พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา แม่ทัพ 'ดอยคำ' กับ 'สินค้าเกษตร'

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา แม่ทัพ 'ดอยคำ' กับ 'สินค้าเกษตร'

พลิกธุรกิจเพื่อสังคมของ“ดอยคำ” จากขาดทุนให้มีกำไร และเอื้อประโยชน์ให้เกษตรกร โดยเน้นคำว่า ยั่งยืน ให้กับ "สินค้าเกษตร"

ดอยคำ ก่อตั้งขึ้นจากแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ที่ทรงมีพระราชประสงค์ในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทรงก่อตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปขึ้นในพื้นที่เกษตร เพื่อส่งเสริม รับซื้อ พัฒนา และแปรรูปผลผลิต ในราคาเป็นธรรม ปัจจุบันดำเนินกิจการในรูปแบบ ธุรกิจเพื่อสังคม สืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อความกินดี อยู่ดี ของประชาชนชาวไทย

159584309136

ครั้งนี้จึงมีโอกาสพูดคุยกับ พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทดอยคำ ผลิตภัณฑ์อาหารจำกัด

 

ก่อนอื่นอยากจะถามว่า “ดอยคำ” ก่อตั้งมาทั้งหมดกี่ปีแล้ว

ดอยคำก่อตั้งเป็นบริษัทเมื่อปีพ.. 2537 ตั้งโรงงานหลวงแห่งแรกเมื่อปีพ.. 2512 ถ้าผมจำไม่ผิด ช่วงแรกสังกัดอยู่ในโครงการหลวง พอปีพ.. 2537 ก็แยกออกมา ส่วนงาน Research and Development อยู่ในสังกัดมูลนิธิ งานด้านแปรรูปอาหารทั้ง 4 แห่งแยกออกมาก่อตั้งเป็นบริษัท

 

เพราะอะไรจึงแยกออกมาตั้งเป็นบริษัท

โครงการนี้เริ่มมาจากการแก้ปัญหาเรื่องฝิ่น ถ้าจะดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จะเห็นชัดว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงพระราชดำริในการแก้ปัญหาฝิ่น ต้นน้ำก็คืออ่างขาง สถานีเกษตรหลวงต่างๆ และศูนย์พัฒนาโครงการหลวง อีก 38 แห่ง เป็นการแก้ปัญหาเรื่องฝิ่น พืชเสพติด พอทำมาถึงปี 2535 ผลิตภัณฑ์โครงการหลวงก็เริ่มขายดีขึ้น แต่ยุคนั้นใช้ตราสัญลักษณ์ว่า ดอยคำทั้งผักสดและอาหารแปรรูป เริ่มส่งขายในห้างฯต่างๆ ตอนนั้นโครงการหลวงไม่เป็นนิติบุคคลอะไรเลย

จึงแยกโครงการหลวงออกเป็นสองส่วนคือ วิจัยและพัฒนาส่งเสริมเกษตร เป็นมูลนิธิโครงการหลวง เมื่อเป็นมูลนิธิ ทรงเห็นว่าเรื่องพวกนี้ ถ้ามีคนศรัทธาในงานที่ทำ ก็จะเอาเงินมาบริจาคให้ แต่ผลิตภัณฑ์แปรรูป เราต้องออกไปแข่งขันในตลาด ถ้ามีคนเอาเงินมาให้ ก็จะทำให้ต้นทุนเราถูกกว่า การแข่งขันกับคนอื่น เราก็ได้เปรียบ งั้นออกไปตั้งบริษัทแล้วไปแข่งขันในตลาด ก็เลยเอาโรงงานหลวงสำเร็จรูปทั้ง 4 แห่ง ที่ฝาง แม่จัน เต่างอย บุรีรัมย์ แยกออกมา แล้วให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ถือหุ้น

ก็เลยแยกโรงงานหลวงออกจากมูลนิธิ โครงการหลวง แล้วตั้งเป็นบริษัทเอกชน 100 เปอร์เซ็นต์ วันนั้นพระองค์ทรงมีรับสั่งว่า อยากให้บริษัทนี้เลี้ยงตัวเองได้ ส่วนพระองค์ไม่ต้องการเงินปันผล สมัยนั้นผมเชื่อว่ายังไม่มีใครพูดถึง Social Enterprise ไม่ว่าจะในอังกฤษ หรืออเมริกา ที่ไหนก็แล้วแต่

ดังนั้นคุณสามารถดำเนินกิจการของบริษัท โดยไม่ต้องกลัวว่า ผู้ถือหุ้นจะเอาเงินปันผล เราก็ทำมาเรื่อยๆ จากขาดทุนปีละหลายร้อยล้าน ค่อยๆ มีกำไร จากยอดขายปีหนึ่งประมาณ 300-400 ล้านบาท ขึ้นมาเป็น 2,000 ล้านบาท ขาดทุนอยู่หลายปี เพิ่งจะมากำไรเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี่เอง

 

ทำอย่างไรจึงพลิกสถานการณ์จากขาดทุนมาเป็นกำไร

เมื่อเป็นธุรกิจ เราก็ต้องทำแบบธุรกิจ เกษตรกรก็ได้รับผลกระทบบ้าง เช่น โรงงานหลวงที่ 4 ต้องหยุดดำเนินการ เพราะเงินไหลออกเยอะมาก เราทำข้าวโพดฝักอ่อนในน้ำเกลือ เงาะกระป๋อง พอหยุดโรงงาน ชาวบ้านตกงานหมดเลย แต่ ณ วันนี้ เราก็ยังพยายามช่วยเหลือเขาอยู่นะครับ เช่น ให้จัดกระเช้าของขวัญปีใหม่ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ รีแบรนด์ ปรับปรุงแพคเกจจิ้ง ส่งผลให้ค่อยๆ มีกำไร รวมถึงเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เดิมเราผลิตน้ำผลไม้กระป๋องเล็กๆ พอนำเครื่องมือทันสมัยเข้ามา ก็ผลิตได้มากขึ้น ต้นทุนถูกลง น้ำมะเขือเทศขายดีขึ้น เพราะเป็นเจ้าแรกที่ผลิต

เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงนำมะเขือเทศมาปลูกในภาคอีสาน ตอนนั้นมีปัญหาไม่เข้าใจกันเรื่องความคิดทางการเมือง การปกครอง มีเรื่องของพรรคคอมมิวนิสต์ ก็เลยเอามะเขือเทศมาแก้ปัญหาความยากจนในภาคอีสาน โดยใช้เป็นพืชหลังนา สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน

 

การพัฒนาผลิตภัณฑ์แบ่งเป็นกี่ช่วง

เราพัฒนาผลิตภัณฑ์มาตลอด เพราะเมื่อไหร่หยุดพัฒนา ก็คือคุณถอยหลัง เรามี Research and Development เป็นของเราเอง มีห้องทดลองที่ทำเรื่องสายพันธุ์ เพราะปลูกพืชไปสัก 5-6 ปีต้องพัฒนาแล้ว อย่างสตรอว์เบอร์รี่ปลูกสายพันธุ์เดียว 7 ปี ก็ไม่ได้แล้ว เกิดการถดถอยทางสายพันธุ์ ก็ต้องพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนนี้เราพัฒนาสายพันธุ์จาก 80 ไปเป็น 88 แล้ว ซึ่งกำลังจะออกผลในฤดูกาลที่จะถึง

  159584309174

สินค้าของดอยคำแบ่งเป็นกี่ประเภท

แบ่งตามสายการผลิต ก็น่าจะเยอะอยู่นะครับ ตั้งแต่น้ำผลไม้พร้อมดื่ม น้ำผลไม้เข้มข้น น้ำผลไม้สกัดเข้มข้น ผลไม้อบแห้ง เนื้อผลไม้ทาขนมปัง มีพวกซอสต่างๆ ตอนนี้มีซอสมะเขือเทศ กำลังจะออกซอสพริก มีน้ำสมุนไพรพร้อมดื่ม  น้ำผลไม้สกัดเย็น Cold Pressed ฆ่าเชื้อด้วยแรงดัน เพิ่งออกมาจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ปีนี้ออกมาเยอะมาก ตอนนี้น้ำผึ้งขายดีมาก ส่วนน้ำผึ้งผสมมะนาว เราผสมน้ำมะนาวจริงๆ แต่เก็บไว้ได้ไม่นานเท่าน้ำผึ้งล้วนๆ เราจึงบรรจุขวดเล็กกลัวคนรับประทานไม่ทัน เพราะเก็บได้แค่ปีเดียว ในงานโครงการหลวงจะมีน้ำผึ้งออกใหม่ก็คือ น้ำผึ้งจากดอกเก๊กฮวย สินค้าขายดีก็ยังเป็นน้ำมะเขือเทศดอยคำ คนที่ดื่มได้ ก็จะบอกว่าอร่อยมาก เพราะเป็นน้ำมะเขือเทศ 100 เปอร์เซ็นต์

การพัฒนาต่อยอดจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาจนถึงยุคในหลวง รัชกาลที่ 10 มีอะไรบ้าง

เราก็ยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น ห้องแล็บ ลงทุนไป 20 กว่าล้าน โรงเรือนสตรอว์เบอร์รี่ ซึ่งในอนาคตเราก็คงจะมีสตรอว์เบอร์รี่เหมือนที่ญี่ปุ่นรับประทาน แต่ก็คงไม่ได้ขนาดเท่าญี่ปุ่น เพราะอากาศเราไม่เย็นเท่าเขา ในเวลาเก็บเกี่ยวช่วงที่เย็นที่สุดของเราอยู่ที่ 14-15 องศา ในขณะที่ญี่ปุ่น 2-4 องศา เขาจึงเก็บไว้ได้นานกว่า สตรอว์เบอร์รี่พรีเมียมของเราเก็บมาวันต่อวัน รับประทานได้เลย ไม่ควรเก็บไว้นาน นอกจากนั้นเรากำลังพัฒนาสายพันธุ์เสาวรส คาดว่าเร็วๆ นี้คงได้ทานกันแน่ๆ ในอนาคตเราจะทำน้ำผลไม้คั้นสดมีร้านเอยู่ในห้างฯ

159584309135_1

 

ผลิตภัณฑ์ของดอยคำส่งออกที่ไหนบ้าง

ส่งไปหลายประเทศนะครับ ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน อเมริกาใต้ ชิลี อาร์เจนตินา รัสเซีย แต่ละที่ก็จะนิยมสินค้าไม่เหมือนกัน อย่างจีนนิยมผลไม้อบแห้ง ทางรัสเซียจะชอบน้ำผลไม้พร้อมดื่มแบบที่ประเทศเขาไม่มี ส่วนจีนเปิดตลาดได้น้อยมาก เพราะเขาต้องการเยอะมาก สั่งที 40 ตู้ ซึ่งวัตถุดิบเราไม่พอส่ง ส่งได้แค่ 4-5 ตู้เท่านั้นเอง

159584309137

 

ช่วงนี้ดอยคำมีโครงการเพื่อสังคมบ้างไหม

มีครับ ตอนนี้กำลังทำโครงการ “แกะ ล้าง เก็บเริ่มจากเรามองว่า เราคือผู้ให้กำเนิดขยะ เราต้องเป็นผู้จัดการขยะนั้นด้วย เพราะว่าเราขายน้ำผลไม้กล่อง เราก็ควรเก็บกล่องนั้นกลับมา ตอนนี้กำลังพูดถึงเรื่อง Circular Economy กันมาก ถ้าใครดื่มน้ำผลไม้เรา แล้วแกะกล่องล้างเก็บไว้ เราให้กล่องละ 1 บาท ถ้าใครเก็บกลับมาทุกไซส์จะเป็นส่วนลดทันที 1 บาท เป็นวิธีการสอนลูกๆ ให้รู้จักการเก็บขยะ แล้วเราก็เอาขยะเหล่านี้มาแยกส่วน แล้วเอามาทำ แผ่นอีโคบอร์ดทำเป็นผนังบ้านก็ได้ ซึ่งตอนนี้เราเอามาทำเป็น พาเลทไม้เทียมเพื่อทดแทนการใช้ไม้ฉำฉา

อย่างที่บอก เมื่อเราเก็บกลับมาแล้ว ก็เอามาทำ Second Use นอกจากแกะ ล้าง เก็บ เรายังงดใช้ถุงพลาสติก เราก็เอากล่องใส่น้ำผลไม้วางไว้ ลูกค้าหยิบไปใช้ได้ เอาของที่ซื้อใส่กล่องกลับไปที่รถ กล่องนั้นยังกลายเป็นถังขยะที่บ้านใช้ได้อีกหลายครั้ง หรือจะเอากล่องนั้นไปใส่ของส่งให้คนต่างจังหวัดได้อีก อย่างน้อยก็มีการใช้ประโยชน์ซ้ำได้อีกหลายหน

159584309157

 

โลกเรากำลังตื่นตัวเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อม ?

ใช่ครับ ตอนนี้เรื่องของ Circular Economy เป็นคีย์เวิร์ดใหญ่มาก ถ้าคุณไม่ทำ ก็อยู่ไม่ได้ในโลกนี้ ในที่สุดแล้วก็จะมีคำถามว่าคุณรักใครที่สุด ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่ารักครอบครัว รักลูก แต่คุณจะส่งต่อโลกที่มีแต่ขยะให้กับลูกที่คุณรักที่สุดหรือเปล่า ถ้าคุณไม่หันกลับมาช่วยกันดูแลโลกหน่อย เพื่อคนรุ่นต่อไปจะได้อยู่บนโลกนี้ต่อไปอย่างมีความสุข ไม่ใช่โลกที่มีแต่ ฝุ่นPM2.5

ช่วงที่มีโควิด เป็นช่วงที่ทุกปีเมืองไทยจะมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างรุนแรง แต่พอทุกคนอยู่บ้านอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตน ท้องฟ้าก็แจ่มใส อากาศดีตลอดเดือนเมษายน เห็นได้ว่าของเหล่านี้มันเกิดขึ้นจากคนจริงๆ

 

คุณร่ำเรียนมาทางด้านการตลาดหรือเปล่า

จริงๆ แล้วผมเรียนจบคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ครับ แล้วไปต่อทางด้าน Public Advertising กับ Business Advertising สองปริญญาโท ที่ USC แคลิฟอร์เนีย เรียน 2 ปีได้มาสองปริญญา การเรียน Public Advertisingจะมองเรื่องสังคมได้อะไร ทำไปแล้วสังคมมีประโยชน์ยังไง ขณะที่เรียน Business Advertising จะมองเรื่องบริษัทได้อะไร จะมีกำไรยังไง เพราะฉะนั้นการมาทำธุรกิจเพื่อสังคม ต้องทำทั้งสองอย่างไปด้วยกัน เป้าหมายก็คือบริษัทจะได้อะไร มีกำไรยังไง กับการที่ทำไปแล้วสังคมจะได้อะไรด้วย ก็ค่อนข้างจะตรงกับการที่ได้ไปเรียนมา

 

เรียนจบแล้วเข้ามาทำงานที่ดอยคำเลยใช่ไหม

ไม่ใช่ครับ เรียนจบแล้วผมทำงานที่อเมริกา 3 ปี เงินเดือนหมื่นสองพันเหรียญ แล้วกลับมาทำงานที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เงินเดือน 7,000 บาท ก็ต้องรับได้ เพราะเราเลือกเอง แล้วผมก็ได้เป็นคนจดทะเบียนตั้งบริษัทดอยคำในปี 2537 ทำงานกับบริษัทดอยคำจนถึงทุกวันนี้ การที่ประสบความสำเร็จถึงขนาดนี้ก็ไม่ใช่ผมคนเดียวที่ทำ ต้องบอกว่าเป็นคณะที่อยู่ในดอยคำ เป็น คนดอยคำทำให้เกิดขึ้น ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง

159584309194

 

คอนเซ็ปต์ของดอยคำคืออะไร

เป็นธุรกิจเพื่อสังคมครับ เราต้องมีกำไร การที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน ต้องมีสตางค์ที่จะเอามาพัฒนาในเรื่องต่างๆ มีเงินจ้างพนักงานที่จ้างได้เท่ากับราคาตลาด ไม่งั้นผมก็จะไม่มีคนที่มีคุณภาพที่จะมาทำงาน ถูกไหมครับ ผมต้องมีคอมพิวเตอร์ให้เขาทำงาน ก็ต้องเปลี่ยนทุกๆ 3 ปี ของพวกนี้ถ้าคุณไม่มีสตางค์ จะเอาที่ไหนไปเปลี่ยน เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนตลอดเวลา เพราะฉะนั้นกำไรก็เป็นเรื่องสำคัญ การทำเพื่อสังคมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คอนเซ็ปต์ของเราคือ Social Business ต้องการกำไรและช่วยเหลือสังคมด้วย

159584309032_1

คุณทำงานหนัก แบ่งเวลาพักผ่อนอย่างไรบ้าง

ทำงานไม่หนักเลย ผมรู้สึกว่า ตื่นขึ้นมาแล้ว ไม่มีวันไหนที่ไม่อยากมาทำงาน เป็นสิ่งที่ทำไปแล้วได้ประโยชน์ทั้งคนที่อยู่กับเรา คนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกับเรา ผู้บริโภค เกษตรกรต่างๆ ได้เห็นเขาอยู่ดีกินดีมากขึ้น ผมว่าในชีวิตคนๆ หนึ่ง การจะบอกว่าเราประสบความสำเร็จ ไม่ได้วัดที่ฉันทำเงินได้มหาศาล ในที่สุดแล้วมื้อหนึ่งคุณกินข้าวอย่างมากไม่น่าจะเกินร้อยกว่าบาท นอกจากคุณจะกินดาว กินเดือน กินอะไรที่ประหลาดมหัศจรรย์ หากเป็นอย่างนั้นมื้อหนึ่งก็คงไม่เกินสองแสน

สำหรับผมอย่างมากก็แค่ผัดกะเพราไข่ดาว ชีวิตก็อยู่ได้แล้ว ผมว่าการจะหาสตางค์เยอะๆ แล้วไปเบียดเบียนคนอื่น อันนั้นไม่น่าจะใช่เป้าประสงค์ของคนที่เป็นวิญญูชน หรือผู้ที่เจริญแล้วแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ว่าเป็นบัวพ้นน้ำและบานแล้ว เบิกบานด้วยจริยธรรมทั้งปวง

ผมไม่เคยไปปฏิบัติธรรมเลย แต่ก็เข้าวัดบ้าง คุณพ่อ(พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา)พาเข้าวัดมาตั้งแต่ 7-8 ขวบ อย่างวัดทางภาคอีสาน พระอาจารย์แบนที่เพิ่งละสังขารไป ฟังท่านสอนหลายๆอย่าง เช่น ท่านบอกว่าคนเรา ถ้าจิตอยู่ในวัด เมื่อไหร่คุณก็อยู่ในวัด แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวอยู่ในวัด แต่จิตอยู่พารากอน ตัวคุณก็อยู่พารากอน เพราะฉะนั้นจิตเป็นนาย และกายเป็นบ่าว

159584309279

การที่คุณคุมสติ ให้มีสติตลอดเวลา รู้ว่าตอนนี้ฉันกำลังทำอะไรอยู่ ปฏิบัติอะไรอยู่ แล้วพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร ถ้ามีอยู่ในใจตลอดเวลา ก็แสดงว่าคุณไม่ได้อยู่นอกวัดเลยแม้แต่วินาทีเดียวในทุกลมหายใจเข้าออก อย่างในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงประพฤติตนอย่างพุทธมามกะมาโดยตลอด มีคนมักพูดว่าถึงเวลาแล้วต้องไปเข้าวัด สวดมนต์ ภาวนา ออกจากวัดก็กิเลสตามมาอย่างเดิม อันนั้นก็ไม่ใช่อยู่ดี

เรามีกฏหมายปกครองประเทศหลายพันข้อ คนก็ยังเต็มคุกอยู่ดี แทบไม่พออยู่ หลักปฏิบัติตน 5 ข้อ ถ้าทำได้ก็คือ ศีล 5 ผมถามว่าถ้าทุกคนในประเทศไทย ประพฤติตนถือศีล 5 คุณจะมีคุกไว้ทำอะไร ผมเชื่อว่าสังคมก็จะมีความสุข ในเมื่อเราอยู่ในประเทศที่เป็นพุทธ แล้วทำไมเราไม่มีความเป็นพุทธอยู่เลย

สุดท้ายนี้ผมอยากฝากถึงคนไทยทุกคนว่า ในช่วงโควิด-19 นี้มีอะไรที่ช่วยกันได้ ก็ขอให้ช่วยกัน คิดถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก อย่าไปคิดว่าคนนั้นคนนี้จะได้ประโยชน์ เราจะไม่ได้อะไร ต้องคิดว่าประเทศชาติจะอยู่อย่างไร อนาคตหากหมดจากโควิดแล้ว อาจจะมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นอีก เราจะทำอย่างไรถ้าประเทศเราเปิดไม่ได้จริงๆ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ให้ได้ประโยชน์สูงสุดเป็นเรื่องที่สำคัญมากนะครับ