ชง ทบ. งดส่งทหารไปประเทศเสี่ยง - 27 แรงงานขอ กต. ช่วยกลับ

ชง ทบ. งดส่งทหารไปประเทศเสี่ยง - 27 แรงงานขอ กต. ช่วยกลับ

เลื่อนส่งกำลังพลไปฝึกประเทศกลุ่มเสี่ยง ขณะที่แรงงานไทย 27 คนในอุซเบกิสถานติดโควิด ตกค้างกว่า 100 คนรอกลับ กต.เร่งช่วย ขณะที่ ศบค.มท.สั่งผู้ว่าฯเข้มจัดคอนเสิร์ต

กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทยประจำวันที่ 28 ก.ค.2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย เป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา และเข้ารับการเฝ้าระวังกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ ไม่มีผู้ป่วยกลับบ้านเพิ่ม ทำให้มีผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,111 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 94.36 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 128 ราย หรือร้อยละ 3.88 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,297 ราย

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย เป็นเพศชาย อายุ 22 ปี และ 25 ปี รับราชการทหาร กลับมาจากฝึกทหารที่ฐานทัพฮาวาย เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 22 ก.ค.2563 (เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 6 ราย) เข้าพักที่กักตัวของรัฐใน จ.ชลบุรี ทั้ง 2 ราย เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2563 (วันที่ 4 ของการกักตัว) ผลพบเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยรายแรกมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เสมหะ น้ำมูก ส่วนรายที่สอง มีเพียงอาการไอ เข้ารับการรักษาที่ รพ.ใน กทม.

สธ.ชี้กลุ่มติดเชื้อกลับจากตปท.

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค สธ.ระบุว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อที่พบยังคงเป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ซึ่งไทยยังคงเข้มข้นการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค และพร้อมนำเข้าสู่ระบบการกักตัว 14 วัน เพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการในสถานที่ควบคุมป้องกันโรคที่รัฐบาลจัดให้ และทำการตรวจหาเชื้อ ทำให้สามารถนำผู้ที่ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และสร้างความมั่นใจให้คนในประเทศได้ว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก วันที่ 28 ก.ค.2563 ยอดผู้ติดเชื้อรวม 16,642,264 ราย อาการรุนแรง 66,573 ราย รักษาหายแล้ว 10,231,567 ราย เสียชีวิต 656,488 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา 4,433,410 ราย 2. บราซิล 2,443,480 ราย 3. อินเดีย 1,482,503 ราย 4. รัสเซีย 818,120 ราย และ 5. แอฟริกาใต้ 452,529 ราย 

สำหรับ ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 106 จำนวน 3,297 ราย ขณะที่ 5 อันดับ ประเทศติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา ​61,571​​ ราย 2. อินเดีย 46,484​ ราย 3. บราซิล 23,579​ ราย 4. เปรู 9,833​ ราย 5. โคลอมเบีย ​8,125​ ราย

คนไทยตกค้างกลับเข้าปท.ต่อเนื่อง

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ รายงานเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับไทยลงสนามบินสุวรรณภูมิ ณ วันที่ 28 ก.ค.63  เที่ยวบิน รวม 331 คน จากเกาหลีใต้(โซล) 97 คน และจากสหรัฐอเมริกา (ผ่านเกาหลีใต้) 234 คน

วันที่ 29 ก.ค. 6 เที่ยวบิน รวม 667 คน จาก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) 182 คน จากฟิลิปปินส์(มะนิลา) 50 คน จากญี่ปุ่น (โตเกียว) 193 คน จากตุรกี (อิสตันบูล) 162 คน และ จากเวียดนาม (โฮจิมินส์) 80 คน

ขณะที่ ข้อมูลกระทรวงมหาดไทย รายงานสถิติคนเดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบก ณ วันที่ 27 ก.ค.ลงทะเบียนไว้ 111 คน เดินทางเข้ารวม 84 คน จากมาเลเซีย75 คน สปป.ลาว 6 คน และกัมพูชา 3 คน เดินทางสะสมตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.- 27 ก.ค.จำนวน 24,969 คน

ข้อมูลสถานการณ์ผู้เดินทางเข้าประเทศ ที่ต้องกักตัวในสถานที่ของรัฐ (State/Local Quarantine) ข้อมูลสะสม ณ วันที่ 3 เม.ย.- 27 ก.ค.2563 ยอดคัดกรอง 66,863 ราย กลับบ้านได้แล้ว 57,079 ราย พบเชื้อ 360 ราย รักษาหายกลับบ้าน 232 ราย

ในส่วนของการใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ยอดสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการ มีจำนวนผู้ใช้งาน 39,268,072 คน ผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ 38,414,593 คน ผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะ 853,479 คน กิจการ/ร้านค้าลงทะเบียน 280,156 แห่ง ดาวน์โหลดใช้แอพฯ ไทยชนะ 838,702 คน การเช็กอินผ่านแพลตฟอร์ม 95.5% ผ่านแอพฯ 4.5%

ศบค.มท.สั่งผู้ว่าฯเข้มจัดคอนเสิร์ต

ทางด้านศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เผยแพร่คำสั่งวันเดียวกันนี้(28ก.ค.) โดยระบุว่า ด้วยปรากฏข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 24-25 ก.ค.63 มีการจัดงานคอนเสิร์ตและไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนด อาทิ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา การเว้นระยะนั่งหรือยืนในพื้นที่โดยรอบห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร การควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมมิให้แออัด รวมทั้งมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัด มท.ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งการไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อวางมาตรการรองรับการจัดกิจกรรม และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการพิจารณาอนุญาตจัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าว 

โดยให้ชี้แจงทำความเข้าใจและกำชับผู้จัดกิจกรรมปฏิบัติตามข้อกำหนดและคำสั่งศบค. รวมทั้งมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หากพบว่าการดำเนินกิจกรรมใดไม่เป็นไปตามข้อกำหนดและคำสั่ง ศบค. ให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

แพทย์แนะเลื่อนส่งทหารไปปท.เสี่ยง

ทางด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนาร้ตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟสบุ๊ค ระบุว่า อีก 7 วัน หากไทยเราติดเชื้อเพิ่มไม่เกิน 27 คน กราฟการระบาดของไทยจะแตะเส้น 2% อย่างเป็นทางการ นับจากช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ยอดคนติดเชื้อของเราแตะ 114 คน โดยกราฟ ชันถึง 33% นั่นคือ เราช่วยกันฉุดกระชากโรคระบาดลงมาจาก 33% เหลือ 2% โดยใช้เวลา 4 เดือนครึ่ง 

หากเราติดตาม และเห็นผลลัพธ์แบบนี้...และระลึกถึงเรื่องนี้เสมอ เราจะตระหนักได้ว่ามันเป็นศึกที่สาหัสขนาดไหน หากย้อนไปตอนนั้นโดยไม่สามารถไป Overturn กลไกอำนาจของนักการเมืองได้ เราคงไม่มีวันนี้ครับ ต้องชื่นชมทุกคนที่ร่วมด้วยช่วยกันมาตลอด เราจะไม่ย้อนกลับไปอยู่ในสถานการณ์ระบาดอีก หากเราสามารถประคับประคองตัวกันไปโดยใช้สติในการดำเนินชีวิตป้องกันตัวเสมอ และช่วยกันทักท้วงไม่ให้เกิดนโยบายรัฐที่ใช้กิเลสเป็นตัวนำ ถูกกดดันจากกลุ่มธุรกิจการเมืองและข้าราชการที่รับใช้การเมือง

คำแนะนำอันทรงคุณค่า หาที่เปรียบมิได้ คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 อดทน อดกลั้น อดออม ยืนบนขาตนเอง ลดการพึ่งพาต่างชาติ อยู่อย่างพอเพียง นี่คือหนทางเดียวที่จะช่วยให้ประเทศเรารอดพ้นจากวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ได้

“วันนี้ไทยเรามีรายงานเคสเพิ่ม 2 คน เป็นทหารไทยที่กลับจากการฝึกที่อเมริกา มีอาการป่วยทั้งคู่ ขอให้ปลอดภัย หายไวไวนะครับ แม้ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นสำคัญ แต่หากทราบดีว่าที่ที่จะต้องไปนั้นยังเป็นแหล่งระบาดหนัก ก็ควรพิจารณาเลื่อนไปก่อนก็จะดี กำลังพลของเราทุกนายล้วนมีคุณค่ายิ่งนัก แม้จะพยายามป้องกันการติดเชื้อเพียงใด อุปกรณ์ป้องกันที่ใช้ก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100% และการฝึกต้องมีการคลุกคลีใกล้ชิด ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก และหากกำลังพลของเราต้องเจ็บป่วยนานหรือเกิดความสูญเสีย ก็จะเป็นที่น่าเสียใจยิ่งนัก วอนให้ท่านผู้บัญชาการทหารบกโปรดพิจารณาครับ” 

เน้นย้ำว่า ประเทศไทยตอนนี้ควรหยุดการแง้มประตูประเทศไว้ที่ระยะที่ 6 ไม่ควรดื้อดึง ทะนงตนว่าเราชนะโรค และอย่าดันทุรัง หลงคารมนักธุรกิจการเมือง ที่จะผลักดันเรื่องฟองสบู่ท่องเที่ยว จำเป็นต้องวางบนหิ้งไปก่อน อย่างน้อย 6 เดือน แล้วค่อยประเมินสถานการณ์อีกที ประชาชนของเราควรป้องกันตัวเองและครอบครัวอยู่เสมอ ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทุกวันๆ เพราะมีการเดินทางจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยจากกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่รัฐประกาศไปก่อนหน้านี้

โรคนี้ ไม่ใช่หวัดธรรมดา เป็นแล้วตาย ตายไปแล้วเยอะมากทั่วโลก ติดง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่ ไม่มียารักษามาตรฐาน ไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจะดีที่สุด โควิด...ติด...ไม่ใช่แค่คุณ ประเทศไทยต้องทำได้ 

27 แรงงานไทยในอุซเบฯติดโควิด

วันเดียวกันนี้ (28ก.ค.) นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ(กต.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ได้เผยแพร่คำเตือนถึงพี่น้องชาวไทยและแรงงานไทยในอุซเบกิสถาน ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของสถานเอกอัครราชทูตฯ เนื่องจากทราบว่า มีคนไทยบางคนในกลุ่มแรงงานในอุซเบกิสถานกำลังวางแผนประท้วงเพื่อหวังกดดันให้ได้กลับประเทศไทยเร็วขึ้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูตฯ เพิ่มเติมว่า มีรายงานว่าแรงงานไทยในอุซเบกิสถานตรวจพบเชื้อโควิด-19 จำนวน 27 คน จึงสร้างความวิตกกังวลในกลุ่มแรงงานไทยด้วยกัน อย่างไรก็ตาม แรงงานที่ติดเชื้อได้ถูกแยกไปกักตัวในสถานที่แยกต่างหากจากแรงงานคนไทยอื่น ๆ และมีการดูแลรักษาตามมาตรการสาธารณสุขของอุซเบกิสถานแล้ว จึงขอให้แรงงานไทยมีความอดทนและปฏิบัติตามระเบียบที่ได้กำหนดไว้” นายเชิดเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ กต. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำอุซเบกิสถาน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยกำลังดำเนินการอย่างสุดความสามารถเพื่อนำคนไทยกลับประเทศ โดยคำนึงถึงทางเลือกที่สามารถทำได้ในขณะที่สนามบินนานาชาติของอุซเบกิสถานยังปิดทำการอยู่

ดังนั้น จึงขอให้แรงงานไทยในอุซเบกิสถานติดตามและปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานเอกอัครราชทูตฯ อย่างใกล้ชิดในช่วงที่รอรับความช่วยเหลือนี้