สำรวจจุดเกิดเหตุ 'บอส ชนตำรวจ' พิสูจน์ปากคำ 2 พยาน

สำรวจจุดเกิดเหตุ 'บอส ชนตำรวจ' พิสูจน์ปากคำ 2 พยาน

"ทีมอาชญากรรมเนชั่นทีวี" ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุ "บอส อยู่วิทยา ชนตำรวจ" พิสูจน์ปากคำ 2 พยานปากเอกกรณีทายาทตระกูลดังควบเฟอร์รารีความเร็วแค่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ขณะที่ผู้ตายขี่มอเตอร์ไซค์เปลี่ยนช่องจราจรจากซ้ายสุดเป็นขวาสุดเพื่ออะไร ทั้งๆ ที่เป็นคนละทางหากจะกลับ สน.ทองหล่อ สืบผ่านโซเชียลฯ 2 พยานเป็นใคร อยู่ที่ไหน เหตุใดเพิ่งโผล่ให้การหลังคดีผ่านมานานถึง 7 ปี

ภายหลังมีการเปิดเอกสารสำนวนการสอบสวน ซึ่งเป็นหนังสือ "คำสั่งไม่ฟ้อง"ของอัยการ ในคดี นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ขับรถชน ดาบตำรวจ วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 โดยเป็นสำนวนการสอบสวนที่ได้สอบเพิ่มเติมเมื่อปี 2562 หลังจากทนายความของ นายวรยุทธ ยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการนั้น

จากการตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดของ "เนชั่นทีวี" พบว่า ในสำนวนการสอบสวนได้ปรากฏชื่อตัวละครใหม่ 2 ราย เป็นพยานปากเอกที่ทำให้อัยการใช้เป็นเหตุผลในการสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ ทุกข้อหา โดยพยานคนแรกเป็นบุคคลที่มียศทหารอากาศระดับนายพล แต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นนายทหารในหรือนอกราชการ ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นพลเรือน

พยานบุคคล 2 ปากนี้ให้ปากคำกับตำรวจเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 อ้างว่าขณะเกิดเหตุ นายวรยุทธ ขับรถยนต์เฟอร์รารีมาในช่องทางเดินรถที่ 3 ชิดเกาะกลางถนน ด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนรถของพยานเป็นรถกระบะ ขับมาในช่องทางเดินรถที่ 2 (ช่องกลาง) ขณะที่ ดาบตำรวจวิเชียร ผู้ตาย ซึ่งเป็นตำรวจ สน.ทองหล่อ ขับขี่รถจักรยานยนต์แล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 1 ช่องซ้ายสุด จากนั้น ดาบตำรวจวิเชียร ได้ขับรถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางเดินรถจากช่องทางที่ 1 ผ่านช่องทางเดินรถที่ 2 ที่รถของพยานขับมา ทำให้รถของพยานต้องชะลอความเร็วและหักพวงมาลัยหลบไปทางซ้ายมือเพื่อไม่ให้ชนกับรถจักรยานยนต์ของ ดาบตำรวจวิเชียร จากนั้นรถจักรยานยนต์ของ ดาบตำรวจวิเชียร ยังแล่นเข้าไปในช่องทางเดินรถที่ 3 ที่ นายวรยุทธ ขับมาในระยะกระชั้นชิด ทำให้รถยนต์ที่ นายวรยุทธ ขับมาชนท้ายรถจักรยานยนต์ของ ดาบตำรวจวิเชียร เป็นเหตุให้ ดาบตำรวจวิเชียร ถึงแก่ความตาย

จากสำนวนการสอบสวนที่มีการสั่งสอบเพิ่มเติมโดยฝ่ายตำรวจ โดยเฉพาะปากคำของพยานปากเอกทั้ง 2 ปาก จนทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนั้น มีข้อสังเกตสำคัญที่ทำให้สังคมคาใจอยู่ 3 ประการ คือ

1. ประเด็นความเร็วของรถ เหตุใดจึงเปลี่ยนแปลงไปจากสำนวนการสอบสวนเดิมที่ตำรวจเองส่งสำนวนพร้อมความเห็น "สมควรสั่งฟ้อง" ไปให้อัยการตั้งแต่หลังเกิดเหตุระหว่างปี 2555-2556 ระบุว่า นายวรยุทธ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด

2. จากคำให้การของพยานปากเอกทั้ง 2 ปาก ที่เพิ่งโผล่มาให้การเมื่อปลายปี 2562 หลังเกิดเหตุ 7 ปี ทำให้น่าสงสัยว่า ดาบตำรวจวิเชียร ขับขี่รถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางจากซ้ายสุดไปขวาสุดทำไม ทั้งๆ ที่เส้นทางถนนสุขุมวิทขาออกที่กำลังมุ่งหน้าสู่ปากซอยทองหล่อ หรือ ซอยสุขุมวิท 55 เพื่อกลับโรงพักนั้น ดาบตำรวจวิเชียร สมควรใช้ช่องทางซ้ายสุดอยู่แล้ว

และ 3. พยานทั้ง 2 คนเป็นใคร มีตัวตนจริงหรือไม่

"ทีมข่าวอาชญากรรมเนชั่นทีวี" ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า สำนวนการสอบสวนในส่วนของ "ความเร็วรถ" ในสำนวนใหม่ที่อัยการให้ตำรวจสั่งสอบเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงไปจากสำนวนเดิมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ โดยในสำนวนเดิมที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง นายวรยุทธ อ้างอิงผลการตรวจของกองพิสูจน์หลักฐานที่ใช้การคำนวณระยะเบรกจากรอยล้อบนพื้นถนน และการยุบตัวของโครงรถจากการชน ประกอบหลักฐานอื่นๆ จนได้ข้อสรุปว่ารถของ นายวรยุทธ แล่นมาด้วยความเร็วสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด คือ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คำถามก็คือเหตุใดสำนวนการสอบสวนที่สอบใหม่จึงให้น้ำหนักเฉพาะประจักษ์พยาน 2 ปากมากกว่าผลตรวจที่เป็นวิทยาศาสตร์

ส่วนประเด็นคำให้การของพยานเรื่องการขับขี่รถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องจราจรของ ดาบตำรวจวิเชียร ที่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าผู้ตายจะเปลี่ยนช่องจราจรทำไมนั้น "ทีมข่าวอาชญากรรมเนชั่นทีวี" ได้ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางบริเวณจุดเกิดเหตุอีกครั้ง คือถนนสุขุมวิทขาออก มุ่งหน้าพระโขนง ซึ่งเป็นฝั่งซอยเลขคี่ โดยจุดเกิดเหตุเฉี่ยวชนอยู่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 47 ในช่องทางเดินรถที่ 3 ติดกับเกาะกลางถนน โดยช่วงปี 2555 ที่เกิดเหตุนั้น สภาพถนนจุดนี้มีฝาท่อระบายน้ำอยู่ แต่ปัจจุบันนั้นไม่มีแล้ว และหลังเกิดเหตุเฉี่ยวชน รถของ นายวรยุทธ ได้ลากรถจักรยานยนต์ของ ดาบตำรวจวิเชียร ไปไกลจากปากซอยสุขุมวิท 47 ไปจนถึงปากซอยสุขุมวิท 49 ระยะทางประมาณ 200 เมตร โดยพบศพ ดาบตำรวจวิเชียร ในช่องทางเดินรถที่ 3 ติดเกาะกลางถนน ทิ้งร่องรอยคราบน้ำมันเครื่องรถไหลยาวเป็นทาง ไปจนถึงหน้าบ้านของผู้ก่อเหตุ เพราะผู้ก่อเหตุขับหลบหนี ไม่ได้หยุดรถลงมาช่วยเหลือผู้ตาย

จากการสำรวจเส้นทางล่าสุด พบว่าเมื่อใช้เส้นทางวิ่งถนนสุขุมวิทขาออกมุ่งหน้าไปยังพระโขนง บริเวณปากซอยสุขุมวิท 47 จะพบป้ายบอกทางอยู่ด้านบน แสดงเครื่องหมายว่าอีก 100 เมตรจะเป็นจุดกลับรถ ซึ่งจุดกลับรถจะอยู่เยื้องกับบริเวณปากซอยสุขุมวิท 49 พอดี ส่วนจุดกลับรถถัดไปอยู่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 55 ซึ่งเป็นแยกไฟแดง หากเลี้ยวซ้ายเข้าซอยสุขุมวิท 55 จะมุ่งหน้าไป สน.ทองหล่อ ซึ่งหากพิจารณาจากเส้นทาง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนช่องจราจรเพื่อกลับรถ แต่ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ หาก ดาบตำรวจวิเชียร เสร็จภารกิจแล้วกำลังจะมุ่งหน้ากลับโรงพัก เหตุใดจึงต้องกลับรถไปคนละทางกับ สน.ทองหล่อ

อีกประเด็นหนึ่งคือตัวตนของพยานบุคคลทั้ง 2 ปาก ซึ่งกลายเป็นพยานปากเอก แต่มาปรากฏในสำนวนการสอบสวนหลังเกิดเหตุถึง 7 ปี ทำให้เกิดคำถามว่า หากเป็นพยานที่เห็นเหตุการณ์จริง เหตุใดจึงไม่มีการสอบปากคำตั้งช่วงหลังเกิดเหตุใหม่ๆ หากตำรวจหาตัวไม่พบ หรือเพิ่งหาตัวพบในตอนหลัง ก็น่าสงสัยว่าคำให้การยังน่าเชื่อถืออยู่หรือไม่ เนื่องจากเหตุการณ์ผ่านมานานถึง 7 ปีแล้ว (มีหลายคดีที่ส่งถึงศาล และให้น้ำหนักประจักษ์พยานค่อนข้างน้อย หากเหตุการณ์ผ่านมานานหลายปีแล้ว) และคดีนี้เป็นข่าวใหญ่ครึกโครม รับรู้กันทั้งโลก เหตุใดที่ผ่านมาพยานทั้ง 2 ปากจึงไม่แสดงตัว หรือไปพบตำรวจเพื่อให้ปากคำเสียตั้งแต่เนิ่นๆ

"ทีมข่าวเนชั่นทีวี" ได้ตรวจสอบข้อมูลของพยานบุคคลทั้ง 2 ปากจากอินเทอร์เน็ต และเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อตรงกับบุคคลทั้งสอง พบว่าคนที่มียศทหารอากาศ โพสต์รูปครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2018 หรือเกือบ 2 ปีก่อน โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวไม่ได้ตั้งสถานะเป็นสาธารณะ ขณะที่เฟซบุ๊กของพยานที่เป็นพลเรือน ระบุข้อมูลว่า มีภูมิลำเนาอยู่ที่เทศบาลนครเชียงใหม่ และมีความเคลื่อนไหวล่าสุดโพสต์รูปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2019 โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวไม่ได้เปิดสถานะเป็นสาธารณะเช่นกัน

สำหรับพยานที่มียศทหารอากาศ จากการค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตยังพบว่าเป็นหุ้นส่วนของบริษัทผลิตยุทโธปกรณ์แห่งหนึ่ง และเคยเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐในการผลิตรถกันกระสุน วงเงินกว่า 11 ล้านบาท เมื่อปี 2557 ด้วย