‘ดิจิลิ้งก์’ กางสูตรรุก ‘จีนเที่ยวไทย’ เจาะ 4 กลุ่มศักยภาพหลังโควิด  

‘ดิจิลิ้งก์’ กางสูตรรุก ‘จีนเที่ยวไทย’  เจาะ 4 กลุ่มศักยภาพหลังโควิด   

“11 ล้านคน” คือยอดนักท่องเที่ยวจีนมาไทยเมื่อปี 2562 ครองสัดส่วนมากถึง 27% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยเกือบ 40 ล้านคน

กระทั่งวิกฤติโควิด-19 สั่นสะเทือนตลาด “จีนเที่ยวไทย” ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นเวลานาน 6 เดือนเต็มนับตั้งแต่ทางการจีนประกาศห้ามบริษัทนำเที่ยวพาชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศเมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

ปัจจุบันแม้ประเทศจีนจะฟื้นตัวจากโควิดได้รวดเร็ว แต่ยังติดข้อจำกัดด้านการเดินทางเข้าไทย ทำให้ในช่วงที่รอรัฐบาลพิจารณาเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในวงจำกัด หรือ “ทราเวลบับเบิล” ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการขายล่วงหน้า รอวันนักท่องเที่ยวจีนหวนกลับมา เพราะกำลังซื้อของชาวจีนยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน!

นี่คือหนึ่งในประเด็นที่กูรูด้านท่องเที่ยวได้เน้นย้ำในงานเสวนา “The Rising of Chinese Tourist Forum” หัวข้อ “The Reborn of Chinese Travelers, The Reborn of Thai Economy. เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ, ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ, บริษัท เอวี โปรเจคท์ จำกัด, บริษัท ดิจิลิ้งก์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ฟูลริช พับบลิค จำกัด

พรรณอวิกา ลิมปะพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิลิ้งก์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า ภาพจำนักท่องเที่ยวจีนในความคิดใครหลายคน อาจเป็นภาพกรุ๊ปทัวร์มีไกด์หรือหัวหน้าทัวร์ชูธงนำเที่ยววัดพระแก้ว แต่ปัจจุบันโครงสร้างตลาดเปลี่ยนไปมาก สัดส่วนตลาดกรุ๊ปทัวร์จีนลดลงเหลือ 30% เพราะหันมาเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) มากขึ้นจนสัดส่วนขยับเพิ่มเป็น 70% โดยส่วนใหญ่เดินทางมาจากเมืองใหญ่

และหลังยุคโควิด-19 คาดว่าตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่มีศักยภาพในการเจาะมีอยู่ 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ Super Luxury นิยมเดินทางเป็นกลุ่มเล็กหรือกรุ๊ปทัวร์ที่ได้รับการออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยวตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล มองหาประสบการณ์แปลกใหม่และเข้าถึงแก่นแท้ (Authentic) พ่วงบริการเต็มรูปแบบ โดยกลุ่มนี้มีสัดส่วนมากถึง 30% ของตลาดชาวจีนเที่ยวไทยในปี 2562 และยังใช้จ่ายมากขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

สำหรับกลยุทธ์การพิชิตใจตลาดซูเปอร์ลักชัวรี ต้องเรียบง่ายแต่ทุ่มเทความใส่ใจลงไปในโปรดักต์ และมีสมดุลระหว่างความพิเศษฉบับท้องถิ่นผสานกับความเป็นจีน นอกจากนี้ยังต้องมอบบริการที่ใส่ใจและลงลึกในรายละเอียด ยิ่งสื่อสารภาษาจีนได้ด้วยจะยิ่งดีมาก

ต่อมาคือ Adventurers เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่แอคทีฟ รักความผจญภัย มักจะเดินทางกับคู่รักหรือกลุ่มเพื่อน ส่วนใหญ่นิยมซื้อวันเดย์ทริป กลยุทธ์การเอาชนะใจคือนำเสนอโปรแกรมขับรถเที่ยว (Road Trip) เพื่อแสวงหาจุดหมายท่องเที่ยวแปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร โพสต์ลงโซเชียลมีเดียแล้วทุกคนสนใจเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน

นอกจากนี้ยังต้องมี Good Navigator นำทางขับรถได้ดี โดยบนแพลตฟอร์ม “หม่าเฟิงหวั่ว” (Mafengwo) จะมีการบอกเส้นทางขับรถเที่ยวหลายโปรแกรมให้เลือก และเมื่อดูความนิยมของทริปขับรถในต่างประเทศของชาวจีนแล้ว พบว่ามีมากถึง 150 ล้านคน ถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูงมาก ประเทศไทยมีโอกาสจากตลาดนี้ตรงที่ชาวจีนสามารถขับรถเที่ยวจากคุนหมิงลงมายังภาคเหนือของไทย

อีกกลุ่มคือ Value Seeker นักท่องเที่ยวที่มุ่งเสพวัฒนธรรมท้องถิ่น มักเดินทางเป็นกลุ่มเล็กหรือพ่อแม่นิยมพาลูกเที่ยว มีกรณีศึกษาน่าสนใจบนแพลตฟอร์ม “โต่วอิน” (Douyin) ในประเทศจีนหรือที่คนทั่วโลกรู้จักกันในนาม ติ๊กต็อก (TikTok) โดยช่องของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งได้เล่าเกี่ยวกับเรื่องราวของผลงานศิลปะแต่ละชิ้น พบว่ามีชาวจีนติดตามช่องนี้มากขึ้น 3.6 แสนคนต่อวัน สะท้อนถึงแนวคิด “Story Telling is Everything” ว่ายังใช้ได้ตลอด

และสุดท้าย Revitalizer กลุ่มที่ต้องการบำบัดจิตใจและร่างกาย พาตัวเองออกจากชีวิตประจำวัน ใช้เวลาท่องเที่ยวยาวนาน ทุ่มให้กับตัวเองได้พักร้อนอย่างเต็มที่ สำหรับกลยุทธ์การพิชิตใจคือ Not Now, Then When ถ้าไม่เที่ยวตอนนี้แล้วจะเที่ยวเมื่อไร โดยกว่า 87% เป็นชาวจีนยุคเบบี้บูมเมอร์ที่พร้อมเดินทางไปต่างประเทศหลังโควิด-19 และยังพบว่า 80% ของกลุ่มนี้เลือกที่จะเดินทางแบบเอฟไอที

นอกจากนี้ยังสามารถรุกตลาดนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical) หลังพบว่าเมื่อปี 2561 ประเทศไทยเป็นอันดับ 3 ของโลกในฐานะจุดหมายทางการแพทย์ มีชาวจีนเดินทางมาเข้ารับบริการทางการแพทย์ในไทยกว่า 6 หมื่นคน พอเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกเล็งเห็นว่าระบบสาธารณสุขของไทยดีขนาดไหน ถือเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการมองข้ามไม่ได้ อีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจเช่นกันคือ Medi-spa การนวดหรือทำสปาที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์ทางการแพทย์และภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย