ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ 'การเลือกตั้งท้องถิ่น'

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ 'การเลือกตั้งท้องถิ่น'

ทบทวนเรื่องน่ารู้ต่างๆ เกี่ยวกับ "การเลือกตั้งท้องถิ่น" ทั้งผู้มีสิทธิ์ลงเลือกตั้ง กฎหมายต่างๆ ก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ เนื่องจากประเทศไทยได้มีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นมาเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี

การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ หลังจากที่เราไม่ได้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเลยตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นเวลากว่า 6 ปี บางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็ไม่มีการเลือกตั้งฯมาเกือบ 10 ปี เพราะครบวาระแล้วแต่ก็ไม่ได้มีการเลือกตั้งฯแต่อย่างใด การเลือกตั้งฯครั้งนี้ได้สร้างความตื่นตัวให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่งเพราะทุกตารางนิ้วของประเทศไทยต่างอยู่ในเขตพื้นที่ของ อปท.ทั้งสิ้น

ที่สำคัญคือ อปท.นั้นเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของเราตั้งตื่นจนเข้านอน เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานทั้งปวง ฯลฯ ผมจึงขอนำข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามต่างๆ เฉพาะที่สำคัญๆ จาก พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ปี 62 และรัฐธรรมนูญฯ ปี 60 มานำเสนอเพื่อเป็นความรู้พื้นฐาน ดังนี้

  • ใครบ้างที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งฯ

ผู้มีสัญชาติไทย(บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาไม่น้อยกว่า 5 ปี)/อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง/มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งนั้นมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง ฯลฯ

ยกเว้นภิกษุสามเณร นักพรตหรือนักบวช/บุคคลผู้อยู่ในระหว่างการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง/ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย/ผู้วิกลจริตหรือฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่มีสิทธิเลือกตั้งฯ

  • ใครบ้างที่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งฯ

ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด/สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง ส่วนผู้บริหารท้องถิ่นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง/มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านใน อปท.ที่สมัครรับเลือกตั้งในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี /สำหรับผู้สมัครในตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นต้องจบปริญญาตรีขึ้นไป ยกเว้นนายก อบต.จบมัธยมปลายขึ้นไป(ยกเว้น คุณสมบัติด้านคุณวุฒิการศึกษาสำหรับผู้ที่เคยเป็นมาแล้ว) ส่วนสมาชิกสภาท้องถิ่นทุกประเภทไม่มีการจำกัดคุณวุฒิการศึกษาแต่อย่างใด/คุณสมบัติอื่นๆ ตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง อปท.นั้นๆ กำหนด

โดยต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม คือ ติดยาเสพติด/เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต/เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ /ภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช/อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง/วิกลจริตหรือฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ/ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล/เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ/เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น/เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ/เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ/

ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ไม่ว่าจะได้รับโทษหรือไม่ โดยได้พ้นโทษหรือต้องคำพิพากษามายังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี/เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือ ส.ว. หรือเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของ อปท.เดียวกันหรือ อปท.อื่น/ลักษณะอื่นตามที่กฎหมายจัดตั้ง อปท.นั้นๆกำหนด

นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดลักษณะต้องห้ามเป็นการพิเศษอีกด้วย คือ อยู่ในระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง/อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง/อยู่ในระหว่างถูกจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เพราะเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และมิได้แจ้งเหตุหรือตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส./เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ/เคยถูกสั่งให้พ้นราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ/

ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช./เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำการโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา

ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออกหรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือ หรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการค้ามนุษย์หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง/เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติหรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง/เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและยังไม่พ้น 5 ปีนับแต่วันที่พ้นจากการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง/เคยพ้นจากตำแหน่งใดๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่ อปท.นั้น หรือมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่ อปท.อื่น โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน และยังไม่พ้น 5 ปีนับแต่วันที่พ้นตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง/เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใดๆใน อปท.เพราะจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการหรือมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง/เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใดๆ ใน อปท.เพราะทอดทิ้ง หรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือ อปท.หรือแก่ราชการ และยังไม่พ้น 5 ปีนับแต่วันที่พ้นตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดคิดว่าคงจะพอทำความกระจ่างขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะไม่เช่นนั้นหากเราปล่อยปละละเลย ไม่ให้ความสนใจหรือไม่ไปใช้สิทธิไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกิจการสาธารณะ  และ “ราคาแห่งความเฉื่อยชาต่อกิจการสาธารณะคือการถูกปกครองด้วยคนชั่ว (The price of apathy towards public affairs is to be ruled by evil men.)” ดังเพลโตนักปรัชญาชาวกรีกได้เคยกล่าวไว้นั่นเอง