ตลาดแรงงานน่าห่วง! ว่างงานกระทบ 'ค้าปลีก'

ตลาดแรงงานน่าห่วง! ว่างงานกระทบ 'ค้าปลีก'

ตลาดแรงงานยังน่าห่วง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาวิกฤติโควิด-19 แทบจะชัตดาวน์หลายธุรกิจในไทย หนึ่งในผลกระทบคือแรงงานในเซ็กเตอร์ต่างๆ ต้องว่างงานลง มีการประมาณการว่าก่อนเปิดล็อกดาวน์มีคนว่างงาน 8.4-9 ล้านคน ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อที่ลดลงและธุรกิจค้าปลีก

หลังเปิดพื้นที่เศรษฐกิจเดือน มิ.ย. สถานประกอบการเริ่มทยอยเปิดกิจการ แต่ด้วยกำลังซื้อที่อ่อนแอ! ทั้งจากการไม่มีรายได้ช่วงล็อกดาวน์ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังวิตกกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นรายได้ในอนาคต และหรือกังวลการติดเชื้อ ประมาณการก่อนเปิดล็อกดาวน์มีคนว่างงาน 8.4-9 ล้านคน หลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ คาดมีประมาณ 3.2 ล้านคน ในจำนวนนี้มีคนว่างงานตามมาตรา 33 ยื่นขอรับสิทธิการว่างงานต้นเดือน มิ.ย. ถึง 1.44 ล้านคน ตัวเลขนี้ยังไม่รวมเด็กจบใหม่อีก 5.5 แสนคน!!

  • สมทบการว่างงาน แรงงานจบใหม่อีก 5.5 แสนคน

ปัจจุบันมีผู้ว่างงานโดยเฉลี่ย 4 แสนคนในแต่ละเดือน ซึ่งนักศึกษาจบใหม่ปีนี้จะมีราว 5.5 แสนคน โอกาสการว่างงานจากเด็กจบใหม่ หากมองในแง่ดีจะมี 50:50 ส่วนหนึ่งเข้าสู่ตลาดงาน ส่วนหนึ่งศึกษาต่อ และอีกส่วนหนึ่งหันมาประกอบอาชีพอิสระ แต่หากมองในแง่ลบจากผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ในปีนี้อาจทำให้เด็กจบใหม่เข้าสู่ตลาดงานได้เพียง 20-30% ซึ่งจะทำให้มีแรงงานวัยตอนต้นตกค้าง 4.4 แสนคน เข้ามาผสมโรงในระบบคนว่างงาน

เราจะเห็นสัญญานของเด็กจบใหม่ตกงานสูงสุดในไตรมาสที่ 3 และจะลดลงในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากแรงงานขับเคลื่อนเข้าสู่ตลาดงานในช่วงเตรียมกำลังการผลิต การส่งเสริมการขายและการตลาด รวมถึงภาคบริการเพื่อรองรับกำลังซื้อตามเทศกาลต่างๆ ในช่วงปลายปีจนถึงต้นปีหน้า 

ถ้า...สถานการณ์โควิด-19 ไม่กลับไปเลวร้ายลงไปอีก! คาดว่าถึงสิ้นปี 2563 จะมีแรงงาน “ตกงาน” ประมาณ 3.2 ล้านคน และการว่างงานจากเด็กจบใหม่อีก 4.4 แสนคน อัตราการว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 10% ซึ่งเลวร้ายกว่า วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 มาก

  • ผลกระทบต่อภาคค้าปลีกในครึ่งปีแรกของปี 2563 ติดลบ 25-45%

ข้อมูลจาก “สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” ได้รับรายงานว่า ธุรกิจค้าปลีกไทยโดยภาพรวมช่วงเดือน ม.ค. ลดลง 2-5% เทียบปีก่อน จากกำลังซื้อที่อ่อนตัวลงตั้งแต่ปลายปี 2562 จนเมื่อเริ่มปฐมเหตุการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในเดือน ก.พ. ค้าปลีกโดยรวมลดลงมากถึง 5-10% เทียบกับปีที่แล้ว จนกระทั่งกลางเดือน มี.ค.  เมื่อมีประกาศมาตรการเข้มข้นเพื่อหยุดการแพร่เชื้อโควิด-19 ของกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ เดือน มี.ค. น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คาดว่าลดลง 10-15% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีผลกระทบซ้ำเติมในไตรมาส 2 ที่ภาคค้าปลีกค้าส่งต้องปิดกิจการนานกว่า 54 วัน และเมื่อเปิดดำเนินธุรกิจได้ สถานการณ์การขายฟื้นขึ้นเพียง 20% คาดว่า การเติบโตของภาคธุรกิจค้าปลีกในครึ่งปีแรกของปี 2563 น่าจะ ติดลบ 25-45%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขึ้นอยู่กับธุรกิจมีความเชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยวมากหรือน้อย

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและธุรกิจค้าปลีกบริการอย่างภัตตาคาร ร้านอาหาร มีการจ้างงานโดยตรงและโดยอ้อม 8-9 ล้านคน ซึ่งเป็นแหล่งดูดซับและยืดหยุ่นการจ้างงานที่เป็นธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. ที่ภาคธุรกิจค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการต้องหยุดกิจการ ธุรกิจหลายแห่งก็ประกาศปิดกิจการเลิกจ้างเป็นจำนวนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ก็มีลดการจ้างงาน 20-30% ช่วงไตรมาสที่ 3 เมื่อสิ้นสุดเงินชดเชยประกันสังคม คาดว่า ภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการ จะมีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นราว 20% ของการจ้างงานปกติ

  • ตลาดแรงงานจากนี้ไปน่าวิตก

โดยรวมภาคเศรษฐกิจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ภายในระยะสั้น! เพราะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกซึ่งคาดว่าจะยาวนานอย่างน้อยไปถึงกลางปีหน้า ทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานประกอบการภาคเอกชนอยู่ในช่วงชะลอการจ้างงานจนไปถึงการปลดคนงาน ซึ่งจะเริ่มเห็นภาพการปิดกิจการเลิกจ้างกันมากๆ เดือน ก.ค.-ก.ย.

ตลาดแรงงานนับจากนี้ไปยังยืนอยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วง! คลื่นคนว่างานกำลังก่อตัว อาจกลายเป็นสึนามิ มหันตภัยแรงงานได้