คลี่ทุกข้อกังขา 'บอส อยู่วิทยา' ย้อนไทม์ไลน์คดี

คลี่ทุกข้อกังขา 'บอส อยู่วิทยา' ย้อนไทม์ไลน์คดี

ปม “อัยการสูงสุด” ไม่สั่งฟ้องคดีกล่าวหานายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ อดีตผู้บังคับหมู่ปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2555 ถูกตั้งคำถามถึงความอยุติธรรม ในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยอย่างหนัก 

กระแสสังคมกดดันไปยัง “สำนักงานอัยการสูงสุด” และ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” จนทั้ง 2 หน่วยงานต้องตั้งคณะทำงาน-คณะกรรมการ ขึ้นมาตรวจสอบที่มาที่ไป ของการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ  พร้อมขีดเส้นให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน

ย้อนไทม์ไลน์คดี บอส อยู่วิทยา

3 ก.ย.2555 เกิดเหตุ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ ถูกคนขับรถเฟอร์รารีชนเสียชีวิต บนถนนสุขุมวิท ตำรวจตั้ง 5 ข้อหาเอาผิด นายวรยุทธ อยู่วิทยา ประกอบด้วย 1.ขับรถขณะเมาสุรา 2.ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 3.ขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย 4.ขับรถชนแล้วไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเจ้าพนักงาน 5.ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ปี 2556 ตำรวจส่งสำนวนคดีให้อัยการ มีความเห็นสั่งฟ้องแค่ 3 ข้อหา โดยไม่ฟ้องข้อหาขับรถขณะเมาสุรา และข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

2 พ.ค.2556 อัยการมีความเห็นแย้ง เห็นควรสั่งฟ้องเป็น 4 ข้อหา โดยฟ้องข้อหา ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วย

25 เม.ย.2559 อัยการนัดให้นายวรยุทธ มาพบเป็นครั้งแรก เพื่อจะส่งตัวฟ้องได้ 2 ข้อหา คือขับรถชนแล้วไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ และขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

25 เม.ย. 2559 ถึง 27 เม.ย. 2560 นายวรยุทธ มอบอำนาจให้ทนายความขอเลื่อนพบอัยการจำนวน 7 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าอยู่ต่างประเทศ โดยระหว่างนั้นได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

18 ก.ค. 2559 ตร.สรุปสำนวนส่งให้ ป.ป.ช. เอาผิดตำรวจ 10 นาย ฐานช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาไม่ถูกดำเนินคดี

28 เม.ย.2560 ศาลอาญากรุงเทพใต้ออกหมายจับ นายวรยุทธ โดยหลังศาลออกหมายจับมีการขึ้นบัญชีดำแจ้งไปยังด่านต่างๆ มีการประสานตำรวจสากล (อินเตอร์โพลแสดงความเป็นบุคคลที่มีหมายจับบนหน้าเว็บไซต์)

5 พ.ค. 2560 กระทรวงการต่างประเทศ ถอนหนังสือเดินทางนายวรยุทธ

3 ก.ย. 2560 ข้อหาขับรถชนแล้วไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอายุความ 5 ปี หมดอายุความ

18 มิ.ย. 2563 วันที่ตามระบุในหนังสือ ลงนามโดย พ.ต.ท.ธนาวุฒิ สงวนสุข รักษาการ ผกก.สน.ทองหล่อ ถึงนายวรยุทธ แจ้งเรื่องอัยการสูงสุดไม่ฟ้องคดีทุกข้อกล่าวหา และได้ถอนหมายจับแล้ว

25 มิ.ย. 2563 ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัย พล.ต.ต.กฤษฎิ์ เปียแก้ว อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 กับนายตำรวจรวม 7 นาย กรณีช่วยเหลือนายวรยุทธ ไม่ให้ถูกดำเนินคดี ข้อหาขับรถขณะเมาสุรา และข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งไม่ออกหมายจับ จนเป็นเหตุให้หลบหนีได้

27 มิ.ย. 2563 นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยืนยันข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อายุความ 15 ปี เหลืออายุความ 7 ปี

24 ก.ค. 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ชี้แจงกรณีสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่าข่าวอัยการสูงสุดไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ ทุกข้อหา ขณะที่ตำรวจไม่ทำความเห็นแย้งอัยการสูงสุด ทำให้คดีเป็นอันสิ้นสุด

 

เปิดสำนวนอัยการสั่งไม่ฟ้องข้อหาเมาแล้วขับ

อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ พิจารณาแล้ว มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหาย แก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงในทันที และขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

และสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 (นายวรยุทธ) ฐานขับรถในขณะเมาสุรา เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ 2 (ด.ต.วิเชียร) ในข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ชนรถของผู้อื่นเสียหาย ซึ่งต่อมาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ข้อหาขับรถเร็วเกินกว่ากำหนดหมดอายุความ

ในระหว่างเสนอสำนวนไปยัง ผบ.ตร.เพื่อพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ซึ่งอัยการสูงสุด(อสส.)มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติม ตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรม แต่ในระหว่างรอผลการสอบสวนเพิ่มเติม ปรากฏว่าข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และขับรถโดยประมาทอันอาจจะเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ขาดอายุความฟ้องร้องในวันที่ 3 ก.ย. 2556

ยุติดำเนินคดีข้อหาขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นฯ

ต่อมาวันที่ 27 พ.ย. 2556 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ มีหนังสือแจ้งเตือนให้พนักงานสอบสวน ส่งหมายจับผู้ต้องหาที่ 1 ให้แก่พนักงานอัยการ แต่พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการ ทั้งผู้ต้องหาที่ 1 ยื่นหนังสือขอเลื่อนการฟังคำสั่งทางคดี

ต่อมาวันที่ 3 ก.ย. 2560 พนักงานสอบสวนยังไม่สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 ตามหมายจับมาส่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้เพื่อยื่นฟ้องได้ พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง เนื่องจากขาดอายุความ

บอสยื่นขอความเป็นธรรม

ผู้ต้องหาที่ 1 ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดหลายครั้ง รวมถึงยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อ กมธ.กฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช. เมื่อปี 2557 จนอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม ตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมอีกหลายครั้ง

ต่อมารองอัยการสูงสุด พิจารณาผลการสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว มีความเห็นว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณา เฉพาะข้อกล่าวหาของผู้ต้องหาที่ 1 ว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามที่อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งฟ้องว่ามีข้อเท็จจริงใหม่เพียงพอที่จะกลับความเห็นและคำสั่งเดิมหรือไม่ อย่างไร

ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อเหตุที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 (โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้) มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานนี้ เนื่องจากได้ความจาก พ.ต.ท.(สงวนชื่อและนามสกุล) ผู้ตรวจสอบความเร็วของรถยนต์ ว่าขณะเกิดเหตุ รถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับ แล่นด้วยความเร็วเฉลี่ย 177 กิโลเมตร(กม.)ต่อชั่วโมง

พ.ต.ท.ยันขับเร็วมากกว่า100 กม./ชม.

พ.ต.ท.ผู้ตรวจสอบยืนยันว่าการคำนวณดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อน (จากความเร็วเฉลี่ย 177 ก.ม.ต่อชั่วโมง ) มากขึ้นหรือน้อยลง ประมาณ 17 ก.ม.ต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วดังกล่าวเกินกว่าความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จะแล่นได้ภายในกรุงเทพมหานคร (80 ก.ม.ต่อชั่วโมง) การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท ปราศจากความระมัดระวังในการขับรถ

ผู้เชี่ยวชาญ-พยาน อ้างขับไม่ถึง 80 กม.ต่อ ชม.

ต่อมาเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรม ได้มีการสอบสวนพยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม คือ พ.ต.ท. ก และ พ.ต.ท. ข. พยานผู้เชี่ยวชาญ ต่างให้การประเมินความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ขณะเกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่ ว่าไม่ใช่ความเร็วประมาณ 170 ก.ม.ต่อชั่วโมง

และจากการสอบสวน รศ.ดร. ส. พยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญ (วันที่ 23 ม.ค. 2560) ในประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณความเร็ว ของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ได้ความว่า ความเร็วของรถยนต์ Ferrari FF ก่อนเกิดเหตุ จะได้ความเร็วประมาณ 76.175 ก.ม.ต่อชั่วโมง

ซึ่งใกล้เคียงกับความเห็นของ พ.ต.ท. ก. ที่ตรวจร่องรอยความเสียหายของรถทั้งสองคันแล้ว สันนิษฐานว่ารถทั้งสองคันแล่นนำ จะแล่นด้วยความเร็วไม่เกิน 80 ก.ม.ต่อชั่วโมง และความเห็นของ พ.ต.ท. ข. ผู้ตรวจสอบความเร็วของรถยนต์ว่าจากการคำนวณหาความเร็วโดยวิธีใหม่ ได้ความเร็วของรถยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ ประมาณ 79.23 ก.ม.ต่อชั่วโมง

พยานใหม่อ้างขับ50-60กม./ชม.

ต่อมาเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้อีก และมีการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมคือ พล.อ.ท. จ. และนาย ช. เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2562 ได้ความว่าพยานทั้ง 2 ขับรถยนต์แล่นตามหลังรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มาด้วยความเร็วไม่เกิน 20 ก.ม.ต่อชั่วโมง (ปรากฏในภาพกล้องวงจรปิด) ให้การว่าผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์มาด้วยความเร็วประมาณ 50-60 ก.ม.ต่อชั่วโมง

      เมื่อพยานสองปากเป็นประจักษ์พยานในขณะเกิดเหตุ ให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับคดี ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าขณะเกิดเหตุ ผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์แล่นมา ในช่องทางเดินรถที่ 3 ชิดเกาะกลางถนน ด้วยความเร็วไม่เกิน 80 ก.ม.ต่อชั่วโมง

โดยนาย ช.ขับรถยนต์กระบะแล่นมา ในช่องทางเดินรถที่ 2 ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์แล่นมาช่องทางเดินที่ 1 ด้านซ้าย แล้วผู้ต้องหาที่ 2 ได้ขับรถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางเดินรถ ผ่านช่องทางเดินรถที่ 2 ที่นาย ช.ขับรถมา

นาย ช.ชะลอความเร็วของรถลง และหักพวงมาลัยหลบไปทางซ้ายเพื่อไม่ให้ชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา แต่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา ได้แล่นเข้าไปในช่องทางเดินรถที่ 3 ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถแล่นมาในระยะกระชั้นชิด จึงทำให้รถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มา ชนท้ายรถจักรยานยนต์ คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตาย

สั่งไม่ฟ้อง-สรุปผู้ตายประมาทเอง

รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย เมื่อเหตุที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางเดินรถ เข้าไปในช่องทางเดินรถที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มา ด้วยความเร็วไม่เกิน 80 ก.ม.ต่อชั่วโมง ในระยะกระชั้นชิด ทำให้ผู้ต้องหาที่ 1 ไม่สามารถหลบหลีกและหยุดรถได้ทันท่วงที

“เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ของผู้ต้องหาที่ 1 แต่เกิดจากความประมาท ปราศจากความระมัดระวัง ของผู้ต้องหาที่ 2 ที่เปลี่ยนช่องทางเดินรถในระยะกระชั้นชิด”

ทั้งหมดคือไทม์ไลน์และสำนวนการพิจารณาคดีในชั้น “อัยการ” ซึ่งยังคาใจสังคมไทย และรอคำตอบจาก “ผู้มีอำนาจ” ว่าจะสะสางคดี “บอส อยู่วิทยา” ไปในทิศทางใด