ถกนัดแรกตั้ง 3 กรอบ ตรวจสอบข้อเท็จจริงคดี 'บอส อยู่วิทยา'

ถกนัดแรกตั้ง 3 กรอบ ตรวจสอบข้อเท็จจริงคดี 'บอส อยู่วิทยา'

ตำรวจเผยพยาน 2 ปากที่พลิกคดี "บอส อยู่วิทยา" เป็นพยานที่อัยการสั่งให้สอบเพิ่ม หลังคดีผ่านมา 7 ปี แต่คดีบอสจบแล้วไม่สามารถรื้อได้อีก แต่ครอบครัวผู้เสียหายสามารถฟ้องเองได้

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 63 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงครั้งที่ 1/2563 ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที พลตำรวจเอก ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พลตำรวจโท จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโท สมชาย พัชรอินโต ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี ได้ชี้แจงรายละเอียดกรอบการพิจารณาตรวจข้อเท็จจริง โดยยอมรับว่า ความเห็นไม่แย้งคำสั่งของอัยการในคดีถือว่าคดีสิ้นสุดแล้วไม่สามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงความเห็นได้อีก ส่วนการพิจารณาความเห็นที่อัยการส่งมานั้นเป็นการพิจารณาความถูกต้องในข้อกฎหมาย และดูข้อเท็จจริง ทางตำรวจไม่มีอำนาจตรวจสอบความเห็นของอัยการหรือขอให้อัยการอธิบายเหตุผลของการสั่งคดีได้ เพราะเป็นการถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงว่า การใช้ดุพินิจของพลตำรวจโทเพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะรื้อฟื้นหรือสืบสวนเพิ่มเติม เพราะคดีผ่านชั้นสืบสวนของตำรวจมาแล้ว

พลตำรวจเอก ศตวรรษ กล่าวว่า ได้ประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกเกี่ยวกับกระบวนการสืบหาข้อเท็จจริงในกระบวนการขั้นตอนดำเนินคดีอาญานายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ซึ่งมี 3 กรอบ ประกอบด้วย 1.การสอบสวนและความเห็นชั้นพนักงานสอบสวน 2.การสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งพนักงานอัยการ 3.การดำเนินการพิจารณาความเห็นตามป.วิอาญามาตรา 145/1 ทั้งนี้ได้มีการแบ่งหน้าที่ทำงานให้คณะกรรมการแต่ละส่วนรับไปดำเนินการ โดยเฉพาะรายละเอียดข้อเท็จจริง และบุคคลหรือพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่แรก โดยจะมีการประชุมทุกวันเพื่อพิจารณาในรายละเอียดเวลา 10.00 น. อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ในส่วนของตำรวจเข้ามาสอบถามในคณะกรรมการทุกท่าน โดยจะพิจารณาการดำเนินการของตำรวจที่รับผิดชอบตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการว่าได้ดำเนินการถูกต้อง ตามระเบียบหรือไม่

พลตำรวจเอก ศตวรรษ กล่าวอีกว่า ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นห่วงและได้กำชับมาว่าการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ต้องได้ข้อเท็จจริง โปร่งใส และสามารถอธิบายเป็นขั้นตอนได้ว่าตั้งแต่เริ่มต้นคดีทางพนักงานสอบสวนดำเนินการมาเป็นขั้นตอนอย่างไร จนกระทั้งสุดท้ายสั่งไม่ฟ้อง

พลตำรวจโท จารุวัฒน์ ได้กล่าวถึงการพิจารณาในกรอบที่ 3 ว่า หลังพนักงานอัยการมีความเห็นแล้วก็จะส่งมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แย้งหรือไม่แย้ง ซึ่งผู้ที่ใช้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามป.วิอาญามาตรา 145/1 จะพิจารณาได้เฉพาะคำฟ้องของพนักงานอัยการเท่านั้น จะดูข้อกฎหมายที่ทางพนักงานอัยการมีความเห็นมานั้นมีข้อกฎหมายถูกต้องหรือไม่ และข้อเท็จจริงที่พนักงานอัยการมีความเห็นมานั้นมีข้อเท็จจริงที่ถูกต้องหรือไม่ ในกรอบที่ 3 ไม่มีอำนาจที่จะไปรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีกแล้ว

พลตำรวจโท สมชาย กล่าวว่า ขั้นตอนตามกฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งโดยปกติทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่ละท่านเป็นผู้พิจารณาในคดีแบ่งกันไปตามอำนาจหน้าที่ของอัยการแต่ละส่วน

พลตำรวจโท จารุวัฒน์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหากการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำความผิดแบ่งเป็น 2 ลักษณะ 1.การกระทำความผิดที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 2.การกระทำความผิดด้านวินัย ซึ่งทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด ให้เสนอท่านว่าใครกระทำความผิดบ้าง ด้านอาญาก็ให้ส่งทางป.ป.ช. ส่วนทางวินัยก็ให้ลงทัณฑ์ทันที ซึ่งเมื่อปี 2559 สมัยผมเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเคยตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้แล้ว พบว่าได้กระทำผิดละเว้นการปฏิบัติในบางขั้นตอน ซึ่งได้ส่งเรื่องไปที่ป.ป.ช.แล้ว และป.ป.ช.ได้มีมติออกมาแล้วว่าเป็นการกระทำความผิดวินัย และได้ส่งกลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ได้ลงโทษกักขัง ภาคทัณฑ์ไปแล้วหลายราย และยุติเรื่องในบางท่านที่ได้เกษียณอายุไปแล้ว

ทาง พลตำรวจโท จารุวัฒน์ กล่าวอีกว่า พนักงานสอบสวนไม่เกี่ยวข้องกับพยานใหม่ 2 ปาก เนื่องจากอัยการเป็นฝ่ายมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบปากคำเพิ่ม หลังผู้ต้องหายื่นร้องขอความเป็นธรรมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พนักงานสอบสวนจึงทำตามขั้นตอนที่อัยการกำหนดเท่านั้น โดยไม่สามารถก้าวล่วงกับการให้น้ำหนักของพยาน 2 ปากนี้ พร้อมยอมรับว่า ที่ผ่านมา คดีร้อยละ 97 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความเห็นไม่แย้ง มีเพียงร้อยละ 3 ที่เห็นแย้ง โดยทั่วไปผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบคดีตามเขตอำนาจของพนักงานอัยการ จึงสามารถมีความเห็นแย้งหรือไม่แย้งคดีได้

พลตำรวจโท จารุวัฒน์ ยืนยันว่า คณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่การฟอกขาว การไม่แย้งคำสั่งอัยการของ พลตำรวจโท เพิ่มพูน แต่จะทำข้อเท็จจริงให้ปรากฎต่อสาธารณชนและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อพื่อให้สังคมเข้าใจว่าคณะกรรมการทำอะไรบ้าง โดยจะประชุมและแถลงข่าวให้ทราบเป็นระยะ

อย่างไรก็ตามผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ จะไม่มีผลต่อคดีความ เพราะคดีสิ้นสุดแล้ว หลังตำรวจมีความเห็นไม่ฟ้อง 1 ข้อหา และสั่งฟ้องข้อหาอื่นทั้งหมด และจะไม่เกี่ยวข้องกับผลการตรวจสอบของอัยการสูงสุด แต่หากพบว่ามีการใช้ดุพินิจไม่ชอบ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาความผิดทางวินัยและอาญาต่อไปสำหรับคดีนี้แม้ทางกระบวนการของตำรวจจะเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ครอบครัวผู้เสียหายยังสามารถฟ้องร้องคดีต่อศาลได้เองตามกระบวนการยุติธรรม