ดึงศักยภาพชุมชน ลดทอนความเสี่ยง "ภัยพิบัติซ้ำซ้อน" โรคระบาด-ภัยธรรมชาติ

ดึงศักยภาพชุมชน ลดทอนความเสี่ยง "ภัยพิบัติซ้ำซ้อน" โรคระบาด-ภัยธรรมชาติ

สสส. ผนึกภาควิชาการ ประชาสังคม ดึงศักยภาพชุมชน ชี้ไทยต้องรอด หากโควิด-19 ระบาดรอบสอง พร้อมวางแผนลดทอนความเสี่ยง “ภัยพิบัติซ้ำซ้อน” ทั้งจากโรคระบาดและภัยธรรมชาติ

เมื่อไม่นานมานี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายภัยพิบัติ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ภัยพิบัติซ้ำซ้อน (Compound Hazard) ความเสี่ยง โอกาสและแนวทางการรับมือเพื่อลดทอนการเกิดภัยพิบัติระดับพื้นที่”  เพื่อวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ และสานพลังภาคีเครือข่ายและชุมชนในการรับภัยพิบัติด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมตามแนวทางชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชัน D-2R Disaster Risk Assessment – Covid 19 ระบบติดตาม ประเมินความเสี่ยงโควิด-19 ระดับพื้นที่หน่วยตำบล สำหรับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางในยามเกิดภัยพิบัติซ้ำซ้อน ทั้งจากโรคระบาดและภัยธรรมชาติ

159587243129

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.  กล่าวว่า แม้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 ที่ผ่านมาจะคลี่คลายแล้ว แต่นักระบาดวิทยาก็ยังแสดงความเป็นห่วง เตือนคนไทยการ์ดอย่าตก เพราะหากมี Second Wave หรือการระบาดรอบสอง ประกอบกับหากเกิดภัยพิบัติที่ไม่อาจคาดการณ์ขึ้น เช่น น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม จะกลายเป็นภัยพิบัติซ้ำซ้อน และผู้ที่เดือดร้อนคือประชาชน ที่ผ่านมา สสส. ได้ผลักดันให้เกิดภาคีเครือข่ายภัยพิบัติ กระจายกันทำงานอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติและโรคระบาดต่างๆ โดยพบว่าชุมชนหรือพื้นที่ที่มีเครือข่ายทำงานอยู่ สามารถรับมือกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดได้ดี หรือเรียกได้ว่า ‘ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย’ เพราะมีการเตรียมตัวที่ดี โดยภายในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ สสส. จัดขึ้นครั้งนี้ เราได้เติมความรู้ให้กับภาคีเครือข่ายภัยพิบัติในหลายๆ เรื่อง ซึ่งจากวิกฤตโควิด-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย สรุปได้เป็นสามเรื่องใหญ่ หรือที่เรียกว่า 3D

159587243738

D แรกคือ Deglobalization การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ ที่เราจะหวังพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องร่วมกลุ่มกันเพื่อพึ่งพากันเองภายในภูมิภาค อย่างที่เครือข่ายภัยพิบัติทำได้ดี ในโครงการข้าวแลกปลาจากชาวนาถึงชาวเล ต่อมา Digital Transformation หรือ Digital Disruption การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล หรือการมีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เรื่องนี้เครือข่ายภัยพิบัติต้องมีการปรับตัว และนำรูปแบบที่ทันสมัยของเทคโนโลยีมาใช้ในการเฝ้าระวัง และรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างแม่นยำ  และ Social Distancing การรักษาระยะห่าง ซึ่งเป็นชีวิตวิถีใหม่ ที่ไม่อาจจัดประชุมกันบ่อย ๆ เหมือนแต่ก่อนได้ แต่เราก็ต้องมีการคิดค้นหาวิธีการใหม่ในการทำงานเชิงพื้นที่” นายวิเชษฐ์ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำข้อความจากสหประชาชาติที่ว่า “แม้เราจะค้นพบวัคซีนป้องกันโควิด 19 ได้ เราจะไม่มีวัคซีนป้องกัน Climate Change ได้เลย” เพื่อเตือนให้ประชาชนตื่นตัวในสัญญาณการเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติ และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เข้ากับ New Normal ของธรรมชาติเช่นกัน

159587243382

“ความปกติใหม่ (New Normal) ของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมันเกิดขึ้นแล้ว ทุกคนต้องยอมรับว่าอุณหภูมิโลกได้สูงขึ้น และจะไม่มีวันลดลง หรือกลับไปเหมือนเดิมอีก ฝนจะตกหนักขึ้น แล้งจะรุนแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะมีความถี่ของการเกิดภัยพิบัติมากขึ้น ในอดีตเราจะเห็นว่า 3-4 ปี จึงจะเกิดภัยแล้งหนัก  แต่ระหว่างปี 2558 – 2563  ภัยแล้งเกิดขึ้นทุก ๆ ปี ส่วนอุทกภัยหรือน้ำท่วมที่รุนแรงมากในปี 2554 เราจะเห็นว่ากว่า 70 ปีจึงเกิดขึ้น แต่มันจะกลายมาเป็น 10 ปีจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในอนาคต"

"สิ่งนี้เองเป็นสัญญาณบอกกับมนุษย์ว่า ถ้าเราไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับ New Normal นี้ เราก็จะอยู่อย่างยากลำบาก ทุกคนต้องตระหนักและปรับตัว ฤดูแล้งยังจะปลูกข้าวแบบเดิม ๆ อีกไหม จะตั้งถิ่นฐานหรือทำโครงการจัดสรรริมน้ำอีกจะได้ไหม ถึงเวลาแล้วที่ชุมชนต้องลุกมาใส่ใจในการจำลองความเสี่ยง รวบรวมฐานข้อมูลของความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จะได้รู้ว่าเราจะสู้ จะรับมือเพื่อลดทอนภัยพิบัติอย่างไร ความเข้มแข็งของชุมชนสำคัญมากรศ.ดร.เสรี กล่าว

สำหรับการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ระหว่างที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังคลี่คลายลงแล้ว ก็คงเป็นเรื่องภัยที่เกิดจากการบริหารจัดการน้ำ    

นายสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า วันนี้แหล่งน้ำทั้งหมดของประเทศ ทั้งที่เป็นอ่างเก็บน้ำกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต รวมทั้งแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เรามีปริมาณน้ำรวม 34,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคาดการณ์ว่าหากมีปริมาณฝนตกลงมาสิ้นสุดปลายฝนนี้ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2563 เราน่าจะมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 46,900 ลูกบาศก์เมตร เทียบกับปี 2562 ก็มีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน นั่นแสดงว่าปีหน้าเราก็ยังมีโอกาสเสี่ยงกับภัยแล้งในบางจุดเหมือนเดิม  แต่ทั้งนี้ก็เป็นการคาดการณ์จากปริมาณน้ำจากฤดูฝนธรรมดา ยังไม่รวมถึงการคาดการณ์เมื่อเกิดพายุเข้ามาที่ประเทศไทย เรายังเบาใจไม่ได้

159587243151

ถ้าโชคดีพายุเข้ามาทางภาคอีสานและภาคเหนือที่ยังขาดน้ำอยู่ ก็จะเกิดประโยชน์ แหล่งน้ำยังไม่เต็ม ลำน้ำมีพื้นที่ว่าง ดินยังขาดความชื้นสามารถอุ้มน้ำได้  แต่ถ้าในเดือน ก.ย. 63 ฝนตกหนักที่ภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม โอกาสเกิดน้ำท่วมขังก็จะมีมาก ภาคกลางจึงมีความเสี่ยงอยู่ หลังจากนั้นในพื้นที่ภาคใต้ ประจวบคีรีขันธ์  ชุมพร และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็ยังเป็นพื้นที่เสี่ยงเช่นกัน  สำหรับภาคตะวันออก อย่างจันทบุรี ตราด ก็คงหนีไม่พ้น อย่างไรก็ตามการคาดการณ์นี้จะเป็นประโยชน์ได้ ก็ต้องมีกลไกจากเครือข่ายประชาชนและชุมชน ที่ต้องร่วมกันเฝ้าระวัง รายงานสภาพปัญหาจุดเสี่ยงต่าง ๆ มายังภาคราชการ เพื่อจะได้ประกาศเตือนอย่างทันท่วงที

159587243240

ในด้านการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อเสริมศักยภาพการทำงานลดทอนปัญหาภัยพิบัติซ้ำซ้อนในกลุ่มเปราะบาง ได้มีการจัดทำ แอปพลิเคชัน D-2R Disaster Risk Assessment – Covid 19 ระบบติดตาม ประเมินความเสี่ยงโควิด-19 ระดับพื้นที่หน่วยตำบล สำหรับเจ้าหน้าที่ อสม. ในเครือข่ายระดับพื้นที่ 22 แห่ง เช่น จ.น่าน สกลนคร ปราจีนบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช ปัตตานี และยะลา โดยแอปฯ ดังกล่าวอยู่ระหว่างการประมวล และพัฒนาสถานการณ์จำลอง (Scenarios) เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริงในเร็ว ๆ นี้