อนาคตสงครามเย็น

อนาคตสงครามเย็น

ปัจจุบันความเสี่ยงสงครามเย็นระหว่าง 2 มหาอำนาจที่จะแปรเปลี่ยนไปเป็นสงครามร้อนยังไม่สูง และอาจลดลงต่อไป หากประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่เปลี่ยนกลยุทธ์ในการต่อกรกับจีน ซึ่งมี4 สมรภูมิหลักที่เป็นปัจจัยในการพิจารณาว่าพัฒนาการสงครามเย็นจะเป็นอย่างไรต่อไป

ตื่นขึ้นตอนกลางดึก ร่างกายสั่นสะท้านหนาวเหน็บ ในหัวหวนกลับไประลึกถึงความฝันที่ยังติดอยู่ในคนึงจิต ในความฝันนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐที่ไร้หน้าตา ได้ประกาศสงครามกับมหาอำนาจแห่งบูรพาทิศ น่านน้ำแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก คราคร่ำด้วยเรือรบของทั้ง 2 ฝ่ายที่หันปลายกระบอกปืนเข้าหากัน หมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ทะเลฟิลิปปินส์ และไมโครนิเซีย หนาแน่นไปด้วยทหารเรือจีนที่พร้อมเข้าประจัญบานกับนาวิกโยธินสหรัฐและพันธมิตรที่ประจำการในเกาะกวม เกาหลีใต้ และในอาเซียน

สลัดภาพเหล่านั้นออกจากหัว หันมาสู่โลกปัจจุบัน ระลึกได้ว่า ในปัจจุบันความเสี่ยงที่สงครามเย็นระหว่าง มหาอำนาจที่จะแปรเปลี่ยนไปเป็นสงครามร้อนยังไม่สูงนัก และอาจจะลดลงในระยะต่อไป หากประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่เปลี่ยนกลยุทธ์ในการต่อกรกับจีน

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนหลักคือ ใครจะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหลังเดือน พ.ย.นี้ หลังจากที่คะแนนนิยมทรัมป์ลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับ โจ ไบเดน แห่งพรรค Democrat ทำให้การคาดการณ์อนาคตสงครามเย็นที่อาจพลิกผันเป็นสงครามร้อนยากขึ้น กระนั้นก็ตาม หากต้องคาดการณ์แล้วนั้น จุดเริ่มต้นคือ ต้องพิจารณาพัฒนาการของสงครามเย็นของ มหาอำนาจปัจจุบันผ่าน สมรภูมิหลัก

1.ด้านการค้าหลังจากทรัมป์บีบให้จีนทำตามสนธิสัญญาการค้า Phase 1 จีนส่งสัญญาณยอมทำตามมากขึ้น โดยเริ่มเห็นการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ข้อตกลงการค้าด้านอื่นๆ เช่น การเคารพสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดเสรีด้านการเงิน จีนก็เริ่มเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น ทำให้ผู้แทนการค้าสหรัฐกล่าวชื่นชมพัฒนาการดังกล่าว

2.ด้านเทคโนโลยี เป็นสมรภูมิที่มีการสู้รบกันมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้แก่การต่ออายุการคว่ำบาตรผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมอันดับหนึ่งอย่าง Huawei และ ZTE โดยห้ามบริษัทเอกชนสหรัฐทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว นอกจากนั้น ในปัจจุบันพันธมิตรของสหรัฐก็หันมาแบนบริษัทเทคโนโลยีจีนมากขึ้นด้วยข้อกล่าวหาด้านความมั่นคงเช่นกัน โดยล่าสุดได้แก่อังกฤษที่สั่งแบนการติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคมใหม่จาก Huawei รวมถึงให้ถอดชิ้นส่วนเก่าของ Huawei ให้หมดภายในปี 2027 

3.ด้านการเงิน มีความเข้มงวดขึ้นหลังจากสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายที่ให้อำนาจทางการในการเพิกถอนการจดทะเบียนบริษัทจีนจากตลาดหลักทรัพย์ หากไม่ทำตามข้อกำหนดด้านการเงินของสหรัฐ

และ 4. ด้านความมั่นคง โดยล่าสุด ทางการสหรัฐออกมาตรการคว่ำบาตรกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่จีนออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่ให้อำนาจแทรกแซงและครอบงำฮ่องกงมากขึ้น ทำให้จีนประกาศคว่ำบาตรวุฒิสมาชิกสหรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกกฎหมายคว่ำบาตรนี้กลับ

มองไปข้างหน้า ไม่ว่าทรัมป์ หรือโจ ไบเดน จะได้รับเลือกตั้ง ผู้เขียนมองว่าสงครามเย็นจะยังอยู่ แต่เปลี่ยนรูปแบบไป โดยหากทรัมป์ยังได้กลับมารับเลือกตั้งรอบ 2 ผู้เขียนมองว่าการใช้รูปแบบการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมาเป็นแต้มต่อรองจะน้อยลง เนื่องจากจะกระทบต่อเศรษฐกิจทั้ง 2 ฝ่าย และยังไม่ได้ผลในการคุมการเติบโตด้านการค้าของจีนในระยะยาวด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสหรัฐและโลกมาก

แต่สหรัฐและชาติพันธมิตรจะใช้ประเด็นเรื่อง Supply chain ในการสนับสนุนให้บริษัทสหรัฐถอนการลงทุนออกจากจีนแทน รวมถึงสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ชาติพันธมิตรลดระดับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงถอนการลงทุนออกจากจีนเช่นกัน

ประเด็นที่สหรัฐโดยการนำของทรัมป์ รวมถึงชาติพันธมิตรจะใช้ในการคว่ำบาตรจีนโดยหลักจะเป็นด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการห้ามใช้อุปกรณ์เครือข่ายเทคโนโลยีจากจีน และการห้ามซื้อขาย ทำธุรกรรมกับบริษัทเทคโนโลยีจีน ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของสถาบัน Center for Strategic and International Studies ที่ว่าการคว่ำบาตรในรูปแบบนี้จะได้ผลที่สุดและความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐจะต่ำที่สุด

แต่หากโจ ไบเดน ได้รับการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.นี้แล้วนั้น แนวนโยบายด้านการค้าอาจเปลี่ยนไป โดยอาจลดทอนหรือยกเลิกอัตราภาษีที่สหรัฐเก็บกับจีน แลกกับการที่จีนจะต้องยอมทำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกัน เช่น มาตรฐานสินค้า การคุมครองแรงงาน ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และการลดทอนอิทธิพลและขนาดของรัฐวิสาหกิจในเศรษฐกิจ เป็นต้น นอกจากนั้น ไบเดนน่าจะใช้การผลักดันผ่านองค์กรและความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้ง WTO, CPTPP รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศด้านอื่นๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วไม่น่าจะมีอิทธิพลในการเปลี่ยนพฤติกรรมของจีนได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ด้านสงครามเย็นของไบเดนที่จะเหมือนทรัมป์ คือการผลักดันผ่านการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีที่มากขึ้น เพราะเป็นฉันทมติของผู้กำหนดนโยบายสหรัฐ ที่เชื่อว่าจีนต้องการเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยี และต้องการมีอิสรภาพด้านเทคโนโลยีให้มากที่สุด เห็นได้จากการที่จีนทุ่มเทงบประมาณด้านงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี (จาก 0.5% ต่อ GDP ในปี 1995 เป็นประมาณ 2.5% ในปัจจุบัน ใกล้เคียงสหรัฐที่ 2.75%) 

กระนั้นก็ตาม การบีบจีนด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทำให้ความเสี่ยงสงครามร้อนระหว่างจีนและสหรัฐรวมถึงชาติพันธมิตรเป็นไปได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่แสนยานุภาพด้านการทหารของจีนรุดหน้าขึ้น โดยมีงานวิจัยจากสถาบัน Rand พบว่าหากเกิดสงครามระหว่างสหรัฐกับจีนในสมรภูมิที่ใกล้กับแผ่นดินจีน (เช่น ไต้หวัน) มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จีนจะชนะในสมรภูมิดังกล่าว

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่สหรัฐเริ่มแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับการที่จีนอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้ โดยกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมทางกฎหมาย ทำให้ความเสี่ยงในการปะทะระหว่างสองมหาอำนาจในอนาคตมีมากขึ้น แม้ว่าโอกาสที่จะเกิดสงครามในยุคไบเดน จะต่ำกว่าในยุคของทรัมป์ก็ตาม

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดี ความเสี่ยงสงครามเทคโนโลยีและการเงินระหว่าง มหาอำนาจจะยังคงอยู่ ขณะที่โอกาสในการปะทะของ มหาอำนาจมีมากขึ้น 

นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย เตรียมพร้อมกับสึนามิแห่งความผันผวนที่จะมีมากขึ้นในอนาคตแล้วหรือยัง

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]