ผบ.ตร. ตั้งคณะสอบใน 15 วัน เผย 'เพิ่มพูน ชิดชอบ' เซ็นไม่แย้งอัยการ

ผบ.ตร. ตั้งคณะสอบใน 15 วัน เผย 'เพิ่มพูน ชิดชอบ' เซ็นไม่แย้งอัยการ

อาจารย์นิติฯ ธรรมศาสตร์ 31 คน ออกแถลงการณ์ กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ‘บอส อยู่วิทยา’ กระทบความน่าเชื่อถือกระบวนการยุติธรรม ยื่น 2 ข้อเสนอ ตรวจสอบโปร่งใสหรือไม่ ผบ.ตร.ตั้งคณะสอบใน 15 วัน เผย “เพิ่มพูน ชิดชอบ” เซ็นไม่แย้งอัยการ

หลังจากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีต่อนายวรยุทธ อยู่วิทยา ในทุกข้อกล่าวหาในคดีขับรถยนต์ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการคดีนี้ ได้สร้างความสงสัยให้สังคมถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวม 31 คน ได้ออกแถลงการณ์กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญานายวรยุทธ อยู่วิทยา วานนี้ (27 ก.ค.) โดยแถลงการณ์ระบุถึงคดีที่นายวิทยา ถูกตั้งข้อหาเป็นคดีอาญา 5 ข้อหา รวมถึงข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยทั้ง 5 ข้อหาหากดำเนินคดีอาญาและต่อสู้คดีกันตามปกติ แม้พิสูจน์ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดจริงมีโอกาสที่ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ 

อย่างไรก็ตามปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีความพยายามช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีให้พ้นจากการดำเนินคดีต่อเนื่องเป็นระบบ จนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ให้การช่วยเหลือถูกลงโทษทางวินัย 

ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับอนุญาตเดินทางออกนอกประเทศ และไม่กลับมาสู้คดีนานหลายปีเป็นเหตุให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยในความโปร่งใสและประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีด้วยความวิตกกังวล

แม้เป็นที่ประจักษ์ว่าการดำเนินคดีและผลของคดีอาญาในคดีจะมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม การดำเนินคดีอาญาในคดีนี้กลับล่าช้าจนทำให้คดีขาดอายุความไป 3 ข้อหา 

ในขณะที่ข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นข้อหาที่อุกฉกรรจ์ที่สุดและเจ้าพนักงานยังมีโอกาสพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหาถึงปี 2570 สำนักงานอัยการสูงสุดกลับมีคำสั่งไม่ฟ้อง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่แย้งคำสั่งดังกล่าว

สงสัยไม่ดำเนินคดีสารเสพติด

นอกจากนี้รายงานการตรวจพบสารเสพติดในตัวผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งปรากฏเป็นข่าวทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยการใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาขับรถขณะเมาสุราที่ได้ยุติไปก่อนหน้าและการไม่ดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องการตรวจพบสารเสพติดในร่างกาย

แม้ว่าตามกฎหมาย พนักงานอัยการจะมีดุลยพินิจสั่งคดีไม่ว่าจะเป็นการสั่งฟ้องหรือการสั่งไม่ฟ้องบนพื้นฐานของ “พยานหลักฐาน” ว่าพอเพียงดำเนินคดีหรือไม่ และรับฟังได้เพียงใด หรือบนพื้นฐานของ “ประโยชน์สาธารณะ” แต่การใช้ดุลยพินิจดังกล่าวจะต้องมี “เหตุผล” ที่หนักแน่น 

โดยเฉพาะคดีที่กระทบความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมของประเทศอย่างคดีนี้ ยิ่งต้องแสดงเหตุผลที่หนักแน่นให้เห็นการดำเนินคดีอาญาที่โปร่งใส

ตั้งแต่เริ่มดำเนินคดีอาญาเมื่อปี 2555 จนปัจจุบัน ความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมเพิ่มขึ้น ในขณะที่คำชี้แจงหรือคำอธิบายทางคดีกลับไม่ชัดเจน ไม่มีเหตุผลหนักแน่นเพียงพอและบางครั้งขัดแย้งกันเอง สร้างความไม่พอใจและเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมในหมู่ประชาชน และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยในสายตานานาชาติ

ชี้คุกมีไว้ขังคนจน

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประชาชนจำนวนมากตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่เหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุของความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสถานะทางสังคม จนเกิดวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน” 

ในขณะที่บุคลากรส่วนใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายพยายามปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และพยายามกอบกู้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวมถึงการดำเนินคดีอาญาต่อนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทำให้ความพยายามดังกล่าวไร้ความหมายในสายตาของประชาชน

เพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมายและหลักนิติรัฐ เพื่อกอบกู้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย และเพื่อรักษากำลังใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมและด้วยความภาคภูมิใจ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม 

ยื่น2ข้อตรวจความโปร่งใส

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเรียกร้องให้สำนักงานอัยการสูงสุด และ สตช.ดำเนินการต่อไปนี้โดยเร็ว 

1.ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการคดีอาญากับนายวรยุทธ อยู่วิทยา โดยละเอียดและอธิบายเหตุผลอย่างชัดเจนถึงผลของคดีที่ขาดอายุความและการใช้ดุลยพินิจไม่ฟ้องคดีอาญา

2.ตรวจสอบว่าการดำเนินการและการใช้ดุลยพินิจดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย สุจริตและโปร่งใสหรือไม่ และหากพบว่ามีการดำเนินการหรือการใช้ดุลยพินิจในขั้นตอนใดไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่สุจริต หรือไม่โปร่งใส ให้พิจารณาดำเนินการและใช้ดุลยพินิจใหม่ให้ถูกต้อง

สำหรับรายชื่อคณาจารย์ที่ร่วมลงนาม เช่น 1.รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ 2.รศ.ดร.สุปรียา แก้วละเอียด รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ 3.รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์

4.ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ 5.รศ.ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ 6.ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผบ.ตร.สั่งสอบภายใน15วัน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงนามตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงคดีดังกล่าว เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เกี่ยวกับการดำเนินการของข้าราชการตำรวจเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและคำสั่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมคณะกรรมการ 10 ราย โดยตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง พร้อมรายงานผลให้ทราบเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

“เพิ่มพูน ชิดชอบ”เซ็นไม่แย้งอัยการ

รายงานข่าวระบุว่าสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ได้ทำหนังสือแจ้งผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ลงวันที่ 12 มิ.ย.2563 แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี 

หนังสือดังกล่าวระบุถึงการรายละเอียดคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ได้มีคำสั่งได้มีคำสั่งยุติการดำเนินคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ฐานขับรถเร็วเกินอัตรากฎหมายกำหนด ขับรถโดยประมาทอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง

รวมทั้งหนังสือดังกล่าวระบุถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ

องค์กรต้านคอร์รัปชัน จี้ตร.-อัยการ

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ออกแถลงการณ์ วานนี้ (27 ก.ค.) กรณีตำรวจและอัยการไม่ส่งฟ้องคดีทายาทนักธุรกิจดังขับรถชนตำรวจเสียชีวิต โดยระบุว่า คดี “บอส อยู่วิทยา” เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2555 และยืดเยื้อมากว่า 7 ปี จนวันนี้คดีได้รับการสรุปจากตำรวจและอัยการว่าไม่ส่งฟ้อง ซึ่งแปลว่าไม่ผิด และกรณีดังกล่าวไม่เพียงแต่สร้างจุดด่างพร้อยให้ภาพลักษณ์ของประเทศ ยังเป็นการตอกย้ำ ถึงความล้มเหลวของกระบวนการรักษาความยุติธรรม

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอเรียกร้องความกระจ่างชัดของคำอธิบายที่จะกอบกู้ความเชื่อมั่นให้กลับมาอีกครั้งจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอัยการสูงสุดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและความเป็นนิติรัฐเพียงใดหรือไม่ รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาความสั่นคลอนของกระบวนยุติธรรมจากนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดิน อย่าปล่อยให้ความยุติธรรมถูกลบหลู่ดูแคลนจากทั้งสังคมไทยและสังคมโลก