'สภาพัฒน์' ขวาง สธ. จ่ายตอบแทน 'อสม.' หัวละ 500 ถึงก.ย.64

'สภาพัฒน์' ขวาง สธ. จ่ายตอบแทน 'อสม.' หัวละ 500 ถึงก.ย.64

ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 4 ราย กลับจากสหรัฐ-ไต้หวัน “สาธารณสุข” ยันจ่ายค่าตอบแทน อสม.19 เดือน เป็นกำลังใจขจัดโควิด สศช.ยืนยันเสนอ ครม.จ่ายให้ถึง ก.ย.นี้ เท่าบุคลากรการแพทย์ด้านอื่น ชี้หากระบาดยาวให้เสนอใหม่

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เปิดเผยว่า การระบาดโรคโควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย เป็นผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและเข้าสู่ State Quarantine โดยกลับจากสหรัฐ 3 ราย และไต้หวัน 1 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 3,295 ราย หายป่วย 3,111 ราย มีผู้ป่วยที่รักษาอาการ 126 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม และมีผู้เสียชีวิตรวม 58 ราย

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย ที่เดินทางจากสหรัฐ 3 ราย รายแรกเป็นนักท่องเที่ยวหญิงไทยอายุ 44 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 20 ก.ค. เข้าพัก State Quarantine จ.ชลบุรี และตรวจหาเชื้อวันที่ 25 ก.ค.พบเชื้อแต่ไม่มีอาการ ส่วนอีก 2 ราย เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 25 ปี และนักศึกษาหญิงไทย อายุ 21 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 25 ก.ค.ผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรคพบว่าเข้าเกณฑ์ PUI คือ ผู้ป่วยชาย มีอาการไข้และเจ็บคอ และผู้ป่วยหญิงมีอาการไข้และจมูกไม่ได้กลิ่น ซึ่งวันที่ 25 ก.ค.ได้ตรวจเชื้ออีกครั้งพบการติดเชื้อ 

ขณะที่ อีก 1 รายจากไต้หวัน เป็นชายไทย อายุ 30 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 21 ก.ค. เข้าพัก State Quarantine ที่กรุงเทพฯ และตรวจหาเชื้อวันที่ 25 ก.ค.พบเชื้อ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนไทยกลับจากต่างประเทศและกักตัวในศูนย์ของรัฐ 65,000 ราย กลับบ้าน 56,000 ราย ส่วนระบบคัดกรองผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพบ 358 ราย และการเข้ามาของแรงงานที่มีค่าใช้จ่ายยังสูงได้มอบให้กระทรวงแรงงานหารือระบบการกักตัวที่เหมาะสมและมีค่าใช้จ่ายต่ำลง

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ 16.4 ล้านราย รักษาหาย 10.04 ล้านราย เสียชีวิต 652,039 ราย

เสนอตอบแทน อสม.19เดือน

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การที่ไทยควบคุมการระบาดได้ดีจนเป็นที่ยอมรับระดับโลก นอกจากได้รับความร่วมมือจากชาวไทย เช่น การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ยังได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ร่วมขับเคลื่อนระบบเฝ้าระวังป้องกันการระบาด โดยลงพื้นที่ให้คำแนะนำ ประชาชนในชุมชน และติดตามผู้มีความเสี่ยงให้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรคหรือกักตัว 

ทั้งนี้ อสม.เป็นการทำงานที่เสี่ยงสูงทำให้ อสม.หลายคนป่วยหรือเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติงาน ดังนั้นการสร้างขวัญกำลังใจให้ อสม.จึงสำคัญ

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า อสม.มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ทำให้เกิดการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคภายใต้วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) สร้างความตระหนักไม่ให้ชุมชนการ์ดตก 

รวมทั้งรับหน้าที่เป็นด่านหน้าค้นหาคัดกรองประชากรกลุ่มเสี่ยง 14 ล้านครัวเรือน และติดตามกลุ่มเสี่ยง 1 ล้านคน ซึ่งเป็นการทำงานที่เสี่ยงสูงต้องทุ่มเทเวลาและค่าใช้จ่าย รวมทั้ง อสม.เป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดด้วย ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขเห็นควรให้ อสม.ได้รับค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยในการป้องกันโรค 500 บาท เป็นระยะเวลา 19 เดือน (มี.ค.2563-ก.ย.2564) ตามระยะเวลาพระราชกำหนดเงินกู้ 

ถึงแม้ว่าสถานการณ์โรคจะดีขึ้น แต่ อสม.ยังปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจากผลกระทบของโรคโควิด-19

สศช.ชง ครม.จ่ายถึง ก.ย.นี้

นายทศพร​ ศิริ​สัมพันธ์​ เลขาธิการ​สภา​พัฒนาการ​เศรษฐกิจ​และ​สังคม​แห่งชาติ​ (สศช.) กล่าวว่า คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้มีมติเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการนี้เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษคนละ 500 บาทต่อเดือน ให้แก่ อสม.และ อสส. รวมไม่เกิน 1.05 ล้านคนต่อเดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 ถึง ก.ย.2563 วงเงินไม่เกิน 3,622 ล้านบาท เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับบุคลากรทางการแพทย์อื่นตามมติ ครม.วันที่ 15 เม.ย.2563

รวมทั้งพิจารณาตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0408.5/ว102 ลงวันที่ 5 มิ.ย.2563 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งกำหนดอัตราการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และระยะเวลาสิ้นสุดการจ่ายเงิน เพิ่มพิเศษระยะแรกดังกล่าวไว้ที่เดือน ก.ย.2563

ทั้งนี้ หากกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มเกิดความเสี่ยงการระบาดมากขึ้นให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำเสนอเหตุผลความจำเป็น เพื่อขยายเวลาการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาพรวม

นอกจากนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้พิจารณาปัจจัยความไม่แน่นอนการระบาด ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะระบาดซ้ำหรือไม่ ซึ่งหากระบาดในวงกว้างอีกครั้งหนึ่งกรอบวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ในด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท จะสำคัญเป็นเพราะจะเป็นเม็ดเงินหลักในการแก้ไขปัญหาการระบาดซ้ำเป็นวงกว้างในไทย