'ก้าวไกล' ชงแก้ รธน. 5 มาตรา ปิดทาง ส.ว. เลือก 'นายกฯ'

'ก้าวไกล' ชงแก้ รธน. 5 มาตรา ปิดทาง ส.ว. เลือก 'นายกฯ'

"พรรคก้าวไกล" เตรียมล่ารายชื่อ ส.ส. เสนอแก้รัฐธรรมนูญ 5 มาตรา ปิดทาง ส.ว. เพื่อป้องกันหาก "ยุบสภา-นายกฯ ลาออก" จะไม่มีส่วนเลือกนายกฯ

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 63 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค, นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พิษณุโลก, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส. บัญชีรายชื่อ แถลงถึงข้อเสนอของพรรคต่อการแก้ไขวิกฤตทางการเมือง 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2.ทบทวนคดีความทางการเมือง 3.เลิกคุกคามนักศึกษาและผู้ชุมนุม 4.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออก และ 5.แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่กำหนดวุฒิการศึกษาและมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

นายพิธา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มีข้อสเนอเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญเป็นใบอนุญาตในการต่ออายุของนายกรัฐมนตรีต่อไป คือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 269, 270, 271, 272 เกี่ยวกับการสรรหา ส.ว. และอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ว. รวมทั้งยกเลิกมาตรา 279 เรื่องการรับรองประกาศและคำสั่ง คสช. ให้ชอบด้วยกฎหมาย

นายชัยธวัช กล่าวว่า พรรคจะทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และจะรวบรวมรายชื่อ ส.ส. 100 คน เพื่อยื่นเข้าสู่ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา เพิ่มเติมหมวดจัดทำแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และเสนอให้มีการปิดสวิตช์ ส.ว. อย่างเป็นทางการ เพื่อป้องกันหากมีการยุบสภาหรือนายกรัฐมนตรีลาออก ส.ว. ก็จะไม่มีส่วนเข้ามาเลือกนายกรัฐมนตรีได้ รวมทั้งยกเลิกการเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายปฏิรูประเทศของ ส.ว. ด้วย ซึ่งจะนำมาสู่การปลดล็อกเพื่อเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติได้ ตนเชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขวิกฤตของบ้านเมืองได้จริง ที่ประชุมสามารถที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันในสมัยประชุมสภานี้ 

ด้าน นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมขชองประชาชน กล่าวว่า เราจะหาทางออกทำไม่ได้ ถ้าไม่มีการทำรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน แต่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่มีการพิจารณากันมาถึงเรื่องนี้ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องรวบรวมคนหลากหลายกลุ่มให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และกมธ. เองจะศึกษาแนวทางการการมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเอามาเสนอต่อที่ประชุมสภาเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ การจัดทำประชามติ ปี 2559 เองก็มีปัญหามาก ดังนั้นต้องแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ เพื่อให้การแสดงความคิดเห็นในการลงประชามติเป็นไปอย่างปลอดภัยด้วย