โจทย์ใหญ่! 10 อรหันต์สางปม 'คดีบอส' ..ฟื้นศรัทธารอช้าไม่ได้?

โจทย์ใหญ่! 10 อรหันต์สางปม 'คดีบอส' ..ฟื้นศรัทธารอช้าไม่ได้?

จับประเด็นร้อน โจทย์ใหญ่! 10 อรหันต์สางปม "คดีบอส" ..ฟื้นศรัทธารอช้าไม่ได้?

"คุกมีไว้ขังคนจน" กลายเป็นวลีร้อนแรง สะเทือนความน่าเชื่อถือของ "กระบวนการยุติธรรม" และเป็นสัญญาณอันตรายต่อเสถียรภาพของ "รัฐบาลประยุทธ์"

กรณีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจและอัยการ คดี "วรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา" อย่างกว้างขวาง ทำให้วันนี้ (29 ก.ค.) มีแอคชั่นจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 225/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน มีรายชื่อ ดังนี้

1. ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ
2. ปลัดกระทรวงยุติธรรม
3. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
4. ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย
5. ประธานคณะกรรมกรปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
6. นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย
7. คณบดีคณะนิติตาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8. คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9. คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
10. ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป.

วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบชุดดังกล่าว เปิดเผยว่า ทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะนายกรัฐมนตรีขอร้องให้ไปช่วย ซึ่งตนเองเห็นว่ารูปแบบของคณะกรรมการเป็น "คณะกรรมการไต่สวนอิสระ" จึงตอบรับเข้าไปช่วยงาน

"..ไม่ขอพูดผูกมัดการทำงานว่าผลสุดท้ายของการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะออกมาอย่างไร หรือจะแก้ปัญหาอะไรได้แค่ไหน แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม เพราะความมั่นใจถึงว่าสำคัญที่สุด.."

ประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เร็วที่สุด เพราะเรื่องนี้ช้าไม่ได้ เนื่องจากประชาชนรอไม่ไหวแล้ว ซึ่งตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ให้เวลาเบื้องต้นไว้ 30 วัน แต่การทำงานจะไม่มีการไปก้าวล่วงเรื่องรายละเอียดในสำนวนคดี รวมถึงการทำงานของตำรวจและอัยการ แต่ทางคณะกรรมการฯจะตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงให้ชัดเจนเพื่อหาสาเหตุของปัญหา และนำไปสู่ข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบให้เป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้อย่างแท้จริง

พลันที่อ่านคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 225/2563 ให้อำนาจคณะกรรมการตรวจสอบฯ คือ มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และเสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การปฏิบัติหน้าที่ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรรม ตลอดจนเสนอข้อแนะนำอื่นใดโดยไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าว แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ แต่หากนายกรัฐนตรีเห็นว่าข้อเสนอแนะในการปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ อาจให้ขยายระยะเวลาอีกได้ ทั้งนี้ ให้คณะกรมการรายงานเบื้องต้นต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุก 10 วัน

คณะกรรมการมีอำนาจเชิญหรือประสานความร่วมมือหรือขอเอกสารต่างๆ จากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ สอบถามหรือขอความเห็น และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการคณะกรรมการ อาจรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะ และพิจารณาเรื่องร้องเรียนในคดีนี้จากประชาชน

ไม่แน่ใจว่า "อาจารย์วิชา" มีโจทย์ในการทำงานหรือยัง แต่ผู้คนในสังคมก็สงสัยคล้ายๆที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ตั้งคำถาม 9 ข้อ คือ

1. ตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดการสั่งคดีอาญาที่จะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศกำหนดให้เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดเท่านั้น เหตุใดรองอัยการสูงสุดจึงสั่งแทนได้

2. การระบุมีพยานใหม่ 2 รายที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่เพิ่งมาโผล่เป็นพลเมืองดีเมื่อเวลาผ่านไป 7 ปีมาแล้ว ซึ่งพยานในลักษณะนี้ในทางคดีไม่มีความน่าเชื่อถือที่จะรับฟังได้ มีพิรุธ แต่ทำไมอัยการจึงให้น้ำหนักกับพยาน 2 รายดังกล่าว

3. การที่ผู้ตรวจสอบความเร็วให้การในครั้งแรกว่า บอสขับรถด้วยความเร็ว 177 กม./ชม. เมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรม ความเร็วของรถลดลงเหลือเพียง 76 กม./ชม. ซึ่งอัยการก็เชื่อตามนั้นได้อย่างไร เมื่อประจักษ์พยานที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สำคัญคือ จุดที่รถจักรยานยนต์ผู้ตายไปตกอยู่ห่างจากจุดที่ชนถึง 163.6 เมตร หากความเร็วรถยนต์ 76 กม./ชม.จะลากยาวขนาดนั้นได้อย่างไร

4. ข้อมูลการพบสารแปลกปลอมในร่างกาย ตามที่ สน.ทองหล่อประสานมาให้ รพ.รามาธิบดีตรวจสอบพบ 1.สาร Alprazolam (อัลพาโซแลม) 2.สาร Benzoylecgonine (เบนซอยเลกโกไนน์) 3.สาร Cocaethylene (โคเคเอธทีลิน) และ 4.สาร Caffeine (คาเฟอีน) ทำไมจึงไม่ปรากฎในสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ที่ส่งไปยังอัยการเลย เช่นนี้จะสามารถใช้เป็นข้อมูลใหม่ในการรื้อฟื้นคดีได้หรือไม่

5. การร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ สนช.ซึ่งมิได้มีหน้าที่ใดๆในทางคดีตาม ป.วิ.อาญาเลยนั้น อัยการให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือได้อย่างไร ทั้งๆที่มีข้อพิรุธมากมาย

6. การปล่อยให้บอสหลบหนีไปต่างประเทศหลังจากประกันตัวออกไป โดยไม่มีการติดตามและระมัดระวังอย่างเพียงพอ และไม่สามารถนำตัวมามอบให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลได้ จนนำไปสู่การขอเลื่อนคดีถึง 7 ครั้ง การกระทำเช่นนี้ในทางคดีเรียกว่าเป็นการประวิงคดี อัยการไม่รู้เชียวหรือ

7. การตั้งข้อหาให้นายดาบตำรวจที่เสียชีวิตว่าเป็นจำเลยร่วมในคดี ทั้งๆที่เป็นผู้เสียหายในคดีซึ่งขัดต่อข้อเท็จจริงที่สังคมรับรู้ร่วมกัน เป็นเทคนิคทางคดีที่เด็กอมมือก็รู้ แต่อัยการไม่รู้เชียวหรือ

8. กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลความผิดตำรวจ 7 นาย ฐานเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในข้อกล่าวหาหลายๆข้อ ซึ่งล้วนมีน้ำหนักในทางคดีมาก เหตุใดอัยการจึงไม่ให้น้ำหนักต่อรายงานของ ป.ป.ช.ดังกล่าว

9. คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจกันของสาธารณชน เป็นคดีใหญ่ ในการสั่งคดีนั้นต้องคำนึงถึงระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของอัยการ 2547 โดยเคร่งครัดให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน ตามข้อ 5 ณ เวลานี้ท่านอัยการได้ปฏิบัติครบถ้วนแล้วหรือ

กล่าวคือ คำถามเหล่านี้เป็นแค่ "บางส่วน" ที่หวังว่า คกก. ที่มี "อาจารย์วิชา" เป็นประธานฯ จะช่วยหาคำตอบให้ได้ภายในเร็ววัน เพราะผู้คนในสังคมคาดหวังกับคำตอบที่ไม่ยื้อเวลา และอย่าให้ใครเอามาเป็นประเด็นโจมตีได้ว่า "ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม" !?

ที่มา - https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/650780