'เกษตรยุคดิจิทัล' กุญแจการแข่งขันในอนาคต

'เกษตรยุคดิจิทัล' กุญแจการแข่งขันในอนาคต

สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงใปโดยใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมากขึ้น หนึ่งในแรงผลักที่จะทำให้เกษตรกรไทยเป็นเกษตรดิจิทัล หรือเกษตรอัจฉริยะ ที่ขณะนี้ไทยมีเกษตรกรดิจิทัลเพียง 10% ของเกษตรกรที่ลงทะเบียนทั้งหมด หรือประมาณ 1.25 ล้านคน

ในยุทธศาสตร์ที่ 3 ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 มีเป้าหมายในเรื่องของการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประกอบกับเป้าหมายด้านการพัฒนาเกษตรและสหกรณ์ที่เน้นสร้างเกษตรกรดิจิทัล และเกษตรอัจฉริยะ ทำให้การพัฒนาภาคเกษตรกรรมมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีเกษตรกรดิจิทัลเพียง 10% ของเกษตรกรที่ลงทะเบียนทั้งหมด หรือประมาณ 1.25 ล้านคน แต่เมื่อพิจารณาช่วงอายุ 20-45 ปี จะมีสัดส่วนถึง 48% ซึ่งเป็นเกษตรดิจิทัลเพียง 1.2% เท่านั้น หากต้องการให้กลุ่มอายุนี้เป็นเกษตรดิจิทัลทั้งหมด จะต้องใช้เวลาถึง 8 ปี ซึ่ง ณ เวลานั้นเกษตรกรกลุ่มนี้จะมีอายุมากขึ้นและหนีไม่พ้นกลุ่มของกับดักรายได้ปานกลาง

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย (S-curve) มี 10 +2 อุตสาหกรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและเทคโนโลยีชีวภาพ แต่ปัญหาของเกษตรกรไทยในวันนี้ คือ ปัญหาหนี้สิน การขาดที่ดินทำกิน น้ำแล้งและสภาพอากาศแปรปรวน เกษตรกรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขาดนวัตกรรมใหม่ๆ และขาดการเข้าถึงข้อมูลเพาะปลูกที่มีตลาดรองรับ นอกจากนี้ยังมีปัญหาพื้นที่ชลประทานอีกด้วย

นอกจากนี้ แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายย่อย และเกษตรกรมากกว่า 40% มีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ เกษตรกรมีอายุเฉลี่ยมากขึ้น นับตั้งแต่ปี 2012 ผลผลิตเกษตรมีต้นทุนสูงขึ้นขณะที่ผลผลิตลดลง

การใช้เทคโนโลยีในการเกษตรจะช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงต่างๆ พร้อมๆ กับการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ด้วย และตอบโจทย์เรื่องสังคมสูงอายุ อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดความรู้ระหว่างเกษตรกรได้ด้วย

ในหลักการแล้ว การเกษตรอัจฉริยะจะเป็นพื้นฐานของ “เกษตรกรรม 4.0” ซึ่งปัจจุบันการเกษตรยังอยู่ในยุคประมาณ 3.0 ที่มีการใช้ระบบอัติโนมัติเข้ามาช่วยในการทำเกษตรแล้ว แต่ในยุคของเกษตร 4.0 จะต้องมีการใช้ข้อมูล Big Data และระบบ AI ในการทำงานด้วย (สถาบันการเงินระดับโลก Goldman Sachs ระบุว่า การเกษตรอัจริยะจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้ 70%)

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของภาคเกษตรในวันนี้ ก็คือ ผลการวิจัยแต่ละเรื่องมักใช้เวลานาน หากการวิจัยใช้เวลานาน เมื่อวิจัยเสร็จแล้ว สินค้านั้น ก็ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอีกต่อไป และภาครัฐยังคงให้การสนับสนุนงบการวิจัยน้อย

พืชบางชนิดมีสรรพคุณต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ แต่หน่วยงานอนุญาต มีกฎระเบียบเข้มงวด จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ว่าไปแล้ว พืชไทยก็ไม่มีการปรับปรุงสายพันธุ์มาระยะหนึ่งแล้ว เช่น การพัฒนาให้พืชทนแล้งมากขึ้น เป็นต้น รวมทั้งเครือข่าย Ecosystem และ Supply Chain ในบ้านเราก็มีน้อย

เมื่อพิจารณาจากเกษตรอัจฉริยะของสหรัฐ จะเห็นว่าเขาใช้เทคโนโลยี 3 ตัวหลัก (ที่ทำให้เกษตรกรของสหรัฐ มีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าหลายประเทศ) คือ การใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติหรือโดรน ระบบเซ็นเซอร์ และระบบอัตโนมัติ (IoT) ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้ยังมีใช้ในเกษตรบ้านเราไม่มาก

แรงผลักดันที่จะทำให้เกษตรกรไทยเป็นเกษตรดิจิทัล หรือเกษตรอัจฉริยะ ก็คือ การกดดันจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงใปโดยใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการเพาะปลูก (Precising Farming) และการรับรู้สภาพการแข่งขันจากต่างประเทศ

ในขณะที่ตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Index) ได้สื่อให้เห็นว่า เราจะต้องเพิ่มความสามารถด้านการศึกษา ความพร้อมต่อเทคโนโลยี และนวัตกรรม

ดังนั้น เราจึงต้องเร่งพัฒนาภาคเกษตรกรรม ให้เป็น “เกษตรดิจิทัล” และ “เกษตรอัจฉริยะ” ให้มากขึ้นและเร็วขึ้น ด้วยการเร่งเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และสร้างนวัตกรรมเพิ่ม เพื่อลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มผลผลิต ที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเราเพิ่มขึ้น ครับผม!