ปรากฏการณ์ role play #กลุ่มที่เราจะแกล้งเป็น..(นายก) บนโลกโซเชียล

ปรากฏการณ์ role play #กลุ่มที่เราจะแกล้งเป็น..(นายก) บนโลกโซเชียล

#กลุ่มที่เราจะแกล้งเป็นนายก #กลุ่มที่เราจะแกล้งเป็นนกพิราบ #กลุ่มที่เราจะแกล้งเป็นมดในรังเดียวกัน #กลุ่มที่เราจะแกล้งเป็นเชฟร้านเดียวกัน ถูกตั้งขึ้นโดยชาวโซเชียลมีเดียเพื่อแสดงบทบาทสมมุติและมีความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในโลกยุคดิจิทัลอะไรก็สามารถเป็นไปได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องเทคโนโลยีสุดล้ำ แต่รวมถึงการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ ที่ไม่ว่าเราจะอยากเป็นนายก อยากเป็นนกพิราบ เป็นมดงาน เป็นพระสงฆ์ เราก็จะได้เป็น ผ่านกลุ่มที่ชื่อว่า #กลุ่มคนที่เราจะแกล้งเป็น...ตัวตนต่างๆ ในเฟซบุ๊ค

159645858590

159645860619

159646573614

  • ปรากฏการณ์ กลุ่มที่เราจะแกล้งเป็น...

#กลุ่มที่เราจะแกล้งเป็น... ถูกรู้จักแพร่หลายตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม  2563 เป็นต้นมา โดยหนึ่งในกลุ่มบทบาทสมมุติดังกล่าว ที่โด่งดังเป็นไวรัลระดับนานาชาติก็คือกลุ่ม A group where we all pretend to be ants in an ant colony ที่แปลว่า กลุ่มที่เราจะแกล้งเป็นมดในรังเดียวกัน โดยมียอดสมาชิกทั่วโลกมากถึง 1.9 ล้านคน ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มอื่นๆ ตามมา  เช่น กลุ่มอยากเป็นนางพญาผึ้ง, กลุ่มอยากเป็นฮิลลารี คลินตัน เป็นต้น

ด้วยความแปลกใหม่ในการแสดงบทบาทสมมุติบนโลกโซเชียล ทำให้ชาวเน็ตทั่วโลกสร้างกลุ่มสังคมบทบาทสมมุติขึ้นมาอย่างหลากหลาย สำหรับประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า มีกลุ่มบทบาทสมมุติภาษาไทยมากถึง 50 กลุ่ม ความฮอตฮิตการันตีได้จากการที่มีสมาชิกในแต่ละกลุ่มไม่ต่ำกว่า 10,000 คนต่อกลุ่ม เช่น  กลุ่มที่เราจะแกล้งเป็นเชฟในร้านเดียวกัน, กลุ่มที่เราจะแกล้งเป็นนายกในประเทศเดียวกัน, กลุ่มที่เราจะแกล้งรัฐมนตรีในสภา  เป็นต้น

  • พื้นที่ปลดปล่อยความสร้างสรรค์

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเกิดคำถามในใจว่า ..แล้วมันสนุกตรงไหน? คนส่วนใหญ่ทำอะไรหรือคุยอะไรกันในกลุ่มเหล่านั้น โดยปกติกลุ่มเฟซบุ๊คทั่วไปจะสร้างกลุ่มขึ้นมาเพื่อเน้นสอบถามข้อมูลหรือมองหาความรู้เฉพาะทางในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับ  #กลุ่มที่เราจะแกล้งเป็น...นั้น เป็นกลุ่มที่ไม่ได้เปิดขึ้นมาเพื่อการหาข้อมูลใดๆ แต่ให้สมาชิกกลุ่มสวมบทบาทว่าตนเองเป็นสิ่งๆ นั้น (ตามชื่อกลุ่ม) และพูดคุยหรือหาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทบาทสมมุติมาพูดคุยกัน

ยกตัวอย่างเช่น "กลุ่มคนที่เราจะแกล้งเป็นนกพิราบ"  ก็จะมีการโพสต์ชี้พิกัดให้ไปเกาะสายไฟแถวเจริญกรุง แล้วคอมเม้นต์ก็ตอบรับด้วยภาษานกพิราบ อย่างการพิมพ์คำว่า "กรู๊วๆ" หรือการเชิญคนอื่นๆ ไปเกาะสายไฟด้วยกัน โดยภายในหนึ่งวันพบว่ากลุ่มนี้มีการโพสต์ข้อความเคลื่อนไหวประมาณพันกว่าโพสต์ต่อวัน

“สิ่งที่ทำให้ติดใจในการสวมบทบาทในกลุ่มดังกล่าว คือเราสามารถจินตนาการไปถึงสิ่งที่เราไม่สามารถเป็นได้ในชีวิตจริง แต่ทำได้ในสังคมโลกโซเชียลแล้วมีคนตอบรับในสิ่งที่เหมือนกัน เอาง่ายๆ คือพร้อมมีคนที่จะไร้สาระไปด้วยกัน” หนึ่งในผู้เข้าร่วมกลุ่มคนที่เราจะแกล้งเป็นนกพิราบอธิบาย

ปรากฏการณ์ของการเข้าร่วม "กลุ่มที่เราจะแกล้งเป็น..." ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

159645903474

159645904322

159645905053

159645905843

  • เป็นผู้ใหญ่ ใครว่าสนุกไม่ได้

Margarita Tartakovsky นักเขียนด้านจิตวิทยา กล่าวในบทความเรื่อง Absurdist Facebook Groups Are Thriving In The Pandemic ของเว็บไซต์ Forbes ว่าสังคมของเราจำกัดว่าการเล่นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะกับผู้ใหญ่ เมื่อก้าวข้ามความเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ถูกคาดหวังให้ต้องจริงจังกับทุกเรื่อง และการเล่นถูกผลักตกให้เป็นเรื่องไร้สาระ

การสวมบทบาทสมมุติในกลุ่มที่ตั้งขึ้นบนโลกโซเชียลมีเดีย อย่างเช่นกลุ่มที่เราจะแกล้งเป็นยาม มันก็เข้าข่ายการเล่นอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเล่นที่เกิดขึ้นมันจะไร้สาระสำหรับผู้ใหญ่เสมอไป เพราะว่าการที่เราแสดงความคิดเห็นในกลุ่มเหล่านี้มันอาจจะช่วยพัฒนาเรื่องการสื่อสารและการเห็นอกเห็นใจมากขึ้น ถึงแม้ว่าจุดประสงค์ตั้งต้นมันจะเป็นแค่การคลายเครียดจากช่วงที่เราต้องหยุดอยู่บ้านป้องกันโรคระบาดแค่นั้น

เช่นเดียวกับ Dr. Stuart Brown หัวหน้าสถาบันการเล่นแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ที่กล่าวถึงอีกนัยหนึ่งของปรากฏการณ์บทบาทสมมุติที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าการเล่นบทบาทสมมุติดักล่าวอาจจะสะท้อนว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่มีความสุขกับสิ่งรอบข้าง

“ถ้าชีวิตมันดูลำบาก ก็เลยต้องทำตัวง่ายๆ ตลกๆ ในกลุ่มสมมุติดูบ้าง”

พร้อมตบท้ายด้วยว่าถ้าหากมีเวลาว่าง ก็ลองนั่งสมมุติให้ตัวเองเป็นอะไรขึ้นมาสักอย่าง อาจจะดูเหมือนเรื่องเสียเวลา แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เราลืมเรื่องเครียดๆ ไปได้ไม่มากก็น้อย