอบด้านการจ้างงานและการลงทุนเพิ่มขึ้นน้อยเมื่อเทียบกับองค์ประกอบด้านอื่นๆ สะท้อนให้เห็นถึงการพยายามควบคุมต้นทุนของกิจการหลังการเผชิญวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนั้นองค์ประกอบด้านต้นทุนก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.0 จากความกังวลในประเด็นต้นทุนสินค้าอย่างมาก”

ทั้งนี้ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นฯในแต่ละภาคธุรกิจนั้น ในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.9,48.7 และ 49.4 ตามลำดับ โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางภายในประเทศมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อาทิ บริษัทจำหน่ายตั๋วสายการบิน และบริการขนส่งผู้โดยสาร (ไม่ประจำทาง) ที่มียอดจำหน่ายตั๋ว และการใช้บริการเดินทางเพิ่มขึ้น รวมไปถึงบริการขนส่งสินค้า เพราะการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 4 โดยเฉพาะการยกเลิกเคอร์ฟิวที่ช่วยลดอุปสรรคการเดินทางภายในประเทศลงเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม แม้ทุกสาขาจะมีการปรับตัวดีขึ้น แต่เกือบทุกสาขายังมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯต่ำกว่าค่าฐาน 50 ทำให้ยังควรติดตามสถานการณ์ SME อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการ SME ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 46.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 37.1 เนื่องจากมาตรการผ่อนปรนจากภาครัฐ ช่วยให้สถานประกอบการต่างๆ เปิดกิจการและมีความคล่องตัวมากขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 49.7 เพิ่มขึ้นจาก 44.3 เพราะมีการขยายตัวของสาขาที่พักและโรงแรมขนาดเล็กและกลางที่เริ่มมีนักท่องเที่ยว และการจองห้องพักล่วงหน้ามากขึ้น รวมไปถึงการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตและจำหน่ายสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า และอาหารที่เป็นของฝากที่ระลึก

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 51.9 เพิ่มขึ้นจาก 43.3 เพราะข้าวเปลือกมีราคาดี และจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ทำให้กลุ่มเกษตรกรมีกำลังซื้อภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 50.4 เพิ่มขึ้นจาก 38.1 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาคการผลิตโดยเฉพาะผลิตอาหาร และเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 49.9 เพิ่มขึ้นจาก 47.9 เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐอนุญาตให้ประชาชนใช้พื้นที่สาธารณะตามทะเลและชายหาดได้มากขึ้น อีกทั้งเริ่มมีการให้บริการเที่ยวบินในประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้น แม้ว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 49.9 เพิ่มขึ้นจาก 38.9 เนื่องจากการยกเลิกเคอร์ฟิว ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้า และสถานีน้ำมันปรับตัวดีขึ้นตาม

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 62.5 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 60.6 เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสถานการณ์ในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น และการออกมาตรการ “เที่ยวปันสุข” ของภาครัฐจะใช้กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในอนาคต ทำให้ผู้ประกอบการ SME คาดการณ์แนวโน้มการจำหน่ายสินค้าและบริการยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนสินค้า และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่เน้นนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะ SME ในภาคใต้

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการ SME ประเทศในเดือนนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน
  2. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
  3. มาตรการในด้านต่างๆ ของรัฐบาล
  4. การแข่งขันในตลาด
  5. ราคาต้นทุนสินค้าและค่าแรงงาน